วิกฤตทุบแบงก์กำไรทรุด Q4 สุดท้าทาย-ยังไม่ถึงจุดต่ำสุด

ผลประกอบการแบงก์

ธนาคารพาณิชย์ไทยได้แจ้งผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2563 และงวด 9 เดือนแรกของปีออกมากันแล้ว ซึ่งช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่ทุกแบงก์ต้องดำเนินมาตรการ “พักชำระหนี้” และมาตรการอื่น ๆ เพื่อดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

โดยผลประกอบการที่ออกมา ก็ไม่ต่างไปจากภาพที่ศูนย์วิจัยต่าง ๆ ประเมินกันไว้ซึ่งจากการรวบรวมผลประกอบการของแบงก์ 10 แห่ง พบว่า ในไตรมาส 3 มีกำไรสุทธิรวมกันที่ 29,776 ล้านบาท ลดลง 42% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 51,336 ล้านบาท

สำรองพุ่งฉุดกำไร-หนี้เสียขาขึ้น

ซึ่งแบงก์ใหญ่ 4 แห่ง ล้วนกำไรสุทธิลดลงอย่างมาก โดยธนาคารไทยพาณิชย์มีกำไรเพียง 4,641 ล้านบาท ลดลงถึง 68.64% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ กำไรสุทธิลดลง 57.44% ธนาคารกสิกรไทย ลดลง 32.88% ธนาคารกรุงไทย ลดลง 18.59% ขณะที่ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) ลดลง 23.31% และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ลดลง 7.06%

ทั้งนี้ หากมองในแง่มูลค่า จะพบว่า ไทยพาณิชย์มีกำไรลดลงมากที่สุดถึง 10,157 ล้านบาท แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อนที่มีรายการกำไรพิเศษ หากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว กำไรสุทธิจะลดลง 56% ขณะที่แบงก์กรุงเทพกำไรวูบไป 5,421 ล้านบาทและแบงก์กสิกรไทยกำไรลดลงไป 3,272 ล้านบาท

โดยแบงก์ที่กำไรสุทธิลดลงมาก ๆ ล้วนเกิดจากการที่ต้องตั้งสำรองสูง ๆ โดยเฉพาะไทยพาณิชย์ ตั้งสำรองถึง 12,955 ล้านบาทในไตรมาส 3 นี้ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าถึง 33.09% ขณะที่แบงก์กรุงไทยแม้จะตั้งสำรองลดลงจากไตรมาสก่อน 15.61% แต่ก็มีมูลค่าสูงถึง 12,414 ล้านบาท ส่วนแบงก์กสิกรไทยก็ตั้งสำรองถึง 10,815 ล้านบาท ด้านทีเอ็มบีตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 38.03% จากไตรมาสที่แล้ว

Advertisment

และหากมองในแง่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ก็พบว่า ไทยพาณิชย์มีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 10,313 ล้านบาท จาก 79,596 ล้านบาท ในไตรมาสก่อนมาเป็น 89,909 ล้านบาทในไตรมาส 3 ดังกล่าว ส่วนกสิกรไทยมีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจาก 94,441 ล้านบาท เป็น 96,743 ล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน

จบพักหนี้-NPLs ไม่จบลุ้น Q4

“ปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี กล่าวว่า ภาพรวมผลประกอบการแบงก์ที่ออกมา อาจจะยังไม่สะท้อนภาพเอ็นพีแอลที่แท้จริง เนื่องจากมาตรการพักชำระหนี้ออกมาเป็นเฟส ๆ ลูกหนี้จึงออกจากโครงการไม่พร้อมกัน โดยในเฟสแรกจะเห็นอาการของลูกหนี้สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัยก่อน โดยผลกระทบแต่ละธนาคารจะขึ้นอยู่กับพอร์ตสินเชื่อ ซึ่งทีเอ็มบี-ธนชาต ก็มีลูกค้าเหล่านี้ถึงราว 80%

ส่วนลูกค้ากลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอียังไม่สามารถบอกถึงอาการได้ซึ่งต้องรอดูภายหลังเดือน ต.ค.นี้ไปก่อน อย่างไรก็ดี คาดว่าในไตรมาส 4 จะเห็นต้นทุนความเสี่ยงของแบงก์ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการไหลเพิ่มขึ้นของหนี้เอ็นพีแอลยังคงมีอยู่

“เอ็นพีแอลในไตรมาส 4 ยังคงไหลเพิ่มขึ้น และสิ่งที่เราทำในไตรมาส 3 คือการตัดหนี้สูญให้ไว เพื่อกดให้หนี้เอ็นพีแอลอยู่ระดับต่ำ เพื่อให้สามารถรองรับเอ็นพีแอลใหม่ที่จะไหลเข้ามาอีก เปรียบเหมือนแก้มลิง ซึ่งเมื่อเราทำแบบนี้ย่อมกระทบต่อผลงบกำไร-ขาดทุน”

Advertisment

“ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์” กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า สิ่งที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป คือ ทิศทางของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า รวมถึงมาตรการของภาครัฐที่จะมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น การเปิดประเทศ เป็นต้น รวมถึงปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งในระยะต่อไปแบงก์ก็ยังคงให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพสินเชื่อและการดูแลลูกค้า

ควานหารายได้โปะกำไรลด

“ทวีลาภ” กล่าวว่า ส่วนทิศทางการหารายได้เพื่อมาชดเชยรายได้หรือกำไรที่อาจจะลดลงนั้น มี 3 ด้านที่แบงก์กรุงเทพทำ คือ 1.ควบคุมภาพสินเชื่อ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากเอ็นพีแอลที่มีผลต่อต้นทุนในการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น 2.ควบคุมค่าใช้จ่าย เช่น ลดกิจกรรมการตลาดลง หรือการลดต้นทุนสาขา เป็นต้น และ 3.เพิ่มรายได้ในบางธุรกิจ เช่น ผลิตภัณฑ์การลงทุน และประกัน เป็นต้น

ประคองลูกหนี้รอด-แบงก์รอด

“อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์” ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มการหารายได้ แบงก์คงต้องดิ้นหารายได้จากธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (wealth) เนื่องจากลูกค้ากลุ่มมั่งคั่งไม่ได้ถูกผลกระทบและยังพอมีรายได้ โดยจะเน้นให้บริการทางด้านผลิตภัณฑ์กองทุนรวมและผลิตภัณฑ์ประกันภัย

อย่างไรก็ดี ช่วงไตรมาส 4 นี้ คงต้องพิจารณาภาวะลูกหนี้ก่อนว่าจะเป็นอย่างไร เนื่องจากจะมีภาระการตั้งสำรองที่จะตามมา ซึ่งขณะนี้ยังต้องรอประเมินสถานการณ์ก่อน โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ยังติดต่อไม่ได้ที่มีอยู่ราว 5-10% ซึ่งมีทั้งรายย่อยและลูกหนี้เอสเอ็มอี

กำไรแบงก์ยังไม่ถึงจุดต่ำสุด

“นริศ สถาผลเดชา” หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า ผลกำไรของแบงก์ที่ออกมา น่าจะยังไม่ใช่จุดต่ำสุด โดยยังต้องจับตาดูระยะข้างหน้าอีก เนื่องจากงบฯไตรมาส 3 ที่ออกมา กำไรที่ลดลงส่วนใหญ่เกิดจากการตั้งสำรองในระดับสูง แต่เมื่อพิจารณาที่กำไรก่อนตั้งสำรอง ถือว่ายังไม่ได้กระทบมากนัก

“ปัญหาระบบแบงก์ตอนนี้คือ การตั้งสำรองที่สูง และคิดว่ายังต้องมีการตั้งสำรองต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ถึงต้นไตรมาส 1 ปีหน้า เพราะตอนนี้พอร์ตลูกค้ารายย่อยออกมาจากการพักชำระหนี้เกือบหมดแล้ว

แม้ตอนนี้ยังชำระได้ดี แต่ก็ต้องจับตางวดต่อ ๆ ไป ถ้าเศรษฐกิจยังชะลอ รายได้ยังหาย เขาจะผ่อนได้อีกกี่งวด นอกจากนี้ ในส่วนเอสเอ็มอีที่เพิ่งออกจากพักชำระหนี้วันที่ 22 ต.ค. จะเห็นผลกระทบก็อีก 90 วัน หรือช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า”

ทั้งนี้ ในช่วงหลังจบมาตรการพักหนี้เป็นต้นไป ประเด็นความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ถือเป็นความท้าทายอย่างมากของระบบแบงก์ ดังนั้นแบงก์ก็คงต้องเน้นตั้งสำรองให้ “เหลือดีกว่าขาด” จึงมีผลกระทบต่อกำไรที่จะลดลงต่อไป

“แนวโน้มเอ็นพีแอลจากนี้ก็จะยังเพิ่มขึ้น ยังไม่จบ ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้และไตรมาส 1 ปีหน้า ซึ่งการบริหารด้วยการตัดขายก็ทำได้จำกัด เพราะตลาดที่จะรับซื้อ ก็ค่อนข้างเต็มแล้ว ดังนั้นแบงก์ก็คงเน้นบริหารเองมากขึ้น”

แนะดูแลแบงก์ตั้งรับวิกฤตยาว

โดยหากเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น ก็คงต้องกลับมาดูว่าระบบแบงก์ช่วยเหลือลูกค้าอย่างไรได้บ้าง โดยที่ยังรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินไว้ได้ ซึ่งอาจจะต้องมีเรื่อง “wearhouse” เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือเอเอ็มซีแห่งชาติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับหนี้ที่มีปัญหา

รวมถึงผู้กำกับดูแลอาจจะต้องพิจารณาว่าเป็นไปได้หรือไม่ ว่าในภาวะโควิด-19 จะมีการผ่อนปรนให้การตั้งสำรองไม่กระทบกำไร แต่ให้ไป “กินทุน”แทน เพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาเสถียรภาพให้แก่ระบบธนาคารพาณิชย์

“ตอนนี้ระบบแบงก์มีทุนอยู่ในระดับที่สูงมาก พอที่จะให้ตัดได้ ก็เป็นทางออกทางหนึ่ง แต่ก็อาจต้องไปดูเรื่องมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ด้วย”

สำหรับแนวโน้มไตรมาส 4 “นริศ” มองว่า แบงก์คงไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องหารายได้เป็นประเด็นหลัก แต่คงเน้นประคองตัว และประคองลูกค้าให้ผ่านพ้นวิกฤตไปให้ได้มากกว่า โดยต้องดูแลไม่ให้ต้องตั้งสำรองมากเกินไป และบริหารเงินกองทุนกับสภาพคล่องให้ดี

ดังนั้น แนวโน้มข้างหน้าแบงก์คงเน้น “บริหารเชิงรับ” มากกว่าจะเน้นหารายได้นั่นเอง