ชวนดูดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี รุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น วันที่ 9 ก.พ.

ชวนดู ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี รุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น วันที่ 9 ก.พ.
ภาพจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ชวนดูดาวศุกร์สว่างสุดในรอบปี รุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 จนถึงดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า คาดเกิดขึ้นอีกรอบปี 2566

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยว่า รุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นของวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุดในรอบปี (The Greatest Brilliancy) สว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 04.20 น. เป็นต้นไป จนถึงดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า

ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี เป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม มีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.6 หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ดาวศุกร์จะปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ สำหรับในช่วงวันอื่น ๆ แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งที่อยู่ห่างจากโลก และขนาดปรากฏที่ลดลง ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย

ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า และเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะลำดับที่ 2 ถัดจากดาวพุธ มีวงโคจรใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่าโลก ตำแหน่งของดาวศุกร์ที่ปรากฏบนท้องฟ้าจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ได้ไม่เกิน 47 องศา เราจึงสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าหรือก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นเท่านั้น ไม่เคยปรากฏอยู่กลางท้องฟ้าหรือเวลากลางดึก

หากดาวศุกร์ปรากฏบนฟ้าในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า คนไทยจะเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” แต่หากดาวศุกร์ปรากฏในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น คนไทยจะเรียกว่า “ดาวประกายพรึก”

Advertisment

สำหรับปรากฏการณ์ดาวศุกร์สว่างที่สุดครั้งถัดไป จะเกิดขึ้นในปีหน้า ช่วงค่ำวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า

นอกจากนี้ยังเปิดเผยปรากฏการณ์บนท้องฟ้าตลอดเดือนกุมภาพันธ์ ดังนี้

  • 13 กุมภาพันธ์ 2565 ดาวพอลลักซ์เคียงดวงจันทร์ สังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จนถึงรุ่งเช้า
  • 16 กุมภาพันธ์ 2565 ดาวเรกูลัสเคียงดวงจันทร์ สังเกตได้ทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 18.50 น. จนถึงรุ่งเช้า
  • 17 กุมภาพันธ์ 2565 ดาวพุธอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ ไปทางทิศตะวันตกมากที่สุด 26.3 องศา สังเกตได้ทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 05.20 น. จนถึงรุ่งเช้า
  • 20 กุมภาพันธ์ 2565 ดาวสไปกาเคียงดวงจันทร์ สังเกตได้ทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 22.00 น. จนถึงรุ่งเช้า
  • 24 กุมภาพันธ์ 2565 ดาวแอนทาเรสเคียงดวงจันทร์ สังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เวลาประมาณ 01.20 น. จนถึงรุ่งเช้า
  • 27 กุมภาพันธ์ 2565 ดาวอังคารเคียงดวงจันทร์ สังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เวลาประมาณ 04.10 น. จนถึงรุ่งเช้า