โบลท์เทคกรุ๊ป ฮุบ “แฟรงค์อินชัวรันส์” รุกตลาดประกันไทยเต็มสูบ

ไฟไหม้ ร้านอหารแถวลาดพร้าว
เฟซบุ๊ก จส.100

“โบลท์เทคกรุ๊ป” ปิดดีลเทกกิจการ “แฟรงค์อินชัวร์รันซ์” 100% ต่อท่อขยายธุรกิจประกันในไทยครบวงจร สวมชื่อใหม่ “โบลท์เทค” ลุยธุรกิจอินชัวร์เทคที่รูปแบบไม่เหมือนใคร ตั้งเป้าขยายช่องทางตัวแทนขายประกันปีนี้ 6,000 คน ปักธงกวาดเบี้ย 1,000 ล้านบาทภายในปี 2566

นายบ๊อบ เวาเทอร์ส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอฟดับบลิวดีประกันภัย (FWD GI) ในฐานะผู้จัดการทั่วไป ประจำประเทศไทย โบลท์เทค กรุ๊ป เปิดเผยว่า กลุ่มแปซิฟิก เซ็นจูรี่ กรุ๊ป เจ้าของเอฟดับบลิวดี และบริษัทแม่ของโบลท์เทคกรุ๊ป ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ด้านอินชัวร์เทคของกลุ่ม ก่อตั้งเมื่อปี 2563 ปัจจุบันดำเนินธุรกิจอยู่ใน 3 ทวีป 14 ตลาดทั่วโลก ได้เข้าซื้อกิจการบริษัท แฟรงค์อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ (ประเทศไทย) ในสัดส่วนหุ้น 100% จากนักลงทุนไทย และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท โบลท์เทค อินชัวรันส์ โบรคเกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อขยายธุรกิจอินชัวร์เทคด้วยรูปแบบที่ไม่เหมือนใคร ผ่าน 3 ธุรกิจหลัก

ประกอบด้วย 1.การรับประกันอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ, สมาร์ททีวี, แล็ปทอป เป็นต้น ซึ่งเมื่อเดือน ส.ค. 2563 ได้ร่วมมือกับซัมซุง ออกผลิตภัณฑ์ซัมซุงแคร์พลัส (Samsung Care+) รับประกันโทรศัพท์มือถือ กรณีหน้าจอแตกจากอุบัติเหตุ และช่วงเดือน ธ.ค. 2563 ก็ได้จับมือลาซาด้า รับประกันมือถือไอโฟน 12 สำหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้าใหม่ผ่านแพลตฟอร์มลาซาด้า 2.ร่วมมือเอฟดับบลิวดีประกันภัย ซึ่งมีฐานลูกค้ามากถึง 2 ล้านราย และ 3.สร้างแพลตฟอร์มอินชัวร์เทค เอ็กซ์เชนจ์ ซึ่งจะเป็นช่องทางที่มีความสำคัญมากในระยะต่อไป

“ตั้งเป้าในปี 2566 โบลท์เทคจะมีเบี้ยประกันภัยเติบโตก้าวกระโดดไปสู่ 1,000 ล้านบาท หลังจากแฟรงค์อินชัวรันส์ดำเนินธุรกิจในไทยมา 5 ปี (2559-2563) มีเบี้ยประกันเติบโตเฉลี่ยปีละ 2 เท่า” นายเวาเทอร์สกล่าว

นายฮัรเปรม ดูวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารงานปฏิรูปนวัตกรรมธุรกิจ และหัวหน้าฝ่ายบริหารโบลท์เทค อินชัวร์เทค เอ็กซ์เชนจ์ ประเทศไทย กล่าวว่า โบลท์เทคจะไม่เหมือนโบรกเกอร์ทั่วไปที่ทำหน้าที่แค่เสนอขายสินค้า แต่ยังเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อกับพันธมิตรผ่านแพลตฟอร์มอินชัวร์เทค เอ็กซ์เชนจ์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ bolttech.co.th ที่จะสร้างรายได้หลัก 50%

Advertisment

ปัจจุบันมีธุรกรรมหลายพันกรมธรรม์ต่อเดือน ฐานลูกค้าหลายแสนคน ส่วนรายได้อีก 25% จะมาจากการสร้างพันธมิตร 2B2C ซึ่งมีพันธมิตรใหญ่คือ Rabbit Line Pay, บมจ.ปตท, traveloka, ไทยพาณิชย์ โพรเทค , ลาซาด้า และอีก 25% จากช่องทางตัวแทนที่ปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 1,900 คน จะเพิ่มเป็น 6,000 คนในสิ้นปีนี้

“ตั้งแต่เริ่มธุรกิจมา 1-2 ปีแรก (ปี 2559-2560) แทบจะไม่มีลูกค้าซื้อประกันผ่านออนไลน์ แต่ถ้าเทียบกับปี 2563 เราขายประกันบนออนไลน์ได้มากถึง 60-70% ของกรมธรรม์ทั้งหมด โดยไม่ผ่านคอลเซ็นเตอร์ และในอนาคตจะยิ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมไปถึงสินค้าที่ซื้อบนออนไลน์จะยิ่งซับซ้อนขึ้น เพราะลูกค้าเห็นว่าซื้อไม่ยาก ซึ่งถ้าติดปัญหายกเลิกได้เพราะมี free look period (การขอยกเลิกกรมธรรม์ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์)” นายดูวากล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันระบบเทคโนโลยีของโบลท์เทค นอกจากลูกค้าจะสามารถซื้อประกันผ่านหน้าเว็บไซต์บริษัทได้แล้ว ยังเปิดให้พันธมิตรและตัวแทนสามารถขายประกันผ่านระบบของบริษัทได้อีกด้วย ซึ่งการทำงานจะเชื่อมต่อผ่านระบบ API บนออนไลน์ทั้งหมด เพื่อไม่ให้ติดขัดเรื่องใบอนุญาตและการเชื่อมต่อกับบริษัทประกันต่าง ๆ

โดยปัจจุบันโบลท์เทคมีสินค้าประกันกว่า 10 ประเภท ร่วมมือกับ 15 พันธมิตรบริษัทประกันภัย ได้แก่ ประกันรถยนต์, ประกัน พ.ร.บ., ประกันโควิด, ประกันอุบัติเหตุ, ประกันโรคร้ายแรง, ประกันสุขภาพ, ประกันเดินทาง, ประกันสัตว์เลี้ยง, ประกันอัคคีภัย และประกันกลุ่ม

Advertisment

“เราจะไม่แข่งขันราคา แต่จะสู้ด้วยการบริการ แม้ว่าคู่แข่งในตลาดอินชัวร์เทคจะมีค่อนข้างมาก และส่วนใหญ่ทำตลาดด้วยการกดราคาลง หรือให้ส่วนลดเบี้ยค่อนข้างมาก แต่เราจะสร้างจุดแข็งผ่าน loyalty program ที่เรียกว่า penguin privilege สมมติลูกค้าซื้อประกัน พ.ร.บ.จะได้ส่วนลดจากพันธมิตร เช่น Agoda, Booking.com เป็นต้น” นายดูวากล่าว