คปภ.ระดมความเห็นเครือข่ายผู้บริโภค แห่ “ค้าน” ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียน

ประกันโควิด-19

คปภ.เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเครือข่ายผู้บริโภคประสานเสียง “ค้าน” ยกเลิกคำสั่งที่ 38/2564 หวั่นผู้บริโภคถูกลอยแพ เตรียมนำข้อมูลเสนอบอร์ด คปภ. ประกอบการตัดสินใจในการพิจารณาข้อเรียกร้องของสมาคมประกันวินาศภัยไทย

วันที่ 19 มกราคม 2565 รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน คปภ.ได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เพื่อไม่ให้บริษัทประกันภัยบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยแบบเหมาเข่ง และหลังจากที่มีการออกคำสั่งดังกล่าวไปนั้น ปรากฏว่าบริษัทประกันภัยต่าง ๆ รวมทั้งสมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ออกมาขานรับและพร้อมยืนยันจะให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยจนสิ้นสุดสัญญาประกันภัย

ต่อมาเมื่อช่วงปลายปี 2564 มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบต่อการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัย ปรากฏว่าสมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ทำหนังสืออุทธรณ์การออกคำสั่งที่ 38/2564 ต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) เพื่อเปิดช่องให้บริษัทประกันภัยสามารถบอกเลิกประกันภัยโควิดแบบเจอจ่ายจบ ด้

ซึ่งสำนักงาน คปภ.อยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกรอบระยะเวลาเพื่อเสนอความเห็นบอร์ด คปภ.พิจารณาต่อไป และเพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนสำนักงาน คปภ.จึงได้เชิญตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงประกอบด้วย นายกสมาคมส่งเสริมและคุ้มครองผู้บริโภค ประธานสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภค และประธานมูลนิธิกลุ่มเส้นด้าย มาประชุมร่วมกันเพื่อระดมความเห็นและให้ข้อแนะนำว่า ทิศทางการดำเนินการในเรื่องนี้ควรเป็นอย่างไร

Advertisment

องค์กรผู้บริโภคชี้คำสั่ง คปภ.ถูกต้อง

นายอุฬาร จิ๋วเจริญ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีความเห็นว่า การออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เป็นการออกคำสั่งที่ถูกต้องและมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยโดยเห็นว่านายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย ในส่วนของบริษัทประกันภัยที่ใช้สิทธิในการบอกเลิกสัญญา แม้ว่าในสัญญาประกันภัยจะมีข้อสัญญาให้สามารถบอกเลิกสัญญาได้ก็ตาม

แต่เห็นว่ากรณีดังกล่าวต้องเป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยสุจริตตามมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยในขณะเข้าทำสัญญาประกันภัย บริษัทประกันภัยจะต้องคาดหมายได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดจะมีความรุนแรงแค่ไหน และจะมีผลกระทบทางด้านสาธารณสุขที่บริษัทประกันภัยจะสามารถรับมือได้หรือไม่

บริษัทประกันภัยจะต้องมีการวางแผนรับความเสี่ยงอยู่แล้วก่อนออกผลิตภัณฑ์ โดยไม่สามารถอ้างได้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิดมีผลต่อการบริหารความเสี่ยง ภายหลังที่มีการออกผลิตภัณฑ์แล้ว การที่บริษัทประกันภัยเข้าทำสัญญาประกันภัย จึงเป็นการตกลงรับความเสี่ยงจากผลของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่สามารถคาดหมายและรับมือไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว

“กรณีนี้หากนายทะเบียนยินยอมให้บริษัทประกันภัยเลิกสัญญาได้ฝ่ายเดียว ซึ่งขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 5 ก็เท่ากับเป็นการยินยอมให้บริษัทประกันภัยหลอกลวงผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นผู้บริโภคในการเข้าทำสัญญาเพื่อประโยชน์ฝ่ายเดียวของบริษัท ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตในการบอกเลิกกรมธรรม์ หากมีการยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว สภาองค์กรของผู้บริโภคและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้บริโภคโดยการฟ้องคดีแทนผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเชิงลงโทษให้แก่ผู้บริโภคได้ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551”

Advertisment

นายคริส โปตระนันทน์ ประธานมูลนิธิกลุ่มเส้นด้ายมีความเห็นว่า กลุ่มเส้นด้ายได้มีการโพสต์ประเด็นการยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ในเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มเส้นด้าย ซึ่งมีผู้ติดตามประมาณ 500,000 ราย และได้รับทราบความคิดเห็นจากประชาชน

โดยพบว่าประมาณ 99.50 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนที่แสดงความเห็น ไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้สำนักงาน คปภ.ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว และมีหลายความเห็นตอบกลับมาว่า ตอนนี้มีความยากลำบากมากอยู่แล้ว การที่ประกันภัยเข้ามาช่วยเหลือก็สามารถเยียวยาความเสียหายในกรณีที่มีบุคคลในครอบครัวติดเชื้อโควิด ซึ่งถือเป็น Financial Loss เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อจะไม่สามารถทำงานได้ ดังนั้น จึงเห็นว่าสำนักงาน คปภ. ควรยืนตามคำสั่งนายทะเบียนเดิม

ในส่วนของข้อกฎหมายเห็นว่า แม้จะมีการระบุไว้ในข้อสัญญา แต่การบอกเลิกสัญญาในลักษณะดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หากปล่อยให้บริษัทประกันภัยยกเลิกกรมธรรม์ได้ ก็จะส่งผลให้มีคดีเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมาก

โดยก่อนที่บริษัทประกันภัยจะออกผลิตภัณฑ์นี้ บริษัทประกันภัยน่าจะเห็นตัวอย่างการแพร่ระบาดของโรคโควิดจากต่างประเทศมาบ้างแล้ว กรณีนี้ประชาชนจะมองว่า บริษัทประกันภัยแสวงหาแต่ผลกำไร แต่พอบริษัทประกันภัยจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวนมากก็จะยกเลิกกรมธรรม์ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับประชาชน

“อย่างไรก็ดี มีความเห็นของประชาชนส่วนหนึ่งเห็นว่า หากจะมีการเลิกกรมธรรม์และคืนเบี้ยประกันภัย การคืนเบี้ยประกันภัยไม่ควรเป็นการคืนแบบเป็นสัดส่วน (Pro Rata) แต่ควรคืนเบี้ยประกันภัยให้ผู้เอาประกันภัยเต็มจำนวนเสมือนว่าไม่เคยเกิดสัญญาขึ้นเลย เป็นกรณีการเข้าทำสัญญาโดยสำคัญผิดในสาระสำคัญ ซึ่งอาจจะบวกดอกเบี้ยด้วย ในส่วนของข้อกฎหมายเห็นว่าสัญญาประกันภัยเป็นสัญญาสำเร็จรูปที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540”

หวั่นประกันภัยอื่น ๆ ถูกบอกเลิกด้วย

นายวิทยา แจ่มกระจ่าง ประธานสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานครมีความเห็นว่า กรณีดังกล่าวบริษัทประกันภัยอ้างว่าจะฟ้องร้องสำนักงาน คปภ.หากไม่ยอมยกเลิกคำสั่งนายทะเบียน ในมุมกลับกันหากสำนักงาน คปภ.ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว ประชาชนก็จะฟ้องร้องสำนักงาน คปภ.เช่นกัน ดังนั้นหากบริษัทประกันภัยเห็นว่าบริษัทสามารถบอกเลิกสัญญาประกันภัยได้ ประชาชนก็อาจจะบอกเลิกสัญญาประกันภัยอื่น ๆ ที่ทำกับบริษัทได้เช่นกัน

เช่น กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ หรือกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะเป็นผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง และอาจมีการรณรงค์ไม่ให้ประชาชนทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยดังกล่าว เนื่องจากมีปัญหาในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วยที่สำนักงาน คปภ. จะยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว หากสำนักงาน คปภ.ถูกฟ้องประชาชนรวมทั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค และสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดจะยืนเคียงข้างสำนักงาน คปภ. การประกันภัยเป็นการทำสัญญารายปี เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วบริษัทประกันภัยก็อาจจะไม่ขายกรมธรรม์ประเภทดังกล่าวต่อได้ ซึ่งดีกว่าการยกเลิกกรมธรรม์ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน

หนุน คปภ.ยืนยันไม่ยกเลิกคำสั่ง

นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ผู้แทนจากสภาองค์กรของผู้บริโภคมีความเห็นว่า สนับสนุนให้สำนักงาน คปภ.ไม่ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว เพราะหากสำนักงาน คปภ.ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว สำนักงาน คปภ.อาจถูกบริษัทประกันภัย 2 บริษัทที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตไปก่อนหน้านี้ฟ้องร้องเนื่องจากไม่ได้ดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ในส่วนของทางเลือกในการคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัย เห็นว่าควรเสนอทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถขอคืนเบี้ยประกันภัยได้ 5-10 เท่าของจำนวนเบี้ยประกันภัย เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคยอมรับเงินค่าเบี้ยประกันภัยจำนวนดังกล่าว และดูแลตนเองไม่ให้ติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งเป็นทางเลือกในการแก้ไขปัญหาให้แก่ภาคอุตสาหกรรมได้ และหากผู้บริโภคยอมรับเงื่อนไขข้อนี้ได้ก็จะเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย

นางสาวกรกนก ใจแกล้ว ผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภคมีความเห็นว่า เห็นด้วยกับสำนักงาน คปภ.ที่ไม่ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว เพราะการยกเลิกสัญญาประกันภัยเป็นการดำเนินการที่ผิดต่อกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 5 ในเรื่องความสุจริตในการทำสัญญาและขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540

โดยขอเสนอแนวทางเพิ่มเติมที่จะทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ว่า กรณีนี้สำนักงาน คปภ.อาจจะมีมาตรการผ่อนปรนระยะเวลาที่บริษัทจะสามารถชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่อาจจะเข้าข่ายเป็นความผิดฐานประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยขยายระยะเวลาการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้มากกว่าเดิม โดยให้บริษัทประกันภัยจัดทำรายงานเกี่ยวกับจำนวนผู้เอาประกันภัยที่ทำประกันภัยโควิด-19 ทั้งหมด โดยแบ่งประเภทให้ชัดเจน และมีการแยกจำนวนผู้เอาประกันภัยที่บริษัทประกันภัยยังค้างจ่ายค่าสินไหมทดแทน หรืออยู่ในระหว่างที่กรมธรรม์ประกันภัยยังคงมีความคุ้มครองอยู่เป็นจำนวนเท่าใด

“จะทำให้บริษัทประกันภัยทราบภาระการจ่ายค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด และสามารถวางแผนการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ว่า การจ่ายค่าสินไหมทดแทนในอนาคตจะจ่ายเป็นจำนวนเท่าใด และจ่ายในรูปแบบใด โดยการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอาจจะมีลำดับคิวการจ่าย โดยมีการแจ้งระยะเวลาในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยทราบอย่างชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทประกันภัยมักจะขอผ่อนผันระยะเวลาการจ่ายค่าสินไหมทดแทน แล้วก็ไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด”

ชี้ความคุ้มครองใกล้หมดอายุแล้ว

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ ผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภคมีความเห็นว่า ขณะนี้กรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 เหลือระยะเวลาความคุ้มครองอยู่อีกไม่มาก และจำนวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนก็จะมีไม่มาก เนื่องจากปัจจุบันมีระบบการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วยกับการที่จะให้บริษัทประกันภัยสามารถยกเลิกสัญญาประกันภัยได้ เพราะเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน และเป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้บริโภค โดยบริษัทประกันภัยจะต้องมีการประมาณการค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทจะต้องจ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว

“เมื่อมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น บริษัทก็ยังคงขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ต่อไป เห็นว่าบริษัทประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามข้อตกลงของสัญญา โดยเห็นว่าระยะเวลาความคุ้มครองยังคงเหลืออยู่ไม่มาก และขณะนี้ประชาชนก็ดำเนินการฟ้องร้องบริษัทประกันภัยอยู่แล้ว หากสำนักงาน คปภ.ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว บริษัทประกันภัยก็จะใช้ข้ออ้างที่สำนักงาน คปภ.ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนมาเป็นข้อต่อสู้ต่อประชาชน ซึ่งจะเป็นการสร้างภาระและสร้างปัญหาให้แก่ประชาชนเป็นอย่างยิ่ง”

นายพานิชย์ เจริญเผ่า นายกสมาคมส่งเสริมและคุ้มครองผู้บริโภคมีความเห็นว่า ปัจจุบันระยะเวลาความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 จะสิ้นสุดความคุ้มครองทั้งหมดประมาณเดือนมิถุนายน 2565 ในส่วนประเด็นข้อกฎหมายเห็นว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และเป็นการทำสัญญาด้วยความสมัครใจ ไม่ได้มีการบังคับ บริษัทประกันภัยก็เป็นคู่สัญญาด้วย เรื่องนี้จึงไม่ได้เป็นความผิดของผู้บริโภคแต่อย่างใด

จึงเห็นว่าสำนักงาน คปภ.เป็นผู้รักษาขั้นตอนของกฎหมาย หากสำนักงาน คปภ.กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็จะถูกประชาชนฟ้องร้องเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

ดังนั้น สำนักงาน คปภ.ไม่ควรยกเลิกคำสั่งนายทะเบียน เนื่องจากการทำสัญญาประกันภัยเป็นความสมัครใจทั้งสองฝ่าย ในปีแรกบริษัทประกันภัยมีรายได้จากการขายกรมธรรม์ประกันภัยประเภทนี้จำนวนมาก จึงไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค

เสนอทางออก 4 มาตรการแก้ปัญหา

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง โดยที่ประชุมทุกฝ่ายเห็นพ้องตรงกันว่า หากยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 และยินยอมให้บริษัทประกันภัยสามารถยกเลิกกรมธรรม์ต่อผู้เอาประกันภัยทุกรายโดยที่ผู้เอาประกันภัยมิได้กระทำผิดในข้อสาระสำคัญย่อมขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 จะส่งผลให้มีคดีเข้าสู่ศาลเป็นจำนวนมาก เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการประกันภัย และทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในระบบประกันภัย

รวมไปถึงประชาชนก็อาจจะบอกเลิกสัญญาประกันภัยอื่นๆ ที่ทำกับบริษัทประกันภัยได้เช่นกัน ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะเป็นผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ที่ประชุมจึงมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าควรยืนตามคำสั่งนายทะเบียน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีข้อแนะนำแนวทางหรือมาตรการต่าง ๆ แก้ไขปัญหา 4 มาตรการดังนี้ 1.มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยอาจจะเป็นการจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่บริษัทประกันภัยเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทประกันภัยให้สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้

2.มาตรการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยเมื่อมีกรณีที่ผู้เอาประกันภัยใช้สิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ ให้บริษัทประกันภัยสามารถผ่อนจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยแต่ละรายได้

3.มาตรการผ่อนปรนระยะเวลาเพื่อให้บริษัทประกันภัยสามารถยืดหรือขยายระยะเวลาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจน ซึ่งเมื่อมีการขยายระยะเวลาดังกล่าวแล้ว หากบริษัทประกันภัยรายใดไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนภายในระยะเวลาที่กำหนดจะต้องมีการคิดดอกเบี้ยหรือเงินเพิ่มกรณีผิดนัด หรือเบี้ยปรับเชิงลงโทษเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่อไป

และ 4.มาตรการยื่นข้อเสนอคืนเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยในจำนวนที่เหมาะสม เช่น การคืนเบี้ยประกันภัยเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ยหรือคืนเบี้ยประกันภัยจำนวน 5-10 เท่าของเบี้ยประกันภัยเดิม

ทั้งนี้ จะได้นำข้อแนะนำที่ได้ประมวลกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอความเห็นของสำนักงานประกอบการพิจารณาของบอร์ด คปภ.ต่อไป