“อุตตม” ไฟเขียวตั้งนิคมอุบล รับนโยบายNEEC-กรมโยธาฯปรับสีผังเมือง

“อุตตม” ไฟเขียวอุบลฯ อินดัสตรี้ ทุ่ม 2.7 พัน ล.ตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลฯแห่งแรก 2.3 พันไร่ หลังกรมโยธาฯเปลี่ยนผังเมืองสีเขียวเป็นม่วง หนุนลงทุนเกษตรแปรรูป/หุ่นยนต์ ไบโอชีวภาพ โลจิสติกส์ ศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องจักร พร้อมขอ BOI ให้สิทธิประโยชน์ NEEC เท่า EEC

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงพิจารณาให้มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานีตามที่บริษัท อุบลราชธานี อินดัสตรี้ จำกัด และกลุ่มสินรุ่งเรือง เสนอแผนร่วมดำเนินกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งถือว่าสอดรับกับนโยบายการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NEEC) ช่วยให้เกิดประโยชน์ทั้งในเรื่องพัฒนาสังคม พื้นที่ และยังเป็นฐานการผลิตของผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการต่ำลงจะสามารถแข่งขันในตลาด CLMV และช่วยให้เกิดการสร้างงานคนในท้องถิ่น ได้กว่า 20,000 อัตราในภาคอีสาน ทำให้มีรายได้ GPD สูงขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 119,890 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าหากนิคมนี้สำเร็จจะทำให้เกิดมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 65,000 ล้านบาท รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีเส้นทางที่สามารถเชื่อมโยงการค้าใน 4 ประเทศ ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน มีรถไฟทางคู่และท่าอากาศยานอุบลราชธานีที่จะช่วยสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในระดับนานาชาติ รวมทั้งยังมีจุดผ่านแดนที่สำคัญ ที่จะทำให้การขนส่งจากกรุงเทพฯ หรือจากท่าเรือภาคตะวันออกไปสู่พื้นที่ได้สะดวกขึ้น

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ผังเมืองของพื้นที่ดังกล่าวซึ่งมีขนาด 2,303 ไร่ เป็นสีเขียว 100% จึงได้สั่งการให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งดำเนินการแก้ปรับปรุงสีให้เป็นสีม่วงสำหรับภาคอุตสาหกรรม เพื่อที่จะสามารถรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารได้ เป็นต้น

โดยขณะนี้กรมโยธาฯเร่งดำเนินการแก้ปรับปรุงสีผังเมืองแล้วอยู่ในขั้นตอนที่ 3 จาก 8 ขั้นตอน เมื่อคณะกรรมการพิจารณาด้านผังเมืองและปรับแก้พิจารณาพื้นที่แล้วเสร็จจะส่งเข้าขั้นตอนที่ 4 ใช้เวลาประมาณกลางปี 2562 และประกาศกฎกระทรวง จากนั้นเริ่มทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อีก 1 ปีครึ่ง เมื่อผ่านจากนั้นจะเริ่มออกแบบก่อสร้าง และประมาณปี 2564 จะเริ่มเปิดดำเนินการ

สำหรับสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุนในนิคม จะเป็นตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำหนด โดยมีเกณฑ์การให้ตามประเภทกิจการ (activity-based incentives) หากเอกชนอยากได้สิทธิเพิ่มเติมสามารถใช้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าของโครงการ หรือ merit-based incentives ได้

ADVERTISMENT

“การขอสิทธิแบบเดียวกับพื้นที่ EEC ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะ EEC คือพื้นที่พิเศษที่มีกฎหมาย EEC โดยเฉพาะในการจะพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ ดังนั้นการจะได้สิทธิเท่ากันจะต้องเกิดเป็นพื้นที่พิเศษก่อน ซึ่งในอนาคตก็อาจเป็น NEEC ก็ได้”

นายณัฐวัฒน์ เลิศสุรวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุบลราชธานี อินดัสตรี้ จำกัด กล่าวว่า ได้เตรียมเงินลงทุนเพื่อพัฒนาและก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมไว้ 2,700 ล้านบาท พื้นที่ 2,303 ไร่ ตั้งอยู่ ต.นากระแซง ต.ทุ่งเทิน อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี โดยจะเน้นอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) โดยเฉพาะหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เนื่องจากมีความต้องการ (demand) ทั้งในฝั่งไทยและฝั่งเพื่อนบ้าน ที่จะตามมาอย่างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมยางขั้นปลาย อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมการผลิตและซ่อมบํารุงเครื่องจักร และศูนย์เครื่องจักรอัตโนมัติสำหรับการเกษตร และอุตสาหกรรมจากการส่งเสริม bioeconomic hubทางบริษัทได้ขอให้รัฐพิจารณาสิทธิประโยชน์บีโอไอให้เท่ากับพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากขณะนี้ได้สิทธิประโยชน์ในกลุ่ม zone 3 ตามพื้นที่จังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำ

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ศักยภาพการเชื่อมโยงของโครงการ ด้วยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบัง ประมาณ 600 กม., ห่างจากท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม ประมาณ 550 กม., ห่างจากช่องจอม ประเทศกัมพูชา ประมาณ 150 กม., ห่างจากช่องสะงำ ประเทศกัมพูชา ประมาณ 130 กม. และห่างจากช่องอานม้า ประเทศกัมพูชา ประมาณ 68 กม.

อย่างไรก็ตาม ถนนทางฝั่งไทยแม้เชื่อมไปถึงด่านอานม้าแล้ว แต่ยังเปิดการเชื่อมต่อไม่ได้เพราะเหตุผลเรื่องความมั่นคง หากเปิดได้การขนส่งผ่านทางประเทศกัมพูชาไปถึงท่าเรือ Cat Lai ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ที่โฮจิมินห์ประเทศเวียดนามได้สะดวก จะเป็นผลให้นักลงทุนสามารถขนส่งสินค้าผ่านไปยังทะเลจีนใต้ได้ใกล้ขึ้น

สำหรับกิจการนิคมอุตสาหกรรมปัจจุบันบีโอไอจัดให้อยู่ในกลุ่ม B1 โดยได้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค (20 จังหวัดรายได้ต่อหัวต่ำ) ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 3 ปี ได้รับสิทธิหักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา ได้ 2 เท่าเป็นเวลา 10 ปี และหักค่าติดตั้งหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก 25% ของเงินลงทุน