ดอลลาร์อ่อนค่า รับความคืบหน้าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ

โจ ไบเดน สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า รับความคืบหน้าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังพรรคเดโมแครตผลักดันสำเร็จ ขณะที่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 29.93/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ค่าเงินบาทเปิดลาดเช้าวันนี้ (9/2) ที่ระดับ 29.96/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (8/2) ที่ระดับ 30.04/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ หลังนักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น หลังพรรคเดโมแครตประสบความสำเร็จในการผลักดันให้สภาคองเกรสให้ความเห็นชอบต่อแนวทางการพิจารณาอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แบบ Fast Track

โดยใช้แนวทางการจัดทำงบประมาณที่เรียกว่า Budget reconciliation ซึ่งจะช่วยปูทางให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสามารถให้การรับรองงบประมาณดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง แทนที่จะใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 สำหรับการผ่านกฎหมายทั่วไป

ส่งผลให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ ปธน.ไบเดนสามารถผ่านสภาคองเกรสโดยไม่จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรครีพับลิกัน นอกจากนี้สินทรัพย์เสี่ยงทั้งหลายยังได้แรงหนุนจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนในสหรัฐ

Advertisment

โดยรายงานล่าสุดระบุว่า นับจนถึงขณะนี้รัฐบาลได้ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับประชาชนแล้ว 32,780,860 โดส ในขณะเดียวกันตลาดเงินคริปโตฯยังปรับตัวสูงขึ้น โดย Bitcion และ Etherium แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังบริษัท Tesla Inc. ประกาศเข้าลงทุนใน Bitcion

ในส่วนของค่าเงินบาทเปิดตลาดแข็งค่าจากปิดตลาดเมื่อวานนี้ (8/2) ตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังคงปรับตัวในกรอบแคบ เนื่องจากตลาดยังคงรอปัจจัยสนับสนุนใหม่ ๆ อย่างไรก็ดีแม้ว่าสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยจะเริ่มดีขึ้น แต่รัฐบาลยังไม่มีการผ่อนคลายมาตรการในบางพื้นที่เสี่ยง

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 29.95-29.98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 29.93/94 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/2) ที่ระดับ 1.2058/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (8/2) ที่ระดับ 1.2027/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าเมื่อคืนที่ผ่านมา (8/2) จะมีการประกาศตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนจาก Sentix ออกมาที่ -0.2 ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 1.9

Advertisment

ในขณะเดียวกันนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ออกแถลงการณ์ว่า ทาง ECB จะยังคงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้เช่นเดิม เนื่องจากสถานกรณ์เศรษฐกิจยังไม่แน่นอน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2044-1.2116 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2113/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/2) ที่ระดับ 105.11/14เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (8/2) ที่ระดับ 105.60/62 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าจะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

อย่างไรก็ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังเป็นปัจจัยที่ต้องจับตา รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ และผลจากการฉีดวัคซีนว่าจะสามารถช่วยควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ตามคาดหรือไม่ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 104.52-105.26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 104.54/56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตญี่ปุ่น เดือนมกราคม (10/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน เดือนมกราคม (10/2), ดุลการค้าสหราชอาณาจักร ไม่รวมการค้ากับกลุ่มสหภาพยุโรป เดือนธันวาคม (10/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคเยอรมันเดือนมกราคม (10/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐเดือนมกราคม (10/2),

จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (11/2), การลงทุนภาคธุรกิจสหราชอาณาจักร เดือนมกราคม (12/2), ผลิตผลภาคอุตสาหกรรมสหภาพยุโรป เดือนธันวาคม (12/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครัฐมิชิแกนสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (12/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.35/0.45 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 2.60/3.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ