กองทัพอากาศ แจง นำเครื่องบิน SAAB 340 ขนมังคุด ไม่เปลืองค่าใช้จ่าย

ทอ.แจงขนมังคุดไม่ได้เปลืองงบ
ภาพจากเฟซบุ๊ก ข่าวประจำวัน กองทัพอากาศ

โฆษกกองทัพอากาศ แจง ใช้ชั่วโมงฝึกบิน SAAB 340 ลำเลียงมังคุด-ลำไย เป็นเวลาฝึกบินอยู่แล้ว ไม่ได้เพิ่มงบประมาณ ชี้ อยากทำให้เกิดประโยชน์ ไม่บินเสียเที่ยว ปมคนโพสต์ไม่เห็นด้วยเหตุใช้ทรัพย์สินผิดประเภท

วันที่ 10 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคไทยสร้างไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ Watana Muangsook กรณีกองทัพอากาศนำเครื่องบิน SAAB บรรทุกมังคุดเพื่อไปแลกกับลำไยที่ จ.เชียงใหม่และลำพูน โดยข้อความทั้งหมดระบุว่า

หลายคนชื่นชมออกมาอวยทหาร เรื่องที่กองทัพอากาศเอาเครื่องบิน SAAB 340 B (บ.ล. 17) บินขนมังคุดจากสุราษฎร์ธานีไปแลกเปลี่ยนกับลำไยที่เชียงใหม่และลำพูน ก่อนมีความเห็นผมขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องบิน ดังนี้

เครื่องบิน SAAB 340 B เป็นเครื่องบินที่ออกแบบมาเพื่อขนส่งผู้โดยสาร ใช้เชื้อเพลิงประมาณ 1.1 ไมล์ทะเล/แกลลอน หรือราว 0.538 กิโลกเมตร/ลิตร น้ำหนักบรรทุกสูงสุด (Max Payload) 3,400 กิโลกรัม

ดังนั้น การเอาเครื่องบินโดยสารมาขนผลไม้นอกจากจะเป็นการใช้ทรัพย์สินที่ผิดประเภทแล้วยังไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย เพราะเครื่องบินชนิดนี้รับน้ำหนักบรรทุกได้เพียง 3.4 ตัน แปลว่าถ้ามังคุดราคากิโลกรัมละ 20 บาท มูลค่าสินค้าที่นำไปแลกได้สูงสุดประมาณ 68,000 บาท แต่ค่าใช้จ่ายในการบิน (ค่าสึกหรอ/ค่าซ่อมบำรุง/ค่าเชื้อเพลิง/เบี้ยเลี้ยงนักบิน) เป็นเงินเท่าไรกองทัพอากาศช่วยบอกประชาชนเอง

ผมเห็นใจในความพยายามของทหารที่อยากกู้ภาพพจน์ที่เสียหายไปเพราะการยึดอำนาจแต่ไร้สติปัญญาในการบริหารประเทศจึงทำบ้านเมืองเสียหายอย่างยับเยิน แต่การขยันจะต้องมาพร้อมกับสติปัญญาและอยู่ในหน้าที่ของตน นั่นคือทหารมีหน้าป้องกันประเทศไม่ใช่การบริหารประเทศ นอกจากนี้การเอาทรัพย์สินของทางราชการมาใช้จะต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่ หาไม่แล้วการกระทำดังกล่าวคือการประพฤติมิชอบ หลายคนโชคดีที่เกิดมาในยุคนี้ถ้าเกิดในยุคขงจื๊อคงไม่ทันได้ติดคุกเพราะจะถูกตัดคอก่อน

ต่อมา พลอากาศโท ฐานัตถ์ จันทร์อำไพ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ ในฐานะโฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยว่า กรณีมีผู้โพสต์ข้อความว่า “ไม่เห็นด้วยกับกองทัพอากาศที่เอาเครื่องบิน SAAB 340 บินขนมังคุดจากสุราษฎร์ธานี ไปแลกเปลี่ยนกับลำไยที่เชียงใหม่และลำพูน เป็นการใช้ทรัพย์สินที่ผิดประเภทและไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย” นั้น

ขอชี้แจงว่า กองทัพอากาศมีแผนการฝึกเดินทางระหว่างสนามบิน ในแต่ละพื้นที่อยู่แล้ว เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของนักบินและเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นตารางปฏิบัติปกติ

ดังนั้น การช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ควบคู่ไปกับการฝึกบิน จึงถือเป็นการได้ประโยชน์และไม่ได้ทำให้งบประมาณค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และไม่ใช่เป็นการจัดเที่ยวบินเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพราะนักบินต้องฝึกบินเดินทางอยู่แล้ว

ประกอบกับแต่ละเที่ยวบินมีพื้นที่ว่างพอ สำหรับการบรรทุกสิ่งของ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ร่วมกับภารกิจการช่วยลำเลียงผลิตทางการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในการระบายสินค้าไปยังพื้นที่ปลายทาง

ทั้งนี้ พลอากาศเอก แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ มีนโยบายให้กองทัพอากาศนำขีดความสามารถและศักยภาพที่มีอยู่ บูรณาการทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤติ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรอย่างเต็มกำลังความสามารถ