ความท้าทายใหม่ Alibaba กับรายได้ที่โตต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

Alibaba
คอลัมน์ : สถานีลงทุน
ผู้เขียน : สวภพ ยนต์ศรี  บลจ.ทิสโก้

Alibaba บริษัท e-Commerce รายใหญ่ของจีนต้องเผชิญกับปัญหารุมเร้าหลายด้านจากกฎการควบคุมที่รัฐบาลจีนออกมาในช่วง 1-2 ปีหลัง ไม่ว่าจะเป็น การโดนคำสั่งปรับจากรัฐบาลจีนกว่า 2,800 ล้านดอลลาร์ ในข้อหาผูกขาดการค้า หรือจะเป็นคำสั่งการห้ามนำหุ้นเข้าจดทะเบียนซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท Ant Group ที่เป็นส่วนหนึ่งในการขยายฐานรายได้จากธุรกิจ Fintech รวมถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น การรักษาข้อมูลของผู้ใช้ที่จะทำให้บริษัททำธุรกิจได้ยากมากยิ่งขึ้น

ซึ่งในไตรมาสล่าสุด ปัญหาต่าง ๆ ที่บริษัทต้องเผชิญจากกฎเกณฑ์ของรัฐบาลก็ได้สะท้อนออกมาที่รายได้ของบริษัท ถึงแม้รายได้จะยังเติบโตได้ถึง 10% แต่ก็ถือเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่บริษัทนำหุ้นเข้าจดทะเบียนซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเดือน ก.ย. 2014 และยังเติบโตได้ชะลอลง เมื่อเทียบกับการเติบโตได้ 29% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งในการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัท ผู้บริหารยังได้ออกมายอมรับว่า ปัญหาที่บริษัทต้องเผชิญยังคงมีประเด็นอื่นอีกที่อยู่นอกเหนือจากมาตรการควบคุมต่าง ๆ ที่ออกมาโดยรัฐบาลจีน

เริ่มจากการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่สามารถกลับมาได้เต็มศักยภาพเหมือนในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เนื่องจากจีนยังคงปิดประเทศและยังคงใช้นโยบายในการจัดการกับการแพร่ระบาดด้วยการคุมเข้มในการตรวจเชื้อและปิดสถานที่เป็นบางแห่งเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ต่างกับหลายประเทศในยุโรปและสหรัฐที่เริ่มจะผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ และเน้นไปที่การเปิดเศรษฐกิจ โดยให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงกับช่วงเวลาปกติมากที่สุด

ซึ่งแน่นอนว่า แนวทางการควบคุมโรคระบาดของจีนส่งผลมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ตัวเลขค้าปลีก (retail sales) ที่เป็นเหมือนตัวสะท้อนการบริโภคในประเทศจีนโตลงเหลือเพียง 1.7% ในช่วงเดือน ธ.ค. 2021 หรือตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาสสุดท้ายของปีก็เติบโตได้เพียง 4%

แน่นอนว่า Alibaba ก็ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากในปัจจุบันรายได้หลักของบริษัทกว่า 71% ยังคงมาจากธุรกิจ e-Commerce ในจีนนั่นเอง

นอกเหนือจากการเติบโตของเศรษฐกิจจีนโดยรวมแล้ว Daniel Zhang CEO ของบริษัทก็ยังได้ออกมายอมรับในช่วงการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสล่าสุดว่า ในปัจจุบันเชื่อว่าบริษัทได้ประชาชนชาวจีนกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายมาเป็นลูกค้าของบริษัททั้งหมดแล้ว ดังนั้น บริษัทจะเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นในการหาลูกค้าใหม่ มาเป็นการเน้นรักษาฐานลูกค้าเดิม

รวมถึงเพิ่มการเติบโตของรายได้เฉลี่ยที่มาจากลูกค้า 1 ราย (average revenue per user) และการขยายฐานลูกค้าไปต่างประเทศมากขึ้น เพื่อรักษาการเติบโตของรายได้ในช่วงต่อไป ซึ่งรายได้จากการทำธุรกิจ e-Commerce นอกประเทศจีนของ Alibaba ก็เติบโตได้อย่างโดดเด่นถึง 18% ในไตรมาสล่าสุด ทำให้แนวทางการขยายฐานลูกค้าไปต่างประเทศมากขึ้น ก็ดูจะเป็นความหวังในการเติบโตที่บริษัทสามารถคาดหวังได้ในอนาคต

และไม่เพียงปัญหาในด้านเศรษฐกิจและจำนวนผู้ใช้งานที่ Alibaba จะต้องเผชิญเท่านั้น อีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญที่เข้ามาท้าทายการเติบโตของ Alibaba อย่างมาก ก็คือบรรดาคู่แข่งที่มีทั้งบริษัทที่ทำธุรกิจด้าน e-Commerce เหมือนกัน และบรรดาบริษัท social media ที่กำลังเป็นคู่แข่งในทางอ้อมของ Alibaba โดยบรรดาคู่แข่งด้าน e-Commerce ทั้ง Pinduoduo และ JD.com ต่างก็เข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาดในจีน

รวมถึง Application อย่าง TikTok ของบริษัท ByteDance ที่มีการขายสินค้าผ่าน influencer ก็กลายมาเป็นคู่แข่งกับ Alibaba ในอีกทางหนึ่ง ดังนั้นไม่เพียงแต่การขยายธุรกิจ e-Commerce ไปยังต่างประเทศแต่เพียงด้านเดียวเท่านั้น การขยายธุรกิจไปยังด้านอื่น ๆ ทั้ง cloud computing รถยนต์ไฟฟ้า หรือการผลิต chip ที่น่าจะไม่ได้เจอกับอุปสรรคจากรัฐบาลจีนมากนัก ก็ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสการเติบโตที่ยังน่าจะทำให้ Alibaba มีศักยภาพในการสร้างรายได้ที่ดีอีกมากในอนาคต

โดยผู้บริหารของบริษัทเชื่อว่า ราคาหุ้นของ Alibaba ในปัจจุบันนั้น ไม่ได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท และการที่บริษัทยังคงสถานะสัดส่วนการถือครองเงินสดไว้ในระดับสูง จะทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการหาโอกาสในการลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ ได้อีกในอนาคต และการมองหาโอกาสใหม่ ๆ ทั้งภายนอกประเทศจีนเอง หรือนอกเหนือจากธุรกิจหลักของ Alibaba นั่นเอง ที่จะยังทำให้บริษัทมีความหวังในการก้าวข้ามผ่านอุปสรรคจากทั้งรัฐบาลจีน และบรรดาคู่แข่งในประเทศไปได้

และด้วยสัดส่วนการลงทุนใน Alibaba ที่มีอยู่ในดัชนีหุ้นจีน H-Shares และกองทุนหุ้นจีนหลาย ๆ กองทุน หากว่า Alibaba ทำสำเร็จในการก้าวข้ามผ่านอุปสรรคครั้งนี้ไปได้ เชื่อว่าการกลับมาของ Alibaba ก็จะเป็นโอกาสในการกลับมาของผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นจีนโดยรวมด้วย