บี้แบงก์ตัดหนี้ค้าง “ลดเงินต้น” เกณฑ์ใหม่ ธปท.สร้างความเป็นธรรมผู้กู้

เอ็นพีแอล-แบงก์ชาติ-หนี้เสีย

ธปท. ตีกรอบแบงก์ “ตัดชำระหนี้ค้างแบบใหม่” สร้างความเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ หนุนปลดภาระ “ลดเงินต้น” ได้เร็วขึ้น แบงก์ได้อานิสงส์คุณภาพหนี้ไม่ด้อย-ลดภาระตั้งสำรอง ดีเดย์บังคับใช้เป็นการทั่วไป 1 ก.ค. ปีหน้า “ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” คาดกระทบรายได้ดอกเบี้ยไม่มากกว่าที่เจออยู่แล้ว ฟากแบงก์ใหญ่ชี้ต้องใช้เวลาปรับระบบ-ศึกษาผลกระทบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศเรื่อง “การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และตัดชำระหนี้” มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ล่าสุด ธปท. อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมออกประกาศเพิ่มเติม เกี่ยวกับ “ลำดับการตัดชำระหนี้” สำหรับลูกค้ารายย่อย ลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อเป็นแนวทางขั้นต่ำในการตัดชำระหนี้ เพื่อให้ผู้ให้บริการมีมาตรฐานเดียวกัน สอดคล้องตามศักยภาพและการจ่ายชำระของลูกหนี้ที่แท้จริง

โดยประกาศที่รับฟังความคิดเห็นดังกล่าว กำหนดให้ผู้บริการทางการเงินนำเงินที่ได้รับชำระหนี้ไป ดำเนินการตัดชำระหนี้ตามยอดหนี้แต่ละงวด แบบ “แนวนอน” โดยตัดค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของยอดหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระนานที่สุดก่อน แล้วจึงค่อยตัดชำระยอดหนี้มีระยะเวลาที่ค้างชำระน้อยลงมาตามลำดับ ซึ่งจะต่างไปจากปัจจุบันที่ใช้แบบ “แนวตั้ง” คือจะตัดชำระดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ตามงวดค้างชำระก่อนทั้งหมด จึงค่อยไปตัดดอกเบี้ยค้างชำระ และเงินต้น เป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งวิธีใหม่จะช่วยให้ลูกหนี้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ไม่เร่งการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) และลดภาระการตั้งสำรองของสถาบันการเงินได้

ทั้งนี้ การตัดหนี้วิธีใหม่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564 แต่หากแบงก์ไหนทำได้เลย ทาง ธปท.ก็จะให้เริ่มทยอยทำไปก่อนได้ โดยเฉพาะธนาคารขนาดกลางและเล็ก อย่างไรก็ดี พบว่า ปัจจุบันก็มีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่บางแห่งที่พร้อมเริ่มดำเนินการตามแนวทางนี้แล้ว ซึ่งสาเหตุที่ธนาคารขนาดใหญ่อาจจะดำเนินการได้ช้ากว่า เนื่องจากมีฐานลูกค้าจำนวนมาก และจะต้องมีการปรับระบบไอทีรองรับ ทำให้อาจจะต้องใช้เวลานานกว่า ขณะที่ธนาคารขนาดกลางและเล็กจะคล่องตัวกว่า

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยกล่าวว่า การตัดชำระหนี้ตามแนวทางใหม่ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของธนาคารที่จะลดลงระดับหนึ่ง แต่ปัจจุบันรายได้ในส่วนดังกล่าวก็ลดลงค่อนข้างมากแล้ว ทั้งนี้ ในปี 2563 คาดว่ารายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลของระบบแบงก์จะอยู่ที่ 6.5-7 แสนล้านบาท หดตัวราว -1% ถึง -5%

Advertisment

ทั้งนี้ การตัดชำระหนี้แบบใหม่จะช่วยให้ลูกค้าที่ยังชำระหนี้ปกติได้รับประโยชน์ เพราะจะลดเงินต้นได้เร็วขึ้น ส่งผลให้ภาระดอกเบี้ยลดลงได้เร็วขึ้นด้วย ขณะที่ลูกหนี้ที่มียอดค้างชำระจะได้รับประโยชน์ เมื่อมีการปรับโครงสร้างหนี้แล้วกลับมาชำระได้เป็นปกติ

“ผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยของแบงก์น่าจะมี เพราะเดิมการตัดหนี้แบบเดิม ธนาคารจะตัดดอกเบี้ยก่อนจึงจะตัดเงินต้น พอเงินต้นลดช้า การคูณดอกเบี้ยบนเงินต้นจะสูงขึ้น ทำให้ดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น ส่วนการตัดแบบใหม่จะต้องเคลียร์หนี้ของเก่าก่อนทำให้ภาระดอกเบี้ยลูกค้าลดลง การชำระหนี้ดีขึ้น ซึ่งช่วยให้การตั้งสำรองของแบงก์ลดลง” นางสาวธัญญลักษณ์กล่าว

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ได้รับทราบแนวทางการตัดชำระหนี้วิธีใหม่แล้ว พร้อมได้ให้ข้อมูลกลับไปยัง ธปท.ด้วย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบทางด้านระบบไอที เนื่องจากจะต้องปรับระบบคอร์แบงกิ้ง ซึ่งไม่ได้ปรับแค่เพียงระบบเดียว เพราะทุกผลิตภัณฑ์จะเชื่อมโยงกับ data based(ฐานข้อมูล) จึงต้องทำอย่างระมัดระวัง และต้องมีการทดลองระบบก่อนใช้งานจริง

ส่วนผลกระทบต่อรายได้แบงก์มีค่อนข้างน้อย เพราะปัจจุบันหากลูกค้าเข้ามาเจรจากับแบงก์ก็ไม่ได้เรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัด หรือเรียกเก็บน้อยมาก จึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อรายได้เหล่านี้มากนัก

Advertisment

“ที่ผ่านมาหากลูกค้าค้างชำระ 3 งวด เมื่อชำระมา แบงก์ก็ตัดดอกเบี้ยผิดนัดก่อนแล้วค่อยไปตัดดอกเบี้ย 3 งวด โดยหากมีเงินเหลือค่อยไปตัดเงินต้น 3 งวดหลังสุด แต่วิธีใหม่จะตัดพร้อม ๆ กัน ทั้งดอกเบี้ยผิดนัด ดอกเบี้ยปกติ และเงินต้น ซึ่ง ธปท.มองว่าไม่ค่อยยุติธรรมกับลูกค้า เพราะเงินต้นลดน้อย ทั้งนี้ ก็เป็นเรื่องที่ดี เราก็รับทราบและให้ข้อมูลไปแล้ว เหลือปรับระบบไอที น่าจะพร้อมใช้วันที่ 1 ก.ค.ปีหน้า”

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ตอนนี้ ธปท.อยู่ระหว่างเปิดรับความคิดเห็นเรื่องดังกล่าว ซึ่ง 4 แบงก์ใหญ่อยู่ระหว่างหารือกันเรื่องนี้ เนื่องจากทุกธนาคารต้องปรับระบบไอที เพื่อให้รองรับกับวิธีการตัดหนี้แบบใหม่ ซึ่งลูกค้าจะได้ประโยชน์ ส่วนธนาคารมองว่าการตัดชำระหนี้แบบเดิมจะสะท้อนการเป็นหนี้ค้างชำระได้ดีกว่า