ถึงเวลาออกจากตลาดหุ้นหรือยัง

คอลัมน์ เติมความคิดพิชิตการลงทุน

โดย พรเทพ ชูพันธ์ บล.ไทยพาณิชย์

เดือนมกราคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นราว ๆ 4% หลายคนเริ่มมีคำถามว่าถึงเวลาขายหุ้นหนีออกจากตลาดหรือยัง ซึ่งแม้ว่ามกราคมปีนี้จะถือเป็นการเปิดปีที่ดีที่สุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา แต่หากมองผลตอบแทนของตลาดหุ้นเฉพาะเดือน ม.ค. ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา พบว่าตลาดเดือน ม.ค. มีการปรับตัวขึ้น 8 ปี (ปรับลง 7 ปี) ในบรรดาตลาดขาขึ้น 8 ครั้งนั้น พบว่ามีถึง 5 ปีด้วยกัน ที่เดือนมกราคมตลาดปรับตัวขึ้นมากกว่า 4% ที่น่าสนใจคือ ใน 5 ครั้งที่หุ้นขึ้นกว่า 4% ในเดือน ม.ค.นั้น มีถึง 4 ปีด้วยกันที่ตลาดหุ้นยังคงปรับตัวขึ้นต่อได้ในเดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้นการปรับขึ้นในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา จึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก หรือน่ากลัวแต่อย่างใด

วันนี้เลยขอหยิบเรื่อง seasonality หรือปัจจัยฤดูกาลของตลาดหุ้น มาพูดคุยกันสนุก ๆ หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่อง January effect หรือการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นในเดือน ม.ค. ซึ่งหากดูจากสถิติ 10 ปีที่ผ่านมา (2008-2017) เราพบว่าโอกาสเกิด January effect นั้นน้อยกว่าการเกิด February March and April effect อย่างชัดเจน

จากสถิติการปรับตัวขึ้นของตลาดมักเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม และเมษายน บ่อยกว่าเดือนมกราคม โดยเมื่อมองย้อนหลัง 10 ปี พบว่าค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนในแต่ละเดือนของ 3 เดือนดังกล่าว อยู่ที่ 3.2%, 2.9% และ 3.6% ตามลำดับ (เทียบกับค่าเฉลี่ยผลตอบแทนเดือนมกราคมที่อยู่ที่เพียง -0.4%) และหากนับจำนวนปีที่หุ้นขึ้นใน 3 เดือนดังกล่าว พบว่า ก.พ. และ มี.ค. ตลาดขึ้น 9 ปีใน 10 ปี ส่วน เม.ย. ตลาดขึ้น 8 ปีใน 10 ปี นอกจากนี้ในปีที่หุ้นเป็นขาลง 3 เดือนดังกล่าวมักลงไม่ลึกเมื่อเทียบกับเดือนอื่น ๆ ด้วย

Advertisment

ที่สำคัญกว่าปัจจัยฤดูกาล คือ เรื่องปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งทั้งสำนักวิจัยในต่างประเทศและในประเทศ ส่วนใหญ่จะมีมุมมองที่ค่อนข้างเป็นบวกต่อภาวะเศรษฐกิจโลก และไทย โดยยังคงเน้นให้น้ำหนักการจัดพอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่าตราสารหนี้ และเน้นการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (emerging market) มากกว่าตลาดประเทศพัฒนาแล้ว (developed market) ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของเราที่เชื่อว่า ปีนี้ยังไงก็ไม่น่าจะเป็นปีของวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ที่จะมีแรงส่งทั้งจากการส่งออกที่ขยายตัวตามเศรษฐกิจโลก และจากการใช้จ่ายในประเทศที่ถูกขับเคลื่อนโดยโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากจากรัฐบาล

ถึงเวลาออกจากตลาดหุ้นหรือยัง ? อันดับแรกต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับความเสี่ยงของนักลงทุน หากถือแล้วไม่สบายใจก็อาจลดพอร์ตลงได้บ้าง แต่ไม่น่าจะถึงกับหนีออกจากตลาดไปเลยทีเดียวและสำหรับผู้ที่รับความผันผวนช่วงสั้น ๆ ได้ การลดพอร์ตในช่วงนี้อาจทำให้ท่านพลาดโอกาสจากปัจจัยฤดูกาล ในเดือน ก.พ., มี.ค. และ เม.ย. ไปอย่างน่าเสียดาย

จากสถิติปัจจัยฤดูกาลพบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนเป็นบวกบ่อย ๆ ในช่วง 3 เดือนดังกล่าว และมักให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่า SET index ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มค้าปลีก กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอสังหาฯ กลุ่มธนาคาร กลุ่มไฟแนนซ์ กลุ่มสื่อสาร และกลุ่มปิโตรเคมี

ซึ่งจากกลุ่มที่ได้รับแรงหนุนจากฤดูกาลดังกล่าว หากเลือกให้ตรงกับ theme การลงทุนในปีนี้ จะได้กลุ่มที่น่าสนใจลงทุน ได้แก่ กลุ่มธนาคาร ที่ได้รับแรงส่งทั้งจากภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และการเร่งปล่อยกู้ให้กับภาคเอกชนโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มค้าปลีก ที่จะได้รับผลดีจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ กลุ่มอสังหาฯที่รับแรงส่งจากกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (EEC theme) และการเติบโตของการปล่อยกู้ของธนาคาร บวกกับความสามารถในการกู้ที่เพิ่มขึ้นของครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนเมืองที่หลุดพ้นจากภาระผ่อนรถคันแรก และกลุ่มปิโตรเคมี ที่แม้จะไม่ได้อิงกับเศรษฐกิจในประเทศ แต่ได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของอุปสงค์ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และวัฏจักรขาขึ้นของอุตสาหกรรม

Advertisment

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลด ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”