ธุรกิจตุนเงินลุย M&A หลังโควิด แห่ปั้น “บริษัทลูก” ขายหุ้นไอพีโอ

เงินบาท ตลาดหุ้น ปันผล
แฟ้มภาพ

เจาะเทรนด์ระดมทุนหลังโควิด ธุรกิจเร่งปรับ แห่วางแผนเข้าตลาดหุ้น “ธุรกิจครอบครัว-กลุ่มธุรกิจใหญ่” ซุ่มปรับโครงสร้าง spin-off บริษัทลูกกำไรงามเข้าจดทะเบียน บางกลุ่มมองโอกาสตุนเงินซื้อกิจการ “เกียรตินาคินภัทร” ชี้ภาพตลาดหุ้นไทยก้าวสู่ new economy ธุรกิจโลจิสติกส์-อีคอมเมิร์ซแห่เข้าจดทะเบียนเพิ่ม

เทรนด์ระดมทุนเปลี่ยน

นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ ประธานสายตลาดทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่ปรึกษาการระดมทุนรายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดภาพธุรกิจต่าง ๆ สนใจเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯเพิ่มมากขึ้น จากก่อนโควิดหลายธุรกิจที่มีความแข็งแรง ไม่ได้มีความสนใจการระดมทุน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจครอบครัว เพราะจากสถานการณ์โควิด สิ่งที่เกิดขึ้นทุกอย่างเปลี่ยนไป ธุรกิจถูกผลกระทบเป็นวงกว้าง

“ช่วง 6-7 เดือนแรกของการระบาด ทุกบริษัทอยู่ในช่วงปรับตัวให้อยู่รอด เก็บเงินสด หรือจะหาเงินจากไหน ขณะที่ภาพธุรกิจเปลี่ยน รายได้/กำไรหาย แต่ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่ไม่เคยคิดจะระดมทุน คนที่ไม่เคยคิดจะมาหาตลาดทุน เปลี่ยนความคิด เพราะสมัยก่อนหากต้องการเงินก็ไปกู้ธนาคาร แต่ช่วงโควิดแบงก์ระมัดระวังปล่อยกู้มากขึ้น เพราะกังวลหนี้เสีย ขณะที่ธุรกิจต้องไปต่อ

ตอนนี้คือธุรกิจสนใจเข้ามาระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯมากขึ้น การขายหุ้นไอพีโอ (IPO) กลับมาเป็นทางเลือกหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจครอบครัว หรือธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ใช้วิธีการ spin-off บริษัทลูกเข้าตลาดหุ้น ซึ่งปัจจุบันเกียรตินาคินภัทรอยู่ระหว่างพูดคุยกับหลาย ๆ บริษัท”

จุดเปลี่ยนธุรกิจครอบครัว

นายอนุวัฒน์กล่าวว่า เทรนด์ธุรกิจที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก คือ 1.ธุรกิจครอบครัว เดิมบริหารโดยครอบครัว ซึ่งไม่ใช่ไม่ดี เพราะบางคนทำกำไรปีละ 1-2 พันล้านบาท และธุรกิจครอบครัวไทยที่มีทรัพย์สิน 4-5 พันล้าน มีอีกจำนวนมาก

Advertisment

อย่างโรงงานแถวสมุทรสาคร แต่พอถูกผลกระทบโควิด ภาพธุรกิจเปลี่ยน จากเดิมเป็นเสือนอนกิน กลายเป็นเสือโดนข่วน ก็ต้องปรับเปลี่ยน กับอีกด้านคือเจเนอเรชั่นเปลี่ยน ลูก ๆ ไม่อยากทำกิจการโรงงานต่อ ดังนั้น สิ่งที่ทำได้คือการเปลี่ยนระบบ ครอบครัวให้เป็นสถาบัน ซึ่งการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯก็เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดี

“เพราะเมื่อเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯก็จะมีข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ต้องทำ ส่วนหนึ่งคือโครงสร้างต้องมีความโปร่งใส ไม่ให้มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เมื่อเป็นแบบนี้แล้วก็ไม่ยากที่จะหามืออาชีพเข้ามาบริหาร ส่วนเจ้าของก็เปลี่ยนเป็นผู้ถือหุ้น หรือเป็นบอร์ดแทน” นายอนุวัฒน์กล่าวและว่า

กรณีเห็นชัด เช่น บมจ.โอสถสภา (OSP) ซึ่งครอบครัวโอสถานุเคราะห์ทำธุรกิจมาเป็น 100 ปี มีความแข็งแรงมาก ซึ่งตัดสินใจขายหุ้นไอพีโอ และดึงมืออาชีพมาบริหารทั้งหมด โดยครอบครัวไม่เข้าไปยุ่ง ซึ่งตอนนี้ไปคุยกับสมาชิกในครอบครัวโอสถานุเคราะห์ ทุกคนก็บอกว่า เป็นการตัดสินใจถูกต้องที่สุด

Spin-off บริษัทลูกเข้าตลาด

นายอนุวัฒน์กล่าวต่อว่า อีกกลุ่มธุรกิจที่มีการเคลื่อนไหวชัดเจนก็คือ กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีการทำธุรกิจหลากหลายประเภท เห็นเทรนด์การทำ spin-off หรือการนำบริษัทลูกที่ธุรกิจเติบโตดี แยกมาระดมทุนขายหุ้นไอพีโอ เพราะภายใต้กลุ่มธุรกิจใหญ่ บางธุรกิจดี แต่บางธุรกิจไม่ดี อาจได้รับผลกระทบจากโควิด-19

Advertisment

ซึ่งการแยกธุรกิจที่ดีออกมาระดมทุน ก็จะทำให้บริษัทลูกสามารถรับรู้มูลค่าของตัวเองได้ และสามารถระดมทุนอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งบริษัทแม่ และถ้าไปได้ดีก็จะส่งราคาไปให้บริษัทแม่ด้วย

“ผลกระทบจากโควิดทำให้เราเห็นเทรนด์นี้เยอะมากขึ้น จากที่ผ่านมามีบริษัทขนาดใหญ่หลายรายก็ดำเนินการมาก่อนแล้ว และมาเริ่มเห็นการไอพีโอในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT บริษัทลูกของ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี ซึ่งในช่วงโควิดหนุนยอดขายถุงมือยางโตมหาศาล

หรืออย่าง บมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งถ้าไม่นำบริษัทลูกไม่จดทะเบียนเลย ปตท.จะมีทั้งธุรกิจแก๊ส โรงกลั่น ปิโตรเคมี ธุรกิจไฟฟ้า ไปจนถึงค้าปลีก ซึ่งแต่ละบริษัทการให้มูลค่าจะไม่เหมือนกัน ถ้าทุกอย่างรวมอยู่ในพอร์ตเดียว สิ่งที่เกิดขึ้นจะเรียกว่า holding discount คือมูลค่าถูกลดจากการคิดเฉลี่ยรวมกัน” นายอนุวัฒน์กล่าว

ยักษ์ตุนเงินไว้ซื้อกิจการ

นายอนุวัฒน์กล่าวเพิ่มว่า อีกภาพที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตคือ จะมีทั้งธุรกิจอ่อนแอ และธุรกิจแข็งแรง โดยจะเห็นการระดมทุนของธุรกิจที่แข็งแรง เพื่อนำเงินไปซื้อกิจการ (M&A) เพราะเห็นทรัพย์สินที่มีปัญหา แต่ยังสามารถเทิร์นกลับมาได้ เพียงแต่เจ้าของเดิมสายป่านไม่ไหว จึงเป็นโอกาสที่ทำให้คนแข็งแรงเข้าไปช็อปปิ้งซื้อกิจการ ไม่ใช่เฉพาะในไทย ธุรกิจในต่างประเทศก็เหมือนกัน ตอนนี้เห็นมากที่สุด คือ ธุรกิจโรงแรม เพราะอยู่ไม่ได้

“ภาพของดีล M&A ตอนนี้เริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้น เพราะเกิดโควิด 2 รอบ ทุกธุรกิจเจอผลกระทบหมด ส่งผลให้มีการปลดคน ลดต้นทุน ธุรกิจที่อยู่ไม่ไหวต้องเริ่มขายทรัพย์สินออกมา”

นายอนุวัฒน์กล่าวว่า สำหรับในมุมของธุรกิจที่แข็งแรง ถ้าต้องการไปซื้อกิจการหลาย ๆ ธุรกิจ แหล่งเงินทุนก็อาจจะไม่พอ เพราะฉะนั้น การระดมทุนขายหุ้นไอพีโอจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะนำเงินไปซื้อกิจการ ซึ่งเทรนด์ M&A มีมาก่อนแล้ว แต่ช่วงโควิดระบาดก็หยุดชะงักไป

และเชื่อว่าเมื่อเปิดประเทศ วัคซีนเริ่มเห็นผลจริง ๆ จะเริ่มเห็นแอ็กทิวิตี้ของการทำดีลซื้อกิจการกลับมาเพิ่มขึ้น ซึ่งทุกครั้งที่เกิดวิกฤตจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ของการซื้อขายกิจการมากขึ้น ตอนนี้ในแวดวง investment banking ก็เห็นภาพนี้กันทั้งตลาด

สำหรับบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร ตอนนี้ก็อยู่ระหว่างพูดคุยกับหลาย ๆ บริษัท ซึ่งภาพก็จะออกมาให้เห็นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เพราะปกติการที่จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนจะต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรเตรียมความพร้อมอย่างน้อย 2-3 ปี

สำหรับปีนี้ตามแผนที่จะมีการขายไอพีโอก็มีบริษัท เงินติดล้อ ซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และมีอีก 1-2 ดีลที่จะออกมาในปีนี้

อนาคตตลาดทุนไทยไปต่อ

นายอนุวัฒน์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เทรนด์ของธุรกิจ new economy ที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ภาพจะชัดขึ้นในอีก 1-2 ปีข้างหน้า อย่างธุรกิจโลจิสติกส์ หรืออีคอมเมิร์ซ เริ่มเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น รวมถึงบริษัทข้ามชาติในประเทศเพื่อนบ้านก็สนใจเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยอยู่พอสมควร โดยมีบริษัทจากเมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม ที่อยู่ระหว่างการพูดคุย แต่อาจไม่ใช่ภายใน 1-2 ปีนี้ เพราะยังมีหลายปัจจัยต้องพิจารณา

ทียูดัน TFM ขายไอพีโอปลายปี

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เปิดเผยว่า เตรียมนำบริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ จำกัด หรือ TFM ผู้ผลิตอาหารสัตว์ กุ้ง ปลา เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯปลายปีนี้ เพื่อรองรับแผนขยายการลงทุนในอินโดนีเซีย ปากีสถาน และศรีลังกา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นไฟลิ่ง

โดยปีที่แล้วบริษัทชะลอการลงทุน แต่ปีนี้จะกลับมาลงทุนมากขึ้น หลังจากปลายปีที่ผ่านมา อัตราส่วนหนี้ต่อทุนของบริษัทลดลงไปอยู่ที่ 0.94 ชี้ให้เห็นว่าสถานะการเงินของบริษัทเข้มแข็ง มีความพร้อมในการซื้อและควบรวมกิจการ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การเติบโตของบริษัท ซึ่งมองว่าโอกาสในการลงทุนจะมีต่อจากนี้ไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า

แห่ปั้นบริษัทลูกเข้าตลาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ในช่วงปี 2563-2564 มีบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่แตกบริษัทลูกและนำเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นหลายราย อาทิ 1.บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ส่งบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ขายไอพีโอ มูลค่าระดมทุน 39,464 ล้านบาท

2.บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ส่งบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (STGT) ขายไอพีโอ มูลค่าระดมทุน 14,904 ล้านบาท

3.บมจ.ปตท. (PTT) ส่งบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ขายไอพีโอ มูลค่าระดมทุนรวม 46,980 ล้านบาท

ส่วนบริษัทที่เตรียมเสนอขายโดยยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต.เรียบร้อยแล้ว คือ บมจ.ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป (TU) ส่งบริษัท ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ (TFM) เตรียมขายไอพีโอ 109.3 ล้านหุ้น และ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART) ส่งบริษัท เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ (SAV) เตรียมขายไอพีโอไม่เกิน 224 ล้านหุ้น และ บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ได้ส่งบริษัท เงินติดล้อ (TIDLOR)

นอกจากนี้ ยังมี บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) ที่ประกาศจะส่งบริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป (CJ Express) ทำธุรกิจค้าปลีกร้านสะดวกซื้อ เข้าระดมทุนในตลาดหุ้นเช่นกัน โดยตามแผนจะยื่นไฟลิ่งในไตรมาส 2/65 ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดโครงสร้างภายในองค์กร