ราคาน้ำมันดิบปรับลด จากแรงเทขายในตลาดหุ้นสหรัฐ-เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น

– ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นวันที่สาม หลังมีปัจจัยกดดันจากความผันผวนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ดัชนี Dow Jones ปรับตัวลดลงอย่างหนักติดต่อกัน 2 วัน จากความกังวลของนักลงทุนต่อภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่อาจเร่งให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาดการณ์ ประกอบกับสกุลเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ส่งผลกดดันนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้าซื้อสินทรัพย์ด้วยสกุลเงินดอลลาร์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น

– สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2561 ว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 10.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเป็นการปรับเพิ่มค่าคาดการณ์จากเดือนก่อนที่คาดว่าจะปรับเพิ่ม 970,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 10.27 ล้านบาร์เรลต่อวัน และได้ปรับลดอัตราการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันดิบสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 450,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 470,000 บาร์เรลต่อวัน

+ ภายหลังตลาดปิด สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานของสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ก่อนหน้า ปรับตัวลดลง 1.1 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับอุปทานที่เริ่มเบาบางก่อนเข้าสู่ช่วงวันหยุดตรุษจีน

Advertisment

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากอุปทานน้ำมันดีเซลจากประเทศจีน อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดีเซลยังมีแรงหนุนจากอุปสงค์จากในภูมิภาคและประเทศแอฟริกาใต้

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 62 – 67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 65 – 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

Advertisment

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ก.พ. นี้ หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับจุดคุ้มทุนเฉลี่ยในการลงทุนผลิตน้ำมันของผู้ผลิตน้ำมันดิบจากหินชั้นดินดาน (Shale oil) ในสหรัฐฯ

ความร่วมมือของกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในการปรับลดกำลังการผลิตยังอยู่ในระดับสูง โดยผู้ผลิตยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ปริมาณน้ำมันคงคลังกลับมาสู่ระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี และรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันดิบ

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลามีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยในเดือน ม.ค. ปริมาณการผลิตลดลงสู่ระดับ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปี เนื่องจากประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจ และการเงินจากภาวะหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง