เงินบาทแข็งค่า จับตาสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

ดอลลาร์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/2) ที่ระดับ 32.60/62 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/2) ที่ระดับ 32.70/72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทยังได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ซึ่งระหว่างวันที่ 7-11 ก.พ. มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท และ 4.7 หมื่นล้านบาทตามลำดับ

นอกจากนี้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่องในวันจันทร์ (14/2) หลังจากผู้ส่งออกทองคำเทขายเงินดอลลาร์ในขณะที่ราคาทองคำดีดตัวขึ้นถึงระดับ 1,860 ดอลลาร์/ออนซ์ ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหารัสเซียและยูเครน ในส่วนของตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยนั้น นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปในปี’65 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 1.7% โดยปรับเพิ่มตามราคาน้ำมันและราคาเนื้อสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี’65 มีแนวโน้มสูงกว่ากรอบเป้าหมายในช่วงแรกของปีนี้ และมีแนวโน้มปรับลดลงในช่วงหลังของปี โดยอัตราเงินเฟ้อล่าสุด ณ เดือน ม.ค. ปรับเพิ่มมาที่ 3.23%

สำหรับปัจจัยในต่างประเทศนั้น นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินเดือน มี.ค.นี้ หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 7.5% ในเดือน ม.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2525 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.2% จากระดับ 7.0% ในเดือน ธ.ค.

ในขณะเดียวกัน นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์กว่า เขาสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% ภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่เปิดเผยในวันศุกร์ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 61.7 ในเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตังแต่ปี 2554 จากระดับ 67.2 ในเดือน ม.ค. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 67.5 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.47-32.66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.52/54 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (14/2) ที่ระดับ 1.1355/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/2) ที่ระดับ 1.1389/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าหลังถูกกดดันจากสถานการณ์ปัญหาระหว่างรัสเซียและยูเครน นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี (Destatis) ได้เปิดเผยข้อมูล ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ชะลอตัวลงสู่ระดับ 4.9% ในเดือน ม.ค. ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขการประมาณการของทางธนาคารกลางยุโรปว่าความกดดันทางภาวะเงินเฟ้อจะทยอยปรับตัวลดลงซึ่งจะลดความจำเป็นในการปรับนโยบายการเงิน โดยระหว่างวันค่าเงินยูเครนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1304-1.1365 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1309/12 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/2) ที่ระดับ 115.37/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (11/2) ที่ระดับ 116.05/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนกลับสู่ความต้องการในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลระหว่างปัญหารัสเซียและยูเครน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจจะบุกยูเครนในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 115.01-115.56 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 115.02/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ม.ค. (15/2), ยอดค้าปลีกเดือน ม.ค. (16/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ม.ค. (16/2), คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุม (17/2), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (17/2), การเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือน ม.ค. (17/2), ยอดขายบ้านมือสองเดือน ม.ค. (18/2) และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน ม.ค. จาก Conference Board (18/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.4/+0.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.0/1.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ

Advertisment