เมกะเทรนด์การลงทุน

คอลัมน์ จัตุรัสนักลงทุน

โดย วีระพงษ์ ธัม www.facebook.com/10000Li

อะไรคือกิจกรรมที่คนคนหนึ่งต้องทำยาวนานที่สุดในช่วงชีวิต ? การเรียน ? การทำงาน ? คำตอบของผมสำหรับยุคนี้ คือ “การลงทุน” ในอดีตกว่าคนจะคิดเริ่มลงทุนคือหลังจากสร้างครอบครัว หลังจากมีเงินเหลือจากการซื้อบ้าน คือกว่าตั้งตัวจะเริ่มลงทุนก็ต้องเป็นวัยกลางคน

แต่สำหรับการลงทุนในยุคนี้คนรุ่นใหม่คิดเริ่มต้นลงทุนตั้งแต่เริ่มทำงานอายุ 20 ปี ในอดีตตอนเกษียณจะมีสวัสดิการหรือดอกเบี้ยเงินเก็บ แต่ยุคนี้คงต้องลงทุนอยู่เพื่อหาผลตอบแทน การลงทุนจะเป็นกิจกรรมที่มนุษย์คนหนึ่งต้องทำมากกว่า 50 ปี นี่คือสิ่งที่ต้องวางแผนมองอนาคตที่ยาวไกลที่สุด อะไรคือสิ่งที่จะต้องรู้ในการลงทุนยุคใหม่ที่ยาวนานขนาดนี้

เมกะเทรนด์ที่สำคัญที่สุดที่เกี่ยวข้องกับคำว่าลงทุนคือคำว่า “ความเปลี่ยนแปลง” เริ่มต้นตั้งแต่ทฤษฎีที่เราเรียนมาหลายสิบปี เช่น 5 Forces Model, BCG Metrix ก็ค่อย ๆ ถูกทดแทนด้วยทฤษฎีใหม่ ๆ ตลอดเวลา หรือถ้ามองย้อนกลับไป 50 ปี ธุรกิจ 50 ปีที่แล้วที่เหลือก็รอดน้อยมาก เช่นเดียวกัน กูรูหุ้นที่อยู่มาหลายสิบปีก็เหลือรอดมาเพียงหยิบมือเดียว การลงทุนที่ดีที่สุดจึงไม่ใช่การหาผลตอบแทนปีนี้ให้มากที่สุด แต่คือการทำอย่างไรให้อยู่รอด นั่นคือการศึกษาและปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง

Advertisment

เคล็ดลับหรือสถิติของบริษัทที่อยู่มา 100 ปีนั้น เคยถูกทำการศึกษาหลายครั้งในหนังสือหลายเล่ม บริษัทยิ่งใหญ่ที่สุดในร้อยปีที่แล้วของอเมริกาคือกลุ่มบริษัทเหล็ก หลังจากนั้นก็เริ่มเป็นกลุ่มพลังงาน และเป็นกลุ่มเทคโนโลยี บัฟเฟตต์คือนักลงทุนระยะยาวที่มองเห็นภาพเหล่านี้ และพยายามเลี่ยงธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงมาก แต่ถึงกระนั้นธุรกิจหลายอย่างที่บัฟเฟตต์เลือกในระยะหลังก็ถูกกระแสความเปลี่ยนแปลงเข้ามากระทบอย่างไม่น่าเชื่อ นี่คือส่วนประกอบของความเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ

1.อุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลง อุตสาหกรรมหลายอย่างที่ตกต่ำมักถูกเรียกว่า เป็นธุรกิจ “ตะวันตกดิน” เช่น ธุรกิจเสื้อผ้า รองเท้าในไทย แต่อันที่จริงธุรกิจตะวันตกดินไม่มีจริง แต่พระอาทิตย์ไปขึ้นที่อื่นต่างหาก ถ้าถามประเทศเวียดนาม บังกลาเทศ ธุรกิจเสื้อผ้า รองเท้าคือธุรกิจดาวรุ่ง เพราะโดยปกติความต้องการสินค้าและบริการจะยังคงอยู่ แต่ที่เปลี่ยนมักเกิดจาก “โครงสร้างอุตสาหกรรม” ที่เปลี่ยนอย่างรุนแรง เช่น กฎระเบียบภาครัฐ ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหรือการแข่งขันเปิดกว้างอย่างรวดเร็ว เช่น ช่วงหนึ่ง WTO คือตัวเร่งให้เกิดการย้ายฐานผลิตที่เร็วมาก ดังนั้นทุกครั้งที่มีธุรกิจตะวันตกดิน จะต้องมีอีกอย่างหนึ่งที่กำลังอยู่ในช่วงรุ่งอรุณเสมอ

2.สนามแข่งขันเปลี่ยน เกิดจากการแข่งขัน “ข้ามห้วย” เช่น ธุรกิจสายการบิน low cost ไม่ได้สร้างแรงกดดันหลักให้กับสายการบินอื่น แต่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับ “ธุรกิจเคลื่อนย้ายคน” เช่น รถบัส ธุรกิจเหล็กที่เคยยิ่งใหญ่ลดบทบาทเพราะถูกทดแทนอย่างช้า ๆ ด้วยวัสดุศาสตร์อื่น ๆ ธุรกิจพลังงานอย่างน้ำมันที่ตกต่ำไม่ใช่เพราะคนใช้พลังงานลดลง แต่ถูกธุรกิจพลังงานอื่นมาทดแทน ธุรกิจสื่อย้ายจากช่องทางเดิมมาออนไลน์ ธุรกิจการจัดการข้อมูลย้ายจากคอมพิวเตอร์มาอยู่บนมือถือ สิ่งที่สำคัญการวิเคราะห์คือ “อะไรคือคุณค่าที่อุตสาหกรรมนั้น” อย่าติดตาม “ชื่อ” อุตสาหกรรม แต่จงติดตาม “คุณค่า” ของอุตสาหกรรม

3.วิถีการแข่งขันเปลี่ยนไป บริษัทที่เข้มแข็งและเป็นผู้นำมักจะมุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้น และขายในราคาแพงขึ้น จนมาถึงจุดที่สินค้านั้นอาจจะ “แพงเกินไป” เมื่อเทียบกับความจำเป็น จนทำให้เกิด “ช่องว่าง” ของตลาดใหม่ คือสินค้าที่คุณภาพหรือประสิทธิภาพน้อยลงบ้าง แต่ราคาถูกลงมาก นี่คือการ “เชื้อเชิญ” และ “สร้าง” คู่แข่งใหม่โดยไม่รู้ตัว ตัวอย่างที่เห็นคือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กไต้หวันที่มาแทนญี่ปุ่น อเมริกา หรือมือถือเกาหลี จีน ที่มาแทนอเมริกายุโรป นาฬิกาญี่ปุ่นหรืออเมริกาเข้ามาแทนนาฬิกาสวิตเซอร์แลนด์

Advertisment

สาเหตุที่บริษัทที่เข้มแข็งไม่สนใจ “ตลาดล่าง” ก็ค่อนข้างมีเหตุผล เพราะอัตรากำไรก็น้อยกว่าตลาดบน ทำแล้วเหนื่อยกว่า และตลาดในช่วงแรกอาจจะเล็กกว่า นี่เป็นเส้นทางที่คล้ายกับ “บังคับ” ไปสู่เหวหรือหายนะ

ที่ลำบากไปกว่านั้นไม่ใช่เพียงแค่ “แข่งราคา” แต่เป็น “โมเดลธุรกิจ” ที่แตกต่าง หรือการใช้ “เทคโนโลยี” ที่แตกต่าง เดิมธุรกิจขายผ่านร้านค้า ย้ายมาขายออนไลน์ หรือเดิมผลิตแบบประณีตมาเป็นผลิตจำนวนมาก ยังไม่นับรวมเรื่องการตลาด การเงิน ที่มีโอกาสแตกต่าง นี่คือสาเหตุที่ทำให้บริษัทที่เข้มแข็งในโมเดลรูปแบบเดิมมักปรับตัวได้ลำบาก จนในที่สุดจะค่อย ๆ อ่อนแอและลดบทบาทลง การศึกษาเกมธุรกิจใหม่ ๆ จึงจำเป็น

4. ลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป นี่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วที่สุดอย่างหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงของลูกค้าอาจแบ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทาง “กาย” และ “ใจ” ตัวอย่างทางกาย คือลูกค้าอายุมากขึ้นจนอาจไม่สามารถใช้สินค้าเราได้ และลูกค้าใหม่ที่อายุน้อยก็อาจไม่สนใจที่จะใช้สินค้าของเรา ที่เปลี่ยนแปลงเร็วกว่าคือ “ใจ” ลูกค้ารุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะ “ตามแห่” ไปตามแฟชั่น คือ ดังข้ามคืน และดับในคืนต่อไป การศึกษาพฤติกรรมลูกค้าจึงเป็นปัจจัยสำคัญในโลกยุคใหม่

5.ธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป หลายครั้งความสำเร็จหรือผิดพลาดไม่ได้เกิดขึ้นจากใคร แต่เกิดขึ้นจากตัวบริษัทเอง เช่นธุรกิจบางแห่งอาจตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่ผิดพลาด บริหารเงินทุนผิดพลาด บริหารการเข้าถึงโอกาสและความเสี่ยงผิดพลาด หรือธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารหลัก ซึ่งล้วนทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เปลี่ยนแปลงไป การยอมรับความเปลี่ยนแปลงและพยายามปรับตัวคือปัจจัยสำคัญที่สุดในโลกยุคใหม่นี้

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้