ส่อง 5 กองทุนหุ้น RMF ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี สูง 20%

“มอร์นิ่งสตาร์ฯ” เปิดโผ 5 อันดับกองทุนหุ้น RMF ผลตอบแทนโดดเด่น เผยผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีสูงกว่า 20% เหตุส่วนใหญ่ลงทุนในอสังหาฯ เตือนนักลงทุนทำความเข้าใจความเสี่ยง หวั่นกองทุน SSF กด RMF ยิ่งไม่โต เหตุใช้สิทธิลดหย่อนก้อนเดียวกัน “บล.เอเซีย พลัส” มอง RMF ตอบโจทย์ผู้ลงทุนอายุ 46 ปีขึ้นไป

นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มอร์นิ่งสตาร์ฯได้รวบรวมกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่มีผลตอบแทนย้อนหลังโดดเด่น 5 อันดับแรก เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุน โดย 5 อันดับแรกของกองทุนหุ้น RMF ที่มีผลตอบแทนโดดเด่นย้อนหลัง 1 ปี ได้แก่ 1.กองทุนเปิดแอล เอช ไทย พร็อพเพอร์ตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ (LHTPROPRMF) 24.71% 2.กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี สมาร์ท พร็อพเพอร์ตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ (M-PROP RMF) 23.50% 3.กองทุนเปิดทหารไทย China Opportunity เพื่อการเลี้ยงชีพ (TMBCORMF) 23.50% 4.กองทุนเปิดทหารไทย พร็อพเพอร์ตี้ อินคัม พลัส เพื่อการเลี้ยงชีพ (TMBPIPRMF) 21.86% และ 5.กองทุนเปิดเค ยูโรเปียน หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (KEURMF) 21.16%

ขณะที่ 5 อันดับแรกของกองทุนหุ้น RMF ที่มีผลตอบแทนโดดเด่นย้อนหลัง 3 ปี ได้แก่ 1.TMBCORMF 15.83% 2.กองทุนเปิดทหารไทย Global Quality Growth เพื่อการเลี้ยงชีพ (TMBGQGRMF) 13.24% 3.M-PROP RMF 12.72% 4.TMBPIPRMF 12.47% และ 5.LHTPROPRMF 12.06% ส่วน 5 อันดับแรกของกองทุนหุ้น RMF ที่มีผลตอบแทนโดดเด่นย้อนหลัง 5 ปี ได้แก่ 1.กองทุนเปิดพรินซิเพิล พร็อพเพอร์ตี้ อินคัม เพื่อการเลี้ยงชีพ (PRINCIPAL iPROPRMF) 14.13% 2.กองทุนเปิดภัทร พร็อพเพอร์ตี้ เซคเตอร์ เพื่อการเลี้ยงชีพ (PHATRA PROPRMF) 11.21% 3.TMBPIPRMF 10.48% 4.กองทุนเปิดวรรณ พร็อพเพอร์ตี้ เพื่อการเลี้ยงชีพ (ONEPROP-RMF) 9.71% และ 5.KEURMF 8.09%

“เนื่องจากกอง RMF มีการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย นักลงทุนจึงต้องพิจารณาความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่แต่ละกองออกไปลงทุนด้วย อย่างในปัจจุบันผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนหุ้น RMF (RMF equity) ช่วง 1 ปีย้อนหลังสูงถึง 20% ต่อปี ซึ่งอาจดูน่าสนใจมากกว่าผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ลงทุนในหุ้นเหมือนกัน และยังลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน แต่กองทุนหุ้น RMF ที่ให้ผลตอบแทนสูง ส่วนมากลงทุนกระจุกอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้กระจายลงทุนหลากหลายเท่า LTF ดังนั้นก่อนจะลงทุนก็ต้องเข้าใจความเสี่ยงในส่วนนี้ด้วย” นางสาวชญานีกล่าว

นางสาวชญานีกล่าวด้วยว่า การที่รัฐบาลเห็นชอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับกองทุนใหม่ คือ กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) โดยมีเงื่อนไขที่ให้นับรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ได้สูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาทนั้น อาจกระทบกับการเติบโตของกองทุน RMF เพราะกรณีประชาชนกลุ่มรายได้ปานกลางที่เลือกลงทุน SSF เต็มตามเกณฑ์สูงสุด และมีการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) อยู่แล้ว อาจไม่มีสภาพคล่องที่จะนำมาลงทุน RMF ได้อีก หรือกรณีกลุ่มผู้มีรายได้สูงที่ยังไม่เข้าใกล้วัยเกษียณ ก็อาจเลือกลงทุนกองทุน SSF เพราะมีระยะการถือครองที่สั้นกว่า และเมื่อรวมกับมูลค่าการลงทุน PVD แล้วจะทำให้ซื้อ RMF ได้น้อยลง อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบเฉพาะในแง่อายุการถือครองกองทุน RMF ก็อาจได้รับความสนใจจากผู้ที่ใกล้เข้าสู่วัยเกษียณมากกว่า

Advertisment

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส กล่าวว่า การลงทุน RMF ที่ปรับปรุงใหม่จะมีข้อดีในกลุ่มผู้ลงทุนที่มีอายุ 46 ปีขึ้นไป เพราะนอกจากจะสามารถไถ่ถอนเงินได้ก่อนการลงทุนในกอง SSF ผู้ลงทุนยังสามารถสับเปลี่ยนกองทุนระหว่างทางได้ แตกต่างจากกองทุน SSF ที่ไม่สามารถสับเปลี่ยนกองทุนก่อนครบกำหนดไถ่ถอน 10 ปี ซึ่งระยะเวลา 10 ปี มีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจเผชิญช่วงเศรษฐกิจขาลง (late cycle) ที่เกิดขึ้นทุก ๆ 10 ปีได้เช่นกัน

ขณะที่กองทุน RMF ปัจจุบันมีมากกว่า 200 กองทุน และกระจายการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย แต่สัดส่วนการลงทุนในหุ้นไทยยังมีแค่ 33% ของการลงทุนทั้งหมด เนื่องจากการลงทุนระยะยาวในหุ้นอย่างเดียวอาจไม่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ โดยเทคนิคการเลือกกองทุน RMF ให้พิจารณา 3 ปัจจัย ได้แก่ ผลตอบแทนของกองทุน ผลตอบแทนของกองทุนเปรียบเทียบกับดัชนีอ้างอิง (benchmark) และค่าธรรมเนียม

“กองทุนหุ้น RMF ที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างโดดเด่นสูงถึง 20% ส่วนใหญ่ลงทุนในอสังหาฯ ซึ่งราคาของอสังหาฯช่วงที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นไปค่อนข้างสูงแล้ว ในระยะถัดไป จึงมีความเสี่ยงที่ราคาอาจปรับลดลง ดังนั้น แนะนำให้ผู้ลงทุนสับเปลี่ยนไปลงทุนในกองทุนประเภทอื่น ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง เช่น กองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้รายได้คงที่ (fixed income) เป็นต้น”