กรมบัญชีกลางรื้อกฎหมายยกแผง จัดระบบ “สวัสดิการ”-แก้จัดซื้อจัดจ้างอืด

ข้าราชการ-1

อธิบดีกรมบัญชีกลางคนใหม่ ประกาศรื้อกฎหมายด้านสวัสดิการ “ข้าราชการ-พนักงานของรัฐ” ยกแผง เล็งจัดระบบ “ค่าเช่าบ้าน-ค่ารักษาพยาบาล” ให้ปฏิบัติง่าย ทบทวน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างอุดช่องโหว่แก้ปัญหาแห่อุทธรณ์ฉุดโครงการเดินไม่ได้-กระทบเบิกจ่ายรัฐ พร้อมปักธงบี้หน่วยงานเบิกจ่ายเข้าเป้า 3.28 ล้านล้านบาท

นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ตนเข้ามารับตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลางแล้ว ก็ได้มีนโยบายที่จะปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรม อย่างเช่น การเร่งจัดระบบกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการของข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือพนักงานของรัฐ ที่ปัจจุบันค่อนข้างกระจัดกระจาย จึงต้องทำให้เกิดความง่ายในทางปฏิบัติ ด้วยการรวบให้อยู่ในฉบับเดียวกัน

พร้อมกับปรับปรุงข้อกฎหมายที่บางส่วนอาจจะล้าสมัยไปแล้วด้วย ซึ่งอาจจะให้สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) รวมถึงอาจจะดึงทางสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกา คณะปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน เข้ามาร่วมดำเนินการด้วย

ประภาศ คงเอียด

ทั้งนี้ นอกจากกฎหมายแม่แล้ว ยังรวมถึงหนังสือเวียนต่าง ๆ ก็จะมีการรวบรวม หรือแนวปฏิบัติที่เคยออกไปแล้ว หากมีความจำเป็นที่จะนำมาเขียนไว้ในกฎหมาย ก็จะดำเนินการ หรือยกร่างกฎหมายลูก เพื่อให้ขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ๆ ง่ายและเป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น

“ปัจจุบันกฎหมายด้านสวัสดิการของข้าราชการที่มีอยู่ กระจัดกระจายกันอยู่ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่ารักษาพยาบาล จะทำให้เป็นกฎหมายฉบับเดียว เพื่อให้เกิดความง่ายในการปฏิบัติ ส่วนใดที่ล้าสมัยก็ถือโอกาสปรับแก้ด้วย เป็นการปรับปรุงให้ครบถ้วนสมบูรณ์

Advertisment

เพราะการที่กฎหมายกระจัดกระจายกันอยู่คนละฉบับ จะต้องมีการตีความกฎหมายเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะ แต่ถ้าให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน จะทำให้เกิดความง่ายทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งผู้ปฏิบัติตามด้วย และจะเข้าไปดูว่าส่วนใดที่สามารถทำให้เอกชนเข้ามาสนับสนุน เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ได้ เช่น การเบิกจ่าย เป็นต้น ซึ่งจะทำให้โปร่งใสมากขึ้น” นายประภาศกล่าว

ส่วนกรณีการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีปัญหาก่อนหน้านี้ เรื่องดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมบัญชีกลางเป็นผู้เบิกจ่ายเงินให้ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานจะประสานบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก

“สวัสดิการผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่มีกฎหมายเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย
ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หรือกฎหมายภายใต้กระทรวงมหาดไทย อย่างไรก็ดี กรมบัญชีกลางจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานมีความง่ายขึ้น และเกิดความชัดเจน” นายประภาศกล่าว

นายประภาศกล่าวอีกว่า ในส่วนของพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างก็จะเข้าไปพิจารณาด้วย เพราะหลังจากที่ พ.ร.บ.ใช้มาได้ระยะหนึ่งก็พบว่า มีปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติหลายประเด็นพอสมควร เช่น กระบวนการในการโต้แย้ง การอุทธรณ์ต่าง ๆ ในกรณีที่ไม่มีความจำเป็น หรือมีการกระทำลักษณะการโต้แย้ง หรืออุทธรณ์ เพื่อประวิงไม่ให้โครงการเดินหน้าไปในระยะเวลาที่ควรจะเป็น ซึ่งเมื่อมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่เช่นนี้ จึงมีปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า รวมถึงปัญหาการกันงบประมาณเหลื่อมปี

Advertisment

“จะเร่งติดตามแก้ปัญหาอุทธรณ์โดยเร็ว โดยตอนนี้ได้ให้มีการรวบรวมข้อมูลปัญหาการอุทธรณ์ให้ชัดเจน เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป” นายประภาศกล่าว

อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวด้วยว่า ส่วนนโยบายการเบิกจ่ายงบประมาณในปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 2563-ก.ย. 2564) นี้ จะต้องเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 3.28 ล้านล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจยังหวังพึ่งค่าใช้จ่ายภาครัฐ ดังนั้น หน้าที่ของกรมบัญชีกลาง คือ ต้องพยายามติดตามแก้ปัญหาในเรื่องที่ติดขัด เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด โดยกรมบัญชีกลางใช้ระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐ แบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) ซึ่งทำให้การเบิกจ่ายมีความสะดวกง่ายขึ้น

“เราจะต้องติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง โดยจะพยายามกวดขันให้หน่วยรับงบประมาณทั้งหลายต้องเบิกจ่ายให้เป็นไปตามที่กำหนด” อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าว

รายงานจากกรมบัญชีกลางเปิดเผยว่า ผลการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2564 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนล่าสุด ณ วันที่ 5 มี.ค. 2564 (5 เดือน) มีการเบิกจ่ายในภาพรวมแล้วทั้งสิ้น 1.318 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 40.12% ของงบประมาณรายจ่ายกว่า 3.28 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ เบิกจ่ายแล้ว 1.19 ล้านล้านบาท หรือ 45.39% และรายจ่ายลงทุน เบิกจ่ายแล้ว 121,100 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18.67% ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายแล้วทั้งสิ้น 1.43 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 41.04% ของเม็ดเงินทั้งสิ้น 3.5 ล้านล้านบาท