ค่าสาธารณูปโภคพุ่ง รัฐลดค่าไฟ ประปา โทรศัพท์ สู้โควิด

หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยหลายมาตรการได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการห้ามออกจากที่พักอาศัยในช่วงประกาศเคอร์ฟิว การทำงานอยู่ที่บ้าน ไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตตามปกติ โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องหลังจากใช้มาตรการครบ 1 เดือนก็คือ ค่าใช้จ่ายทางด้านระบบสาธารณูปโภคพุ่งสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าไฟฟ้า

หม้อแปลง 5 A ใช้ไฟฟรี

ล่าสุด นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบด้านค่าไฟฟ้า โดยที่ประชุมสรุปมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟประเภทครัวเรือนรวม 20 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่มประเภทอัตราค่าไฟ 1.1 ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 5 แอมแปร์ 230 โวลต์ 1 เฟส 2 สาย ซึ่งมีประมาณ 10 ล้านครัวเรือน จะขยายหน่วยการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดิมให้ใช้ไฟ “ฟรี” ที่ 90 หน่วยเป็น 150 หน่วยตั้งแต่เดือน มี.ค.-พ.ค. 63

กลุ่มประเภทอัตราค่าไฟ 1.2 กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยขึ้นไป ซึ่งติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าขนาดเกินกว่า 5 แอมแปร์ 230 โวลต์ 1 เฟส 2 สาย จะช่วยเหลือโดยใช้หน่วยการใช้ไฟฟ้าของแต่ละครัวเรือนในเดือน ก.พ. 63 เป็นเกณฑ์ เพราะเป็นเดือนที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยมีการกำหนดมาตรการความช่วยเหลือเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 3 เดือน มี.ค.-พ.ค. 63 แบ่งตามระดับปริมาณการใช้ไฟฟ้าดังต่อไปนี้

ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วย จะจ่ายค่าไฟเท่ากับเดือน ก.พ. เช่น เดือนกุมภาพันธ์ใช้ไฟฟ้า 500 หน่วย และในเดือนมีนาคมมีการใช้ไฟฟ้า 700 หน่วย ซึ่งไม่เกิน 800 หน่วย จะจ่ายค่าไฟฟ้าคิดตามจำนวน 500 หน่วยเท่ากับเดือนกุมภาพันธ์

ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 800 หน่วย จะคำนวณหน่วยใช้ไฟฟ้าจากส่วนต่างที่เกินจาก 800 หน่วย โดยลดให้ 50% ของหน่วยที่ใช้เกิน เช่น เดือน ก.พ.ใช้ 500 หน่วย เดือน มี.ค.ใช้ 1,000 หน่วย ซึ่งเกินจาก 800 หน่วยตามเกณฑ์ ส่วนต่างหน่วยใช้ไฟฟ้าเมื่อเทียบจากกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 500 หน่วย เมื่อลด 50% เท่ากับส่วนต่างใช้ไฟเพิ่ม 250 หน่วย นำส่วนต่าง 250 หน่วยรวมกับ 500 หน่วยที่ใช้ในเดือนฐาน ก.พ. ก็เท่ากับหน่วยไฟที่ใช้และนำมาคำนวณเป็นค่าไฟตามหลักเกณฑ์ของการไฟฟ้าฯเป็นจำนวน 750 หน่วยที่จะใช้คำนวณค่าไฟฟ้าในเดือนมีนาคม

Advertisment

และครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้ามากคือใช้เกิน 3,000 หน่วย ก็จะมีส่วนลดให้ 30% ของหน่วยที่ใช้เกิน เช่น เดือน ก.พ.ใช้ไฟ 1,200 หน่วย เดือน มี.ค.ใช้ไฟ 3,200 หน่วย ซึ่งเกินจาก 3,000 หน่วยตามเกณฑ์ ส่วนต่างหน่วยใช้ไฟฟ้าเมื่อเทียบจากกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 2,000 หน่วย คิดส่วนลด 30% จาก 2,000 หน่วยคือ 600 หน่วย เท่ากับต้องเสียส่วนเพิ่มค่าไฟที่ 1,400 หน่วย และนำ 1,400 หน่วยไปบวกกับฐานการใช้ไฟ ก.พ. 1,200 หน่วย เท่ากับต้องจ่ายค่าไฟที่ 2,600 หน่วย สำหรับเดือนมีนาคม

ควัก 6,000 ล้านจ่ายค่าประกันไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กระทรวงมหาดไทยได้เสนอมาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้า ครม.เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ผ่านทางการไฟฟ้านครหลวง (MEA) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 การลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 3 สําหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทเป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563)

มาตรการที่ 2 การขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าสําหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการเฉพาะอย่าง (ธุรกิจโรงแรม และกิจการให้เช่าพักอาศัย) โดยไม่คิดดอกเบี้ย ตลอดระยะเวลาการผ่อนผันโดยไม่มีการงดจ่ายไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว และผ่อนผันได้ไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิล สําหรับใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจําเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 และมาตรการที่ 3 การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก

ดีเดย์ประปาจ่ายเงินคืน

นายปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวถึงการบรรเทามาตรการความเดือดร้อนและช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ใช้น้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ มาตรการหลักได้แก่การคืนเงินประกันการใช้น้ำให้กับผู้ใช้น้ำประเภทที่ 1 ที่พักอาศัย (R1) รวมถึงคอนโคฯ อาคารชุด ห้องเช่า นิติบุคคล (ผู้วางเงินประกัน) ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป อาทิ มาตรวัดน้ำขนาด 1/2 นิ้ว เงินประกัน 200-400 บาท มาตรวัดน้ำขนาด 3/4 นิ้ว เงินประกัน 300-600 บาท นอกจากนี้ กปน.ยังมีมาตรการอีก 3 มาตรการช่วยลดค่าใช้จ่ายผู้ใช้น้ำ ได้แก่ 1) ยกเว้นการตัดน้ำ ทั้งมาตรชั่วคราวและถาวร งดการผูกลวด และงดการถอดมิเตอร์น้ำ 2 เดือน ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 2) ลดค่าน้ำประปาร้อยละ 3 ให้กับผู้ใช้น้ำทุกประเภทเป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับใบแจ้งค่าน้ำประปาของเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 และ 3) การขยายระยะเวลาการชำระค่าน้ำประปา สำหรับผู้ใช้น้ำที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจโรงแรม และกิจการที่ให้เช่าพักอาศัย โดยไม่คิดดอกเบี้ย และสามารถผ่อนชำระได้นานถึง 6 เดือน

Advertisment

ด้านการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เองก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้น้ำ 1) ลดค่าน้ำประปาอัตราร้อยละ 3 ให้กับผู้ใช้น้ำทุกประเภทด้วยการปรับลดค่าน้ำโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลา 3 เดือน (พ.ค.-ก.ค. 2563) 2) ผ่อนชำระค่าน้ำประปาไม่เกิน 6 เดือนให้กับผู้ใช้น้ำประเภทโรงแรม/กิจการให้เช่าพักอาศัย (ประเภทรหัสผู้ใช้น้ำ T33) โดยไม่คิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 เดือน (พ.ค.-มิ.ย. 2563) และ 3) คืนเงินประกันการใช้น้ำให้กับผู้ใช้น้ำประเภทที่ 1 ที่พักอาศัยโดย กปภ.จะเริ่มคืนเงินการประกันการใช้น้ำตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคมเป็นต้นไป

โทร.ฟรี-เน็ตฟรี

ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เพื่อร่วมแบ่งเบาภาระประชาชน ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5 ราย ได้แก่ เอไอเอส, ทรู, ดีแทค, ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) จะให้สิทธิโทร.ฟรี 100 นาทีทุกเครือข่าย 45 วัน โดยประชาชนสามารถกดรับสิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1-15 พ.ค. 2563

“ผู้ได้รับสิทธิจะต้องลงทะเบียนซิมในนามของบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยเท่านั้น 1 สิทธิ ต่อ 1 ค่าย โดยได้รับทุกค่าย เช่น ถ้ามีมือถือทั้ง 3 ค่าย ค่ายละเบอร์ จะได้รับทั้ง 3 เบอร์”

โดยมาตรการนี้ภาคเอกชนเป็นผู้รับภาระเอง กสทช.และรัฐบาลไม่ได้มีการอุดหนุนค่าใช้จ่าย แตกต่างจากมาตรการให้โมบายอินเทอร์เน็ตฟรี 10 GB แก่ประชาชน สำหรับการใช้งาน 30 วัน ซึ่ง กสทช.จะอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้ 100 บาทต่อเลขหมาย โดยเปิดให้กดใช้สิทธิได้จนถึง 30 เม.ย.นี้ “ปัจจุบันมีผู้ใช้สิทธิรับเน็ตฟรี 10 GB แล้วยังไม่ถึง 13 ล้านเลขหมาย จากเดิมที่คาดว่าจะมีราว 30 ล้านเลขหมาย”

นอกจากนี้ กสทช.ยังได้อุดหนุนค่าบริการเน็ตบ้านอีกราว 2 ล้านราย เพื่อให้ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตอัพสปีดเป็น 100 Mbps เป็นเวลา 30 วัน