
บทความนี้นำเสนอโดยองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย นำโดยองค์กร ยูเนสโก และ ยูนิเซฟ ประเทศไทย โดย ชิเงรุ อาโอยางิ ผู้อำนวยการยูเนสโก ประจำประเทศไทย, คยองซัน คิม ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และ กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย
โดยมีเนื้อหาดังนี้
- รฟท.เปิดจองทริป เที่ยวปลายฝน ต้นหนาว ดาวเกลื่อนฟ้า 4 จังหวัด 4 สไตล์
- รู้จัก The Essence โรงเรียนทางเลือกแนวใหม่ ค่าเทอมปีละ 1.5 แสนบาท
- เศรษฐา ตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีเพิ่ม 4 ราย
“หนูว่าเรียนที่โรงเรียน หนูเรียนได้ดีกว่านะคะ เพราะว่าหนูมีสมาธิกับการเรียนมากกว่า ถ้าไม่เข้าใจอะไร หนูสามารถโต้ตอบหรือถามครูได้ทันทีค่ะ” –การันตี ทองต้น นักเรียนเกรด 12 ของโรงเรียนนานาชาติขจรเกียรติศึกษา (มิถุนายน 2564) กรุงเทพ
หลังจากที่การเรียนของเด็ก ๆ หยุดชะงักไป 20 เดือน เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เด็ก ๆ ในประเทศไทยสมควรได้กลับไปเรียนในโรงเรียนได้แล้ว เด็ก ๆ ต้องได้กลับไปใช้ชีวิตการเรียนร่วมกับครูและเพื่อนนักเรียนอย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และพวกเขาต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อชดเชยการเรียนรู้ที่ขาดหายไปให้ครบ ทุกสิ่งเหล่านี้สำคัญต่ออนาคตของพวกเขา อย่างยิ่ง
การกลับมาเปิดภาคเรียนที่โรงเรียนตามที่ได้มีการวางแผนไว้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ เป็นสิ่งที่รอไม่ได้อีกต่อไป เพราะเด็ก ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในห้องเรียนต้องเผชิญอุปสรรคในการเข้าถึงการเรียนออนไลน์ เผชิญภาวะตึงเครียดทางจิตใจ ต้องเสี่ยงต่อความรุนแรงและการล่วงละเมิด
เด็กหลายคนไม่ได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีประโยชน์ในโรงเรียนและไม่ได้รับวัคซีนตามกำหนด ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่การสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้อย่างมาก ทำให้ทักษะทางสังคมของพวกเขาด้อยลง ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะต้องหยุดเรียนอย่างถาวร
สภาพการณ์ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่จะส่งผลกระทบต่อเด็ก ๆ ไปตลอดชีวิต นอกจากนี้ผู้ปกครองหลายต่อหลายคนก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เมื่อต้องทั้งทำงาน ทั้งดูแลเรื่องความเป็นอยู่และเรื่องการเรียนของลูกไปพร้อม ๆ กัน ซ้ำร้ายผู้ปกครองบางคนก็สูญเสียงานที่เคยทำไปทั้งหมด

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้โรงเรียนต่าง ๆ กลับมาเปิดเรียนอย่างปลอดภัย แม้แต่ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระดับสูงก็ตาม โดยการเปิดเรียนนี้ต้องปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ เท่าที่ทำได้ทั้งหมดเพื่อลดการแพร่ระบาด ซึ่งรวมไปถึงไวรัสสายพันธุ์เดลต้าด้วย
การใช้มาตรการการสวมหน้ากาก การเว้นระยะห่าง ระบบถ่ายเทอากาศที่เพียงพอ การสลับเวลาเข้าเรียน การล้างมือ และการทำความสะอาดพื้นผิวต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ บวกกับการกำกับให้ปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ อย่างเคร่งครัดจะช่วยให้ห้องเรียนกลายเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ๆ และคุณครูมากกว่าในสภาพแวดล้อมอื่น ๆ
การที่รัฐบาลไทยตัดสินใจฉีดวัคซีนให้กับคุณครูและบุคลากรทางการศึกษากว่า 600,000 คนเป็นสิ่งสำคัญมากและเป็นขั้นตอนที่ดำเนินการในจังหวะที่เหมาะสม เพื่อช่วยทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย
มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายใต้โปรแกรม “Sandbox: Safety Zone in School” มาตรการต่าง ๆ เช่น การทำแบบสำรวจประเมินความเสี่ยง การจัดทำบัตรผ่านเข้าออกโรงเรียน การสอนแบบกลุ่มแยก (teaching in bubbles) และจัดทำแผนขั้นตอนรับเหตุฉุกเฉิน ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างและมาตรการที่ดีที่จะช่วยให้โรงเรียนกลับมาเปิดเรียนได้อย่างปลอดภัยอีกครั้ง
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญเท่า ๆ กับการให้เด็ก ๆ ได้กลับสู่ห้องเรียนอย่างปลอดภัย คือ การช่วยให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ทักษะและบทเรียนตามกำหนดเวลาที่ควรเป็น จากข้อมูลของรายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 (2019 Multiple Indicator Cluster Survey) ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติจัดทำร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ได้ระบุไว้ว่า ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสครั้งนี้ เด็กจำนวนน้อยกว่าหกในสิบคนจากระดับชั้นประถมศึกษาปีที่สองและปีที่สามในประเทศไทยมีทักษะทางการอ่านเพียงแค่ขั้นพื้นฐาน และมีเด็ก ๆ น้อยกว่าห้าในสิบที่มีทักษะการคำนวณขั้นพื้นฐาน

ในขณะที่ผลการศึกษาที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และตำรวจตระเวนชายแดนร่วมกันจัดทำขึ้นนั้นระบุว่า นักเรียนจำนวนประมาณ 40,000 คนในระดับชั้นประถมศึกษาปีทึ่หกและมัธยมศึกษาปีที่สามมีความเสี่ยงที่จะต้องออกจากระบบการศึกษากลางคันหรือไม่สามารถเรียนต่อได้
ในเดือนพฤศจิกายนนี้เด็กนักเรียนทุกคนโดยเฉพาะเด็กนักเรียนผู้ด้อยโอกาสจำเป็นจะต้องได้รับความช่วยเหลือเพื่อให้พวกเขาได้เรียนเนื้อหาบทเรียนที่พลาดไปตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 และครูผู้สอนเองก็จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือให้พวกเขาสามารถสอนชดเชยบทเรียนสำคัญที่หายไปได้ ซึ่งในบางกรณีจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสนับสนุน
องค์การสหประชาชาติและกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจะร่วมกันประเมินความจำเป็นในการฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมุ่งเน้นไปที่การออกแบบวิธีการสนับสนุนให้เหมาะสมสำหรับทั้งนักเรียนและครูผู้สอน
ความเร่งด่วนในการสนับสนุนและการให้บริการทางการศึกษาที่โรงเรียน ซึ่งช่วยให้เกิดสุขภาวะที่ดีทั้งทางกายและใจของนักเรียนเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดในการช่วยให้นักเรียนปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่ท้าทายได้

จากการสำรวจของสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ซึ่งทำร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) พบว่า วัยรุ่นมากกว่าเจ็ดในสิบคนกำลังเผชิญกับภาวะความกดดัน ความเครียด และความวิตกกังวลจากการสูญเสียรายได้ในครอบครัวและการศึกษาที่ชะงักงันของตน
และจากผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ถึงเดือนกันยายน 2564 บ่งชี้ว่า เยาวชน 32% จากกลุ่มสำรวจเกือบ 190,000 คนมีความเสี่ยงภาวะซึมเศร้า และที่น่ากังวลมากยิ่งไปกว่านั้นคือ 22% มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย
ทีมงานขององค์การสหประชาชาติในประเทศไทยพร้อมที่จะช่วยสนับสนุนรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยกันลงมือทำตั้งแต่วันนี้เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถกลับสู่โรงเรียนได้อย่างเร็วและอย่างปลอดภัย หากเรายังลังเล โอกาสที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้ฟื้นฟูจากช่องว่างทางการเรียนรู้ที่เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดครั้งนี้จะยิ่งน้อยลงไปเรื่อย ๆ