มองโลกแง่บวกแบบ เจ้าสัว ซี.พี. พลิกวิกฤตโควิดเป็นโอกาสประเทศ

เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เป็นหนึ่งในบริษัทไทยที่ระดมสรรพกำลังทั้งเงินและคนช่วยประเทศก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ตีมูลค่าได้ก็ 700 ล้านบาท อาทิ การสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรี, มอบอาหารให้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้กักตัว, มอบ 77 ล้านบาท ให้ 77 โรงพยาบาล, แจกอุปกรณ์สื่อสาร-หุ่นยนต์-ซิม เป็นต้น

“เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือ ซี.พี.สั่งให้ทำเพิ่ม 4 โครงการ คือ 1.ปลูกน้ำ 2.เกษตรผสมผสานปีนี้จะมี 3-4 จังหวัด ชูแนวคิด “3 ประโยชน์ (ประเทศ/ประชาชน/องค์กร) 4 ประสาน” (รัฐบาล/เอกชน/สถาบันการเงิน/เกษตรกร) พัฒนาเกษตรกรรมทันสมัย 3.โครงการแพลตฟอร์มออนไลน์เรียนทางไกล-แพทย์ทางไกล และ 4.โครงการวิจัยสู้ภัยโควิด-19

นอกจากตอบจดหมายนายกรัฐมนตรี เสนอ 5 มาตรการ ได้แก่ มาตรการด้านดิจิทัล, มาตรการดึงดูดคนเก่งมาอยู่เมืองไทย, มาตรการช่วยเหลือด้านการท่องเที่ยวสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ, มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้สูงขึ้น และมาตรการปฏิรูประบบชลประทาน เพื่อพลิกฟื้นธุรกิจและประเทศแล้ว

ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า แม้ 1 เดือน ที่มีการล็อกดาวน์ทำให้ประเทศสูญเสียรายได้ 4.5-5 แสนล้านบาท แต่ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของรัฐบาล ทำให้ลดการระบาดของเชื้อไวรัสได้จนสถานการณ์คลี่คลายไปสู่การคลายล็อกได้โดยลำดับ โดยเสนอว่าเพื่อให้ผู้ประกอบการประคับประคองธุรกิจต่อได้รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 10 ปี เป็นต้น

ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำช่วยธุรกิจ-สินค้าเกษตร

“รัฐบาลควรออกพันธบัตร อายุ 30 ปี ขายต่างประเทศ กู้สัก 3 ล้านล้านก็ยังได้เพื่อนำเงินมาให้บริษัทไทยดี ๆ กู้ดอกเบี้ยต่ำ 10 ปีก็ได้ เพื่อให้เขาไม่ต้องปิด โรงงานไม่ต้องหยุดเครื่องจักร เพราะถ้าปิดไปแล้วจะฟื้นฟูกลับมาไม่ง่าย”

Advertisment

เจ้าสัว ซี.พี.เปรียบการสร้างธุรกิจกับการสร้างตึก 10 ชั้นที่ต้องใช้เวลาหลายปี แต่กดระเบิดไม่กี่วินาทีพังราบ

“ช่วยเขา 70% ของเงินเดือนพนักงานไม่ตกงาน มีเงินจับจ่าย”

และย้ำว่าโรคนี้ไม่ใช่ความผิดของใคร เมื่อธุรกิจปิดร้านหยุดขายชั่วคราวเพื่อชาติ รัฐบาลจีงควรใช้โอกาสนี้รับใช้ประชาชน เพราะเครดิตการเงินการคลังของประเทศไทยอยู่ในอันดับท็อปของโลกจึงควรออกพันธมิตรดึงเงินจากทั่วโลกมาช่วยธุรกิจไทย

นอกจากนี้ ภาครัฐควรใช้จังหวะนี้ไปบุกเบิกสินค้าไทยในต่างประเทศ ไปดูว่าสินค้าอะไรที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก

Advertisment

“ในวิกฤตอย่างนี้ ทูตพาณิชย์ต้องออกกำลังกายแล้ว ไปช่วยเปิดตลาดสินค้าไทย และซื้อสินค้าจากเกษตรกรไทยในราคาที่แพงขึ้น ตอนนี้ประเทศไหนมีน้ำมันสำหรับเครื่องจักรจน แต่เรามีน้ำมันบนดินถือเป็นโอกาส เพราะเป็นอาหารเลี้ยงมนุษย์ เป็นเรื่องปากท้อง ไม่กินไม่ได้”

ดังนั้นจึงควรใช้จังหวะนี้ช่วยเกษตรกรให้มีรายได้มากขึ้น

“การที่สินค้าเกษตรราคาแพง ผมเสียมากกว่าได้นะ เพราะผมซื้อข้าวขายทั่วโลก ถ้าผมซื้อแพงก็ขายไม่ได้ ต้นทุนสูง แต่คนไม่ค่อยเชื่อ คิดว่านายธนินท์พูดเอาประโยชน์ ผมจะบอกว่า ถ้าผมคิดแต่เห็นแก่ตัว ซี.พี.ไม่ใหญ่อย่างนี้”

นายธนินท์ย้ำว่า ข้อเสนอของเขามองถึงภาพรวมของประเทศ ไม่ใช่เพื่อบริษัท บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าถ้าส่วนรวมดีขึ้น บริษัทก็ดีขึ้น แต่ถ้าส่วนรวมพัง ธุรกิจยิ่งใหญ่จะยิ่งพังหนักกว่าคนอื่น

“ต้องช่วยให้ส่วนรวมอยู่รอด สุดท้ายก็ช่วยผมเองด้วย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อมทุกคนได้ประโยชน์ถ้าผมเสนอให้ซื้อสินค้าเกษตรถูก ๆ สิ ผมได้ประโยชน์ ซื้อถูกไปขายแพง และขายง่ายด้วย ถ้าต้องซื้อแพงไปขายแพงขายยาก ไม่มีฝีมือขาดทุนย่อยยับ”

ดันไทยฮับท่องเที่ยวปลอดภัยดึงเศรษฐีต่างชาติ

นายธนินท์กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ทำให้โลกเปลี่ยนมหาศาล เมื่อบริษัทต่าง ๆ มีนโยบายทำงานจากที่บ้าน ทำให้ต่อไปคนจะทำงานที่ไหนก็ได้จึงส่งเสริมให้การท่องเที่ยวกลับมาเติบโตอย่างมาก เช่นกันกับการศึกษาออนไลน์ การซื้อสินค้าออนไลน์ และสังคมไร้เงินสด

“เราควรใช้จังหวะนี้เตรียมพร้อมสำหรับโอกาสใหม่ ๆ วิกฤตเป็นแค่สิ่งชั่วคราว เมื่อมืดก็มีสว่าง แต่รอให้สว่างแล้วทำ อาจไม่ทัน เช่น การท่องเที่ยวเมื่อพิสูจน์แล้วว่าหมอ บุคลากรทางการแพทย์ของไทยเก่งมาก มีโรงพยาบาลดี ๆ มีโรงแรมห้าดาวเต็มไปหมด ทำไมไม่ใช้สิ่งนี้โฆษณาไปทั่วโลก โรงแรมห้าดาวไปลิงก์กับบริษัททัวร์ให้เขาชวนเศรษฐีอเมริกัน จีน และยุโรปมาไทย กลุ่มหนีตายไม่ใช่หนีภัย ไม่เยอะ แค่ 1 ล้านคน เท่ากับ 4-5 ล้านคน บ้านเขาไม่มีเตียง ไม่มียา ไม่มีหมอพอ แต่บ้านเรามีครบทำได้จะฟื้นเศรษฐกิจได้ คนมีเงินมาอยู่ได้เป็นเดือน”

ต้องทำเดี๋ยวนี้เพราะถ้าทุกอย่างสงบแล้ว ถามว่าทำไมเขาต้องมาเมืองไทยและต่อยอดไปสู่การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ จะสร้างตลาดท่องเที่ยวใหม่ที่มีการใช้จ่ายสูง เฉลี่ย 2 แสนบาท/คน สร้างรายได้ 1 ล้านล้านบาท นายธนินท์เห็นด้วยกับการคลายล็อกทีละขั้นของรัฐบาล เพราะแม้แต่อเมริกา และเกาหลีใต้ยังรีบเปิดประเทศ เชื่อว่าไม่น่าทำให้สถานการณ์ระบาดของไวรัสในไทยกลับมารุนแรงขึ้น

“ญี่ปุ่นบ้านเขาเล็ก หลังเลิกงานไปสังสรรค์ร้านเล็ก ๆ ของไทยกว้างกว่า อากาศก็ร้อน ผมอาจผิดก็ได้ แต่ผมชอบมองโลกในแง่ดี เราถึงมีกำลังใจ ตอนที่มืดที่สุดเราต้องศึกษา ถ้าสว่างจะทำอะไร ต้องทำตอนที่ยังมืด ไม่ใช่สว่างแล้วค่อยมาทำ”

ศก.จะฟื้นเมื่อไรอยู่ที่รัฐบาล พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

ถ้าเปรียบวิกฤตโควิด-19 เป็นความมืด เจ้าสัว ซี.พี.เชื่อว่า ประเทศไทย “ใกล้สว่าง”แล้ว แต่เศรษฐกิจจะฟื้นแค่ไหน ติดลบมากหรือน้อย และเมื่อไร ขึ้นอยู่กับมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล

“วิกฤตตามด้วยโอกาส ถามผมว่าเมื่อไรไม่ได้ ต้องบอกว่ารัฐบาลมีมาตรการอะไร ที่ผมแนะนำก็ท่องเที่ยวเอาเศรษฐีมาไทย หรือให้มาซื้อบ้านอยู่อาศัยก็ได้ คนละล้านเหรียญล้านคนก็หนึ่งล้านล้านอสังหาฯจะไม่มีปัญหาเลย ดึงดูดคนเก่งผู้เชี่ยวชาญมาอยู่บ้านเรา แต่จะดึงมาได้พื้นฐานเราต้องดี คนมีฐานะ คนเก่ง จะถามว่า 1.ลูกเขามีที่เรียนดีหรือเปล่า 2.มีโรงพยาบาลดีไหม คนชั้นหนึ่งก็ต้องการหมอพยาบาลชั้นหนึ่ง”

ถ้าถึงคนเก่งมาได้จะทำให้ประเทศกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกได้ เพราะถ้ามีคนเก่ง นักธุรกิจก็จะมาลงทุนเพิ่มขึ้น

“ที่บอกว่าต่างชาติมาแย่งงานคนไทย จริง ๆ คนที่จะแอนตี้ควรเป็นพวกผม เขาน่าจะมาแข่งกับผมมากกว่า แต่ผมคิดว่าเราต้องเปิดใจกว้าง ถ้าเราสู้เขาไม่ได้เราก็ต้องยอมเสียสละ บางคนบอกคุณธนินท์คุณเก่ง เก่งอะไร มีคนเก่งกว่าผมอีก ถ้าเรานึกว่าเราเก่ง จะไม่เก่ง ถ้าเรานึกว่าเราไม่เก่ง เราจะเก่งตลอดไป”

วิธีปกติใหม่ จุดเปลี่ยน “ชีวิต-ธุรกิจ”

นายธนินท์มองว่าวิกฤตครั้งนี้ทำให้บริษัทให้ความสำคัญกับการทำงานจากที่บ้านมากขึ้น ไม่ต้องเดินทางและวัดผลได้มากกว่าด้วย ทำงานที่ออฟฟิศบางทีไม่รู้ว่าทำแค่ไหน มากน้อยเท่าไร แต่ถ้าทำงานที่บ้านต้องออนไลน์ วัดผลได้ ผู้นำติดตามงานได้ ดูที่ผลงาน และต่อไปตึกออฟฟิศปรับไปทำอย่างอื่น เมื่อความต้องการใช้พื้นที่น้อยลงจะเป็นอพาร์ตเมนต์หรือคอนโดฯก็ได้ จะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก และการท่องเที่ยวจะมหาศาล