ชูวงศ์ ตั้งคุณสมบัติ ดึง “สตาร์ตอัพปารีส” ลงทุนไทย

“ฝรั่งเศส” คือประเทศที่มีทั้งนักลงทุนและอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยต้องการดึงเข้ามาลงทุน และใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในให้มีขีดความสามารถแข่งขัน โดยเฉพาะการชักจูงบริษัทที่มีทั้งด้านเทคโนโลยี และ knowhow อย่าง มิชลิน เอสซีลอว์ และ “แอร์บัส” ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการบินของโลก ที่ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับการบินไทยในแผนลงทุนสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ส่วนหนึ่งในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของสนามบินอู่ตะเภา บนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เรียบร้อยแล้ว “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “นายชูวงศ์ ตั้งคุณสมบัติ” หัวหน้าสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ถึงมุมมองนักลงทุนจากฝั่งยุโรปกับการมองโอกาสและอนาคตไทย

Q : นักลงทุนฝรั่งเศสมองไทย

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจฝรั่งเศสมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องของนโยบายหลังจากได้นายเอ็มมานูเอล มาครง เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ส่งผลให้ฝรั่งเศสเริ่มปฏิรูปที่เคยขัดขวางเศรษฐกิจ เปิดการเจรจาการค้าการลงทุนในตลาดโลกมากขึ้น โดยใช้จุดแข็งด้านเทคโนโลยี อุตสาหกรรมการบิน ดิจิทัล คอมพิวเตอร์ วิจัยพัฒนา (R&D) เพื่อนำมาต่อยอดแข่งขันกับคู่แข่งอย่างเยอรมนีให้ได้ ขณะเดียวกันฝรั่งเศสยังได้ทำการปรับแก้กฎหมาย ปฏิรูปด้านแรงงาน รวมถึงสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ (startup) เช่นเดียวกับการมองโอกาสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อสำรวจตลาดฝรั่งเศส พบว่าไทยคือหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพและสามารถเป็นฐานการผลิตให้กับอุตสาหกรรมฝรั่งเศสได้เกือบทั้งหมด จึงเห็นการลงทุนจากฝรั่งเศสปี 2560 ถึง 27 โครงการ มูลค่า 1,134 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายใหญ่ ๆ อย่างมิชลิน ผู้ผลิตยางล้อ แอร์บัส ผู้ผลิตเครื่องบิน เอสซีลอว์ ผู้ผลิตเลนส์แว่น ยังคงขยายการลงทุนไทยต่อเนื่อง แม้นักลงทุนรายใหม่จะยังต้องใช้เวลาในการศึกษาตลาดเพื่อความมั่นใจถึงโอกาสที่จะได้แท้จริง แต่อีก 2-3 ปีข้างหน้าเราก็จะได้เห็นนักลงทุนรายใหม่จากฝั่งยุโรปและฝรั่งเศสลงทุนในไทยอีก

Q : แนวทางการดึงดูดการลงทุน

Advertisment

บีโอไอปารีสเป็นหน่วยงานหลักในการประสานกับนักลงทุนในท้องถิ่น ที่ผ่านมานำผู้ประกอบการใหม่ (startup) 22 บริษัท เดินทางเข้าร่วมงานอินเตอร์เมกและซับคอนไทยแลนด์ 2018 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อจับคู่ธุรกิจ (business matching) กับผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทย

Q : ปัจจัยที่มีส่วนเสริมการตัดสินใจลงทุน

นักลงทุนฝรั่งเศสมักศึกษาตลาดละเอียด โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ไกลอย่างเอเชีย ยกเว้นจีน ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินใจลงทุน คือ ตลาด ซึ่งการเข้าร่วมงานอินเตอร์เมกฯ ถือเป็นเวทีสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตกับผู้ลงทุนพบกัน บวกกับไทยมีหน่วยงานสนับสนุนการให้นักธุรกิจพบกัน ส่งผลให้นักลงทุนจากฝรั่งเศสใช้เวทีงานอินเตอร์เมกและซับคอนไทยแลนด์ทุกปี เพื่อออกงานนับตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งมีนักลงทุนจากอุตสาหกรรมการบิน เข้าร่วมงาน11 บริษัท ต่อมาในปี 2560 เข้าร่วมงาน 21 บริษัทเป็นอุตสาหกรรมการบิน ดาวเทียม ดิจิทัล ยานยนต์ ปีนี้ เป็นครั้งแรกที่ดึง startup เข้ามาถึง 22 บริษัท สอดรับกับนโยบายของไทยที่สนับสนุนด้าน SMEs และ startup จากนี้หากมีการจับคู่ startup กับไทยเพื่อป้อนเป็นซัพพลายเชนให้กันได้ ไทยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายชัดเจน มีนโยบาย 4.0 และไทยคือกลุ่มประเทศที่มีอนาคต บวกกับศักยภาพที่ฝรั่งเศสแข็ง เอเชียมีตลาด ทำให้เมื่อมาจับคู่เจรจาธุรกิจกับไทยเราจะได้ครบทุกอุตสาหกรรมทั้งหมด และจะใช้โมเดลฝรั่งเศสสร้าง startup ให้ไทยให้ได้

Q : ปั้นสตาร์ตอัพอย่างไร

Advertisment

ไทยมีความพร้อมด้านตลาดรถยนต์และในอนาคตคืออากาศยาน จึงเหมาะที่จะเป็นฐานการผลิต ส่วนบริษัท ACG AVATION เป็น startup รายแรกในการผลิตรถยนต์บินได้ เทคโนโลยีอากาศยาน การมาครั้งนี้ของ ACG ไม่เพียงตอบโจทย์เฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ อากาศยาน แต่ยังสอดรับกับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่กำลังจะถูกกำหนดให้เข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย(S-curve) ตัวที่ 11 ของอุตสาหกรรมไทย ที่ขยายจากอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมการบินนั่นเอง ล่าสุดได้นำบริษัทเข้าหารือกับทางสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ที่อยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม เรียบร้อยแล้ว แน่นอนว่าการหารือครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่อุตสาหกรรมดังกล่าวจะเกิดการเคลื่อนไหว เพื่อให้มีการป้อนชิ้นส่วนที่ไทยมีความสามารถไปยังนักลงทุนที่เป็นผู้ผลิตในประเทศฝรั่งเศส

Q : มาตรการสนับสนุนS-curve ที่ 11

มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ บีโอไอเตรียมประกาศเพิ่มประเภทกิจการในบัญชีเร็ว ๆ นี้ เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเป็น S-curve ตัวที่ 11 ก็จะได้สิทธิประโยชน์ตามอุตสาหกรรม S-curve ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอฉบับใหม่ ที่จะได้รับการยกเว้นภาษีรายได้นิติบุคคลธรรมดาสูงสุด 13 ปี (8-13 ปี) และหากลงทุนในพื้นที่ที่กำหนดหรือประกาศเป็นเขตส่งเสริมต่าง ๆ จะได้สิทธิตามพื้นที่นั้น ๆ