มุมคิด “ดร.พิรุณ ศิริศักดิ์” DNA กุลสตรี 4.0 แบบราชินีบน

อัตราการเกิดใหม่ของประชากรไทยที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล ทำให้ธุรกิจการศึกษาในทุกระดับเกิดการแข่งขันสูงมาก ไม่ว่าคู่แข่งมีอะไร อีกฝ่ายหนึ่งก็จะต้องมีเช่นเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่แต่ละสถาบันต่างมีจุดแข็ง-จุดขายที่แตกต่างกัน

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ดร.พิรุณ ศิริศักดิ์” ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการโรงเรียนราชินีบน หนึ่งในโรงเรียนสตรีชั้นนำของประเทศ ที่มีจุดแข็งทางด้านวิชาการและการสอนนักเรียนผู้หญิงให้เป็นกุลสตรี ไม่ว่าบริบทสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตามทั้งนั้นเพราะความมั่นคงและแม่นยำในเรื่องของหลักปรัชญาที่ราชินีบนยึดถือคือ “สารัตถนิยม (essentialism)” ที่การเรียนการสอนจะเน้นน้ำหนักไปที่เนื้อหาและการสร้างวินัยในการเรียน จึงทำให้ราชินีบนมีความคลาสสิกแต่ไม่โบราณ เพราะยังคงคุณค่าดั้งเดิมที่ถูกส่งต่อจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

เบื้องต้น “ดร.พิรุณ” เปิดการสนทนาด้วยการพาไปสู่จุดเริ่มต้นของราชินีบนโดยบอกว่า ราชินีบนในวันนี้ยังทำหน้าที่ผลิตนักเรียนที่มีความเป็นกุลสตรี ที่มีพัฒนาการตามเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะเราเริ่มนำคำว่ากุลสตรีมาใช้เมื่อปี 2549 คือกุลสตรีทันสมัยมาเป็นธีม เพียงแต่ตอนนั้นอาจตีความผิดไปบ้าง เพราะช่วงนั้นเป็นยุคของ ICT เริ่มเข้ามาและมีผลต่อการใช้สื่อต่าง ๆ

“แต่เพราะความทันสมัยเกี่ยวข้องกับความทันสมัยด้วยความรู้-ความคิด รวมไปถึงวิทยาการที่ทันสมัย ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาสอดแทรกในหลักสูตรการเรียนการสอน แม้เราจะปลูกฝังเรื่องกุลสตรีไว้ในหัว จนทำให้นักเรียนรู้ว่าจะต้องทำตัวอย่างไรถ้าอยากเป็นสาวสังคมก็ทำได้อย่างถูกกาลเทศะ แต่สุดท้ายชุดความคิดที่ถูกฝังไว้ในหัวของพวกเขา จะทำให้รู้เองว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ”

“จนที่สุดวันหนึ่งเรามีการปรับธีมคำว่ากุลสตรีใหม่ในปี 2556 มาเป็นกุลสตรีราชินีบน เพื่อตอกย้ำและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้ล้อไปกับแกนกลางของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยกุลสตรีราชินีบนจะต้องมี 3 องค์ประกอบหลักคือ 1) กุลสตรีที่งามพร้อม 2) กุลสตรีแม่ศรีเรือน และ 3) กุลสตรีร่วมสมัย ที่มีความรู้ ความคิดขั้นสูง ต้องรู้จักวิทยาการที่ทันสมัย มีความรู้ภาษาต่างประเทศ และใช้เทคโนโลยีได้”

Advertisment

กล่าวกันว่า ภายใต้ธีม “กุลสตรีราชินีบน” จึงนำไปสู่การกำหนดแผนดำเนินการต่าง ๆ พร้อมกับให้ครูสอดแทรกเรื่องเหล่านี้ไว้ในการเรียนการสอนด้วย ที่สำคัญยังทำให้ราชินีบนสามารถยกระดับการพัฒนาการเรียนการสอนขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งที่เรียกว่า “หลักสูตรอิงอัตลักษณ์นักเรียน(Student Identity-based Curriculum)”


ฉะนั้นหลังจากใช้หลักสูตรอิงอัตลักษณ์นักเรียนมาทั้งหมด 3 ปี ระหว่างปี 2556-2559 ปรากฏว่าภาพของนักเรียนราชินีบนมีความชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ผลเช่นนี้ เมื่อถามว่า ปัจจุบันโรงเรียนราชินีบนในวันนี้เป็นอย่างไร ?

“ดร.พิรุณ” จึงอธิบายว่า โรงเรียนราชินีบนในศตวรรษที่ 21 ถูกปรับอีกครั้งจากธีมกุลสตรีราชินีบน มาสู่ความร่วมสมัยมากขึ้น จนกลายเป็น “กุลสตรีที่รู้สากล” (International Literate Thai Lady) ที่แบ่งออกเป็น

1) มีความรู้ด้าน ICT 2) การรู้ภาษาต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ที่รวมไปจนถึงภาษาฝรั่งเศส

Advertisment

3) การรู้สิ่งแวดล้อม และ 4) การรู้สุขภาพที่ราชินีบนมองว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นเรื่อง “ระดับโลก” ภาวะโลกร้อนที่กำลังทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ตระหนักคิดว่าทุกคนต้องมีส่วนร่วม

“ฉะนั้นตัวหลักสูตรแกนกลางของเราคืออัตลักษณ์นักเรียนของกุลสตรีราชินีบน และตัวที่พ่วงเข้ามาคือต้องวิเคราะห์โลก วิเคราะห์ความต้องการของสังคม และบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้นักเรียนราชินีบนเป็นกุลสตรียุค 4.0 ที่มีความพร้อมในทุก ๆ ด้านเช่นกัน”

ปัจจุบันโรงเรียนราชินีบนเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 รวมจำนวนนักเรียนกว่า3,000 คน “ดร.พิรุณ” บอกว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นักเรียนของเราสามารถสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยได้ 100% โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำการสอบรูปแบบ admission มาใช้ ยิ่งทำให้ไม่มีนักเรียนตกหล่นระหว่างทาง

“จากจำนวนนักเรียนในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่ามาจากการกำหนดอัตลักษณ์นักเรียนในแบบฉบับของราชินีบนที่ชัดเจนหากมองในภาพของธุรกิจการศึกษา อัตลักษณ์ก็คือ brand managementเพราะฉะนั้นอัตลักษณ์ของนักเรียน(student identity) ก็คือจุดตั้งของแบรนด์”

“ในอดีตคนเดินเข้ามาสมัคร 200 คนแต่ต้องเลือกแค่ 100 คน ถือว่าลดลงแต่ปัจจุบันเดินเข้ามา 100 คน เราอาจต้องรับไว้เกือบทั้งหมด ซึ่งในภาวะแบบนี้ครูจะต้องทำงานหนักขึ้น และต้องเพิ่มสัดส่วนของครูต่างชาติมากขึ้นโดยเฉพาะครูที่มาจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา เพราะเรื่องภาษาถือเป็นจุดแข็งของราชินีบนแม้ว่าจะไม่มีหลักสูตรภาษาอังกฤษก็ตาม”

“แต่สุดท้ายต้องมองว่าคนไทยต้องการอะไร เพราะเราต้องดูผลสัมฤทธิ์จากการเรียนอีกที เพราะโรงเรียนยอดนิยมในปัจจุบันไม่ได้มีมาก และกลุ่มเป้าหมายของเราก็ชัด อย่างเช่นในระดับอนุบาล เราจะสอนแค่เรื่องพัฒนาการอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสอนให้รู้หนังสือ คิดคำนวณได้”

“ดร.พิรุณ” กล่าวในช่วงท้ายถึงการใช้เทคโนโลยีมาใช้กับการเรียนการสอนว่า โดยเฉพาะการเรียนผ่านระบบออนไลน์นั้น อาจต้องใช้เวลา เพราะนักเรียนไทยอ่านหนังสือน้อยมาก ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าการใช้เทคโนโลยีจะทำให้การเรียนของพวกเขาดีขึ้น เราต้องวิเคราะห์พื้นฐานของนักเรียนไทยให้ขาด ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการทำวิจัย ว่าหลักสูตรที่โรงเรียนออกแบบให้นักเรียนได้ฝึกพูด อ่าน เขียนนั้น เพียงพอกับโลกปัจจุบันหรือไม่ และที่สำคัญคือเพียงพอที่จะทำให้นักเรียนสามารถสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ได้ดี และนำไปใช้อย่างชาญฉลาดได้หรือไม่อีกด้วย

อันเป็นคำตอบของ “ดร.พิรุณ” ที่เชื่อว่า นักเรียนของโรงเรียนราชินีบนจะต้องเป็น “กุลสตรียุค 4.0” ที่มีความพร้อมในทุกด้านอย่างงดงาม