
คอลัมน์ CSR Talk
โดย พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
- โรงเรียนดังเสียใจสุดซึ้ง เหตุบุกยิงพารากอน วอนเคารพความเป็นส่วนตัว
- กรมอุตุฯเตือน กทม.รับมือฝนถล่ม 4-5 ต.ค.นี้ หนักสุดถึง 100 มิลลิเมตร
- สธ.เผยประวัติรักษาโรงพยาบาลเด็กชายวัย 14 ขอสังคมอย่าซ้ำเติม
คำว่า “ชุมชนเข้มแข็ง” ถูกใช้เป็นเป้าหมายการพัฒนามาเป็นเวลานับทศวรรษ และปรากฏอย่างเด่นชัดครั้งแรกในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549)
แผนพัฒนาฯฉบับดังกล่าวมีการระบุถึงการพัฒนากระบวนการชุมชนเข้มแข็ง ใน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การส่งเสริมการรวมตัวของชุมชน และประชาสังคม โดยอาศัยกลุ่มแกนวิทยากรกระบวนการจากทุกภาคส่วน การค้นหาศักยภาพของชุมชน โดยให้สถาบันการศึกษาในท้องถิ่นเป็นแกนประสานรวบรวม
องค์ความรู้ในพื้นที่ การสนับสนุนให้ชุมชนจัดทำแผนชุมชนอย่างมีส่วนร่วม และการติดตามประเมินผลการพัฒนาโดยชุมชนร่วมกับภาคีการพัฒนา
แต่จากภาพรวมของผลการพัฒนา แสดงให้เห็นว่าชุมชนไม่สามารถเข้มแข็งได้ด้วยการ “ถูกพัฒนา” หากแต่ด้วยการ “พัฒนา” ที่เกิดจากชุมชนเป็นหลัก
ทั้งนี้ หลายหน่วยงานทั้งในภาครัฐ และภาคประชาสังคม ที่ได้รับงบประมาณ จะมีโจทย์ในการพัฒนาตามพันธกิจ หรือตามประเด็นที่หน่วยงานสนใจ โดยไม่สอดคล้องกับโจทย์ที่เป็นความต้องการของชุมชน หรือเป็นปัญหาที่ชุมชนต้องการแก้ไขอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกัน หลายชุมชนที่ถูกระบุเป็นเป้าหมาย ยินยอมให้ถูกพัฒนาตามกรอบพันธกิจของหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ แลกกับสิ่งที่จะได้รับจากโครงการที่ลงไปดำเนินการ
ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาจึงไม่ได้กระทำอย่างตรงจุด ไม่ก่อเกิดเป็นผลลัพธ์ (outcome) ตามที่ควรจะเป็น แม้จะได้ผลผลิต (output) ครบถ้วนตามข้อกำหนดของโครงการทุกประการ
บทเรียนสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่สะท้อนจากการพัฒนาในหลายพื้นที่ ชี้ให้เห็นว่าการใช้ “พื้นที่” เป็นตัวตั้งไม่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาโดยลำพัง หากแต่ต้องคำนึงถึง “กาลเทศะ” คือ นอกจากการพิจารณาบริบทเชิงพื้นที่ (เทศะ) ที่คำนึงถึงปัจจัยด้านภูมิสังคม ยังต้องพิจารณาถึงจังหวะเวลา หรือบริบทความพร้อม (กาล) ของชุมชน ที่มีความแตกต่างกัน
ตัวอย่างรูปแบบการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน ที่มีการคำนึงถึงทั้งบริบทความพร้อมและพื้นที่ อาทิ การจำแนกชุมชนที่เป็นเป้าหมายการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ (ขั้น) โดยในระยะแรก เป็นการพัฒนาบุคคลหรือครัวเรือน ให้เป็นสัมมาชีพ ด้วยการลดการพึ่งพา ละความฟุ่มเฟือย เลิกอบายมุข ระยะที่สอง เป็นการพัฒนากลุ่มอาชีพ ให้เป็นผู้ประกอบการชุมชน (community entrepreneur : CE) ด้วยการรวมกลุ่ม รวมซื้อ รวมขาย และระยะที่สาม เป็นการพัฒนากิจการในระดับชุมชน ให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยมีชุมชนเป็นเจ้าของ ด้วยการสร้างความร่วมมือ ร่วมทุน ร่วมค้า เป็นต้น
นอกจากนี้ มุมมองของการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง ลดความเหลื่อมล้ำ แต่เดิมที่อาศัยการเคลื่อนไหวในแบบที่เป็น “ขบวนการพัฒนา” นั้น ใช้ได้ดี เมื่อเห็นทิศทาง หรือมีหัวขบวนนำที่ชัดเจน
แต่ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ที่ทิศทางการพัฒนามีหลายทางเลือก และมิได้มีหัวขบวนเดียว จึงควรพิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง โดยอาศัยแนวคิดในแบบที่เป็น “ห่วงโซ่การพัฒนา” เปิดโอกาสให้มีผู้นำการเคลื่อนไหวจากหน่วยงาน หรือภาคีที่มีความชำนาญการ ดำเนินบทบาทในแต่ละข้อต่อของการพัฒนา ส่งมอบผลสัมฤทธิ์เป็นทอด ๆ ในสายโซ่ของการพัฒนานั้น ๆ
ตัวอย่างของห่วงโซ่การพัฒนาตามแนวทางดังกล่าว ได้แก่ การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจใน “ต้นทาง” โดยมีการสร้างข้อต่อ “กลางทาง” ที่เป็นธุรกิจขนาดกลาง-ขนาดย่อม เชื่อมโยงไปยังตลาด “ปลายทาง” ที่เป็นกิจการบริษัทขนาดใหญ่ เกิดเป็นห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ ที่ทุกคนในห่วงโซ่ต้องเข้มแข็งไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นต้น
การยัดเยียดการพัฒนาให้ชุมชน ภายใต้กรอบภารกิจของหน่วยงานที่ลงพื้นที่ ทำให้ชุมชนกลายเป็นกรรม (object) ของการพัฒนา จึงถึงเวลาที่หน่วยงานเจ้าของเรื่อง จะต้องมีความแยบคายในการพัฒนา ที่สามารถทำให้ชุมชน ทำหน้าที่เป็นประธาน (subject) ของการพัฒนาให้ได้