อุบลไบโอรับอานิสงส์ฮับชีวภาพ อุตฯอัดสิทธิประโยชน์ต่อยอดอีสานล่าง

“อุบลไบโอฯ” ขอรัฐพิจารณาสิทธิรับอานิสงส์ “แพ็กเกจชีวภาพ” จับมือฟินแลนด์ต่อยอดนวัตกรรมผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังเพิ่มมูลค่า พร้อมผลพลอยได้จากแป้งมันอีก 2 เกรดในกลุ่ม food grade กับ industrial grade พร้อมรับซื้อมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ 2,800 ตัน

นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล กล่าวถึงแผนการดำเนินงานของบริษัทในปี 2561 ที่สอดคล้องกับมติ ครม.เห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย (2561-2570) ของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Biohub of ASEAN ภายในปี 2570 และใช้เศรษฐกิจชีวภาพ (bioeconomy) เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) ว่า บริษัทเตรียมนำงานวิจัยที่ได้ทดลองนวัตกรรมร่วมกับประเทศฟินแลนด์มาขยายการลงทุนเพื่อผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น

ในเบื้องต้นบริษัทอุบลไบโอฯอยู่ระหว่างขั้นตอนการทดลองเครื่องผลิตเอทานอลกำลังการผลิต 700 ตันแป้ง/วัน โดยบริษัทจะรับซื้อมันสำปะหลังสดเป็นวัตถุดิบ 2,800 ตัน/วันในพื้นที่ 4 อำเภอคือ นาเยีย, พิบูลมังสาหาร, สว่างวีระวงศ์ และวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งถือได้ว่า โรงงานผลิตเอทานอลของบริษัทมีความพร้อมที่จะพัฒนาให้เป็น “อุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจร” ตามที่ ครม.มีมติเห็นชอบภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย และโรงงานของบริษัทจะเป็นส่วนผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Biohub of ASEAN ได้

ทั้งนี้กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลปัจจุบันมียอดขายอยู่ประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยโครงสร้างกลุ่มบริษัท ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม (founders) สัดส่วน 57.44%, บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ BBGI สัดส่วน 21.28%, บริษัทไทยออยล์เอทานอล สัดส่วน 21.28% บริษัทประกอบไปด้วยธุรกิจหลัก 4 กลุ่มคือ ธุรกิจเอทานอล-แป้งมันสำปะหลัง-ก๊าซชีวภาพและกระแสไฟฟ้า และหญ้าเนเปียร์ ด้านวัตถุดิบบริษัทจะใช้มันเส้นประมาณ 1,200 ตัน/วันเพื่อนำมาผลิตเอทานอลให้ได้ 400,000 ลิตร/วัน ซึ่งปริมาณเอทานอลดังกล่าวจะผลิตออกเป็น 2 เกรดคือ เกรดเชื้อเพลิงในสัดส่วน 99.8% (E85-E20-E10) กับเกรดอุตสาหกรรมในสัดส่วน 95% นอกจากนี้ยังมีโรงไฟฟ้ากำลังผลิต 1.9 เมกะวัตต์ (MW) ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้หมุนเวียนในโรงงานและขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

“งานวิจัยที่เราทำไว้จากการที่โรงงานเอทานอลใช้วัตถุดิบจากหัวมันสด-มันเส้น ทำให้บริษัทได้ผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผลพลอยได้จากแป้งมันสำปะหลัง สามารถแบ่งออกมาอีกได้2 เกรดคือ กลุ่มที่เป็น food grade อย่างอาหารสำหรับคนโดยเฉพาะอาหารเฉพาะทางการแพทย์ที่จะถูกพัฒนานำการวิจัยเข้ามาช่วยเสริมและอาหารอื่น ๆ เช่น ส่วนผสมอาหารที่เป็นอินทรีย์ Noodle snacks MSG food premix frozen food sausages & meatballs lysine และยังรวมไปถึงอาหารสัตว์ด้วยเช่นกัน ส่วนอีกเกรดหนึ่งจะเป็น industrial grade เช่น Paper bioplastic textile glue sweeteners” นายเดชพนต์กล่าว

Advertisment

อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ยังมีบริษัทในเครืออีก 3 แห่งด้วยกันคือ บริษัทอุบลเกษตรพลังงาน หรือ agricultural energy ปัจจุบันใช้วัตถุดิบมันสำปะหลัง 2,800 ตัน/วัน มีกำลังการผลิต 700 ตันแป้ง/วัน เพื่อผลิตแป้งเกรดอาหารและเกรดอุตสาหกรรม, บริษัทอุบลไบโอแก๊ส หรือ UBG ติดตั้งระบบการบำบัดน้ำทิ้งจากโรงงานแป้งมันสำปะหลังเพื่อนำมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพได้ 36,000 ลบ.ม./วัน และบริษัทเอ็นพี ไบโอ เอนเนอร์ยี่ หรือ NP Bio Energy ใช้กากมันสำปะหลังมาผลิตก๊าซชีวภาพได้ 78,300 ลบ.ม./วัน ด้วยระบบ CLBR ขณะเดียวกันในกระบวนการผลิตดังกล่าวยังสามารถผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าได้อีก 5.8 เมกะวัตต์

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า พื้นที่อีสานตอนล่างถือว่ามีความพร้อมในการพัฒนา “เศรษฐกิจฐานชีวภาพ (bioeconomy)” เนื่องจากมีแหล่งวัตถุดิบทั้งมันสำปะหลัง-อ้อย-ข้าว-ยางพารา รวมกันมากกว่าปีละ 4 ล้านตัน มีพื้นที่ทำเกษตรกรรม 1.8 ล้านไร่ และผู้ประกอบการมีศักยภาพในการขยายการลงทุนต่อยอดอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรไปสู่ผลิตภัณฑ์อาหารออร์แกนิกได้ไม่ยาก โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น อาหารที่ใช้ทางการแพทย์ สารให้ความหวานอินทรีย์ (organic sweetener) ประเภทมอลโทเดกซ์ทริน (moltodextrin) แป้งดัดแปลงอินทรีย์ (organic modified starch) ทั้งนี้์เอกชนมีความพร้อมที่จะร่วมลงทุนผลิตภัณฑ์อินทรีย์กับบริษัทต่างชาติที่มีเทคโนโลยีในการผลิตภัณฑ์เคมีชีวภาพ

ขณะที่สภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดอีสานใต้ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคทั้งหมด เช่น ผังเมือง การนำเข้าวัตถุดิบที่ขาดแคลน รวมถึงการนำระบบเกษตรอัจฉริยะ (smart farming) มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ พัฒนาให้การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในพื้นที่อีสานตอนล่าง 2 ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี-ศรีสะเกษ-ยโสธร-อำนาจเจริญให้เป็นรูปธรรม

“4 จังหวัดอีสานตอนล่าง 2 จะถูกรวมเป็นกลุ่มจังหวัดอีสานตอนใต้ ที่จะประกาศให้เป็นพื้นที่นำร่องแห่งที่ 4 ในการพัฒนาพื้นที่เป็น biohub ภายใต้มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพต่อจากจังหวัดขอนแก่น นครสวรรค์ และกำแพงเพชร” นายอุตตมกล่าว

Advertisment

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงการหารือกับภาคเอกชนที่สนใจขยายลงทุนไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงมากขึ้น และด้วยเป็นพื้นที่และบริษัทมีความพร้อม จึงเสนอให้รัฐพิจารณาได้สิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับ 3 จังหวัดที่มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพสนับสนุนอยู่ เช่น สามารถตั้งโรงงานชีวภาพได้ในพื้นที่ 50 กม. เป็นต้น จึงสั่งการให้ สศอ.ไปศึกษาในรายละเอียดถึงแนวทางที่เหมาะสมในกลุ่มจังหวัดนี้ว่าจะเหมือนใน 3 จังหวัดแรกได้หรือไม่

นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า หลังจาก ครม.ได้มีมติเห็นชอบมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ ขณะนี้ได้เกิดโครงการลงทุนในผลิตภัณฑ์เป้าหมายคิดเป็นมูลค่า 12,360 ล้านบาท ประกอบด้วยพลาสติกชีวภาพ, เคมีชีวภาพ 5,000 ล้านบาท, food ingredient 120 ล้านบาท, feed ingredient 300 ล้านบาท และชีวเภสัชภัณฑ์ 6,940 ล้านบาท