ธ.ก.ส.ขยายวงเงินค้ำประกันธนาคารต้นไม้ 80% พร้อมดันต้นไม้ 4 กลุ่มหลักขอสินเชื่อ

แฟ้มภาพ

ธ.ก.ส. แจงความคืบหน้าโครงการธนาคารต้นไม้ ขยายวงเงินค้ำประกัน 80% ของราคาหลักประกันเท่ากับที่ดิน จากเดิมวงเงินค้ำประกัน 50% ของหลักทรัพย์ที่ประเมิน หวังเป็นทางเลือกเกษตรกรสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้ พร้อมดันต้นไม้ 4 กลุ่มสำคัญ เป็นหลักประกันเพื่อขอสินเชื่อ

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการธนาคารต้นไม้ ที่มีสมาชิก จำนวน 6,000 กว่าชุมชน และมีต้นไม้ทั้งหมด ราว 11 ล้านต้น ในเบื้องต้น ได้ขยายวงเงินค้ำประกัน 80% ของราคาหลักประกันเท่ากับที่ดิน จากเดิมที่มีวงเงินค้ำประกัน 50% ของหลักทรัพย์ที่ประเมิน โดยมุ่งเน้นกลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกธนาคารต้นไม้เป็นหลัก ปัจจุบันเกษตรกรสามารถขอสินเชื่อจากโครงการดังกล่าวตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนดได้ตามปกติ โดยนำต้นไม้ที่มีเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ที่ ธ.ก.ส.กำหนด มาเป็นหลักประกัน เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สิน ความยากจน และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับครอบครัว ชุมชน

สำหรับการประเมินมูลค่าหลักประกัน จะให้กรรมการและสมาชิกธนาคารต้นไม้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรวิทยากรธนาคารต้นไม้จาก ธ.ก.ส. และได้รับใบประกาศอย่างน้อย 3 คน เป็นผู้ประเมินมูลค่าต้นไม้เป็นรายต้น โดยใช้เป็นส่วนควบในการเพิ่มวงเงินจดทะเบียนจำนองที่ดิน ไม่เกิน 50% ของราคาประเมินมูลค่าต้นไม้ที่คณะกรรมการธนาคารต้นไม้พิจารณาให้ความเห็นชอบการประเมินมูลค่าที่ดิน นอกจากนี้คุณสมบัติของผู้กู้และหลักประกัน มีดังนี้ 1.ต้องเป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ตามข้อบังคับ ฉ.44 และ45 2.เป็นสมาชิกธนาคารต้นไม้ 3.เป็นเจ้าของที่ดินและต้นไม้ที่เป็นของบุคคลเดียวกันหรือคู่สมรส และ 4.เป็นต้นไม้ที่มีชื่อตามที่ธนาคารกำหนด ยกเว้น ไม้ยางพารา ยูคาลิปตัส พญาคชสาร มะพร้าว และไม้ที่ไม่สามารถแปรรูปนำมาก่อสร้างอาคารบ้านเรือนได้

นอกจากนี้ประเภทต้นไม้ที่ ธ.ก.ส.นำมาใช้เป็นหลักประกัน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มอัตราการเติบโตเร็วรอบตัดฟันสั้น มูลค่าของเนื้อไม้ต่ำ เช่น ไม้กระถินเทพณรงค์ กระถินเทพา กระถินยักษ์ สะเดา สนประดิพัทธ์ เป็นต้น 2. กลุ่มอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้ค่อนข้างสูง เช่น ประดู่ ยางนา ตะเคียนทอง แดง ทัง กันเกรา สนสองใบ ยมหิน จำปาทอง เป็นต้น 3.กลุ่มอัตราเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าเนื้อไม้สูง เช่น ไม้สัก มะปิน เป็นต้น และ 4. กลุ่มอัตราเติบโตช้า รอบตัดฟันยาว มูลค่าเนื้อไม้สูงมาก เช่น ไม้พะยูง ชิงชัน จันทร์หอม มะค่าโมง หลุมพอ เคี่ยม เป็นต้น