ชัชชาติ สืบเจอต้นตอฝุ่น ชี้ส่วนมากมาจากการเผา

ชัชชาติ
ภาพจากเพจ กรุงเทพมหานคร และ PIXABAY

ชัชชาติ เผยผลวิจัยนักสืบฝุ่น ชี้ส่วนมากมาจากการเผา-ด้านนักเศรษฐศาสตร์ยัน ห้ามรถวิ่งได้ไม่คุ้มเสีย

วันที่ 14 มีนาคม 2566 มติชนรายงานว่า ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯว่า เรื่องฝุ่นเป็นเรื่องที่ กทม.ไม่เคยละเลย และเราก็ทำเต็มที่ สัปดาห์ที่ผ่านมา

มีความคืบหน้าจากโครงการนักสืบฝุ่นโดยให้นักวิจัยมาวิเคราะห์ว่าฝุ่นในกรุงเทพฯ เกิดจากตรงไหน โดยนักวิจัยเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาทำ ซึ่งรายงานผลมาในสัปดาห์นี้

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ผลการวิเคราะห์ฝุ่นในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่าฝุ่นน้อยกับฝุ่นมากมีสารต่างกัน โดยการนำเอาละอองฝุ่นมาวิเคราะห์ ซึ่งละอองฝุ่นจะมีสารอยู่ หากพบว่าในช่วงฝุ่นน้อย จะมีสารไนโตรเจนเยอะ แสดงว่ามาจากควันรถยนต์ ในช่วงฝุ่นมากจะมีสารโพแทสเซียมเยอะ แสดงว่ามาจากการเผาชีวมวล

การดูแลช่วงฝุ่นจึงต้องดูให้ครบวงจร เพราะอย่างที่ทราบฝุ่นมาจาก 3 ส่วนคือ รถยนต์ การเผาชีวมวล และสภาพอากาศ เพราะฉะนั้น กทม.เองก็ต้องเน้นเรื่องรถยนต์ให้เข้มข้นขึ้น จึงได้เน้นย้ำให้ไปตรวจที่แหล่งกำเนิด เช่น อู่จอดรถเมล์ ที่จอดรถยนต์ แพลนต์ปูน ไซต์ก่อสร้าง

“ที่ผ่านมา กทม.ทำเยอะ ตรวจรถไปประมาณแสนคัน ดูแพลนต์ปู ดูโรงงานต่าง ๆ และก็จะเห็นว่าการเผาชีวมวลในกรุงเทพฯน้อยลง อย่างไรก็ตาม พบจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นประมาณ 45% จากปีที่แล้วช่วงที่มีฝุ่นน้อย เราก็มีการให้บริการศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลต่าง ๆ มีการแจกหน้ากากอนามัยไปประมาณกว่า 600,000 ชิ้น มีการทำห้องปลอดฝุ่นในศูนย์เด็กเล็ก”

“ส่วนโรงเรียนเน้นให้ใส่หน้ากากและลดกิจกรรมกลางแจ้งลง ส่วนการ Work from Home คงดูจังหวะตามความรุนแรงอีกครั้ง โดยจากการคาดการณ์ฝุ่นจะสูงขึ้นอีกครั้งหลังวันที่ 16 มีนาคม” นายชัชชาติกล่าว

เมื่อถามว่า กทม.จะมีมาตรการห้ามรถยนต์วิ่งเข้าบางพื้นที่ในกรุงเทพฯหรือไม่?

นายชัชชาติกล่าวว่า ปัจจุบันการจำกัดไม่ให้รถเข้าพื้นที่เป็นอำนาจของตำรวจจราจร จึงเป็นแผนศึกษาให้สำนักสิ่งแวดล้อมสรุป แล้วถ้าจะบังคับเหมือนที่ลอนดอนใช้ เป็น Low Emission Zone ห้ามรถเก่าเข้าพื้นที่จะมีข้อบังคับอย่างไร

ส่วนการห้ามวิ่งรถเลยนั้น ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาได้มีการปรึกษากับนักเศรษฐศาสตร์ ก็มีข้อแนะนำว่าอาจจะได้ไม่คุ้มเสียในแง่ของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมา หรือจากการสังเกตหากลดปริมาณการใช้รถยนต์ลงแต่การเผาชีวมวลยังเยอะอยู่ก็อาจไม่ได้ช่วย

“อย่างเช่น ช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่จำนวนรถน้อยแต่บางครั้งค่าฝุ่นก็ยังสูง เพราะฉะนั้นการจะออกมาตรการอะไรก็ต้องดูให้ละเอียดว่าที่สุดแล้วมันได้ผลคุ้มกับที่ดำเนินการหรือไม่ จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมเราจึงทำโครงการนักสืบฝุ่น ทำวิจัยอย่างละเอียด เพื่อให้เห็นว่าฝุ่นมาจากไหน จะทำให้เราตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาได้” นายชัชชาติกล่าว