เอกชนจับมือกันยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราไทยไปตลาดโลก

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

สภาหอการค้าฯ TNSC กยท. กรุงไทย ธ.ก.ส. EXIM BANK บสย. นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง ไทยฮั้วยางพารา และ Green Solution Business จับมือเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมยางพาราไทยในตลาดโลก

วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตนและนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ร่วมเป็นสักขีพยานลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงเพื่อขยายความร่วมมือโครงการยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา (CARE) ระหว่างนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (สภาหอฯ) ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นายกิตติพัฒน์ เพียรธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย

นายพงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ดร.หลักชัย กิตติพล ประธานกรรมการบริหารนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จังหวัดระยอง และประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) และนายสุรชัย นิ่มละออ President-Green Solution Business บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับซัพพลายเชนอุตสาหกรรมยางพาราให้สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทั้งด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมมากขึ้น

โดยปัจจุบันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์มีมูลค่ากว่า 680,000 ล้านบาทต่อปี ครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องจำนวนกว่า 6 ล้านคน ตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ เกษตรกรชาวสวนยาง ครอบคลุมพื้นที่สวนยางกว่า 18 ล้านไร่ จนถึงกลางน้ำ อาทิ โรงงานผลิตน้ำยางข้น โรงงานผลิตยางแห้ง โรงงานแปรรูปไม้ยาง และปลายน้ำ อาทิ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางทางการแพทย์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในงานก่อสร้างและงานวิศวกรรม สายพาน เฟอร์นิเจอร์ไม้ยาง วัสดุก่อสร้าง ของเล่น ผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางอื่น ๆ

สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าให้แก่ผู้ซื้อ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อย โดยหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการจะดำเนินการช่วยเหลือและสนับสนุนตามพันธกิจเพื่อสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสาร โอกาส และเงินทุนอย่างบูรณาการ อาทิ การให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ การส่งออก การจัดการเงินทุน นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการทุกระดับ การพัฒนาแนวทางสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม

ตลอดจนการติดตามและประเมินผลเพื่อปรับปรุงโครงการให้เหมาะสมเป็นระยะ เพื่อให้สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ของโครงการ

เป้าหมายของโครงการ ได้แก่

1.การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยาง

2.การผลักดันสินค้าและการบริหารจัดการให้ได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy)

3.การเพิ่มมูลค่าสินค้ายางพาราและมูลค่าการส่งออกของไทย

4.การให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการและการบริหารการเงิน ความรู้ด้านการส่งออก และความรู้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

5.การเป็นต้นแบบการบูรณาการความร่วมมือในระบบห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ในช่วงแรกของการดำเนินงานภายใต้หนังสือแสดงเจตจำนงฉบับแรก หน่วยงานพันธมิตรจะประชาสัมพันธ์โครงการไปยังสมาชิกในซัพพลายเชน รวมถึงการจัดตั้งศูนย์บูรณาการอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจร ณ นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จังหวัดระยอง เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานแบบครบวงจรให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่


การลงนามขยายความร่วมมือการดำเนินโครงการครั้งนี้ คาดว่าจะสามารถสนับสนุนด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ในอุตสาหกรรมยางพาราไทย เป็นวงเงินจำนวน 2,000 ล้านบาท ในปี 2566 เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ที่จำเป็น ตลอดจนขยายโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ได้อย่างมาก ทำให้ยางพาราไทยมีโอกาสเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศและระดับโลก