เปิดร่างกฎหมายให้อำนาจ ETDA คุมแพลตฟอร์มดิจิทัล

REUTERS/Regis Duvignau/File Photo

เปิดร่าง พ.ร.ฎ.ควบคุมบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล สั่งผู้ประกอบการต้องแจ้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ก่อนเริ่มกิจการ มีผลบังคับใช้ 180 วัน หลังจากประกาศลงในราชกิจจาฯ 

วันที่ 26 ตุลาคม 2564 ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. … เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ เสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งเพื่อป้องกันความเสียหายแก่สาธารณชนหรือประชาชนที่ใช้บริการ

ที่มาเหตุผล

สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าว กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) เป็นหน่วยงานนำเสนอ ตามเอกสารระบุว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามาอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของสาธารณชน อีกทั้งยังตอบสนองต่อรูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป มีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งมีลักษณะเป็นสื่อกลางที่มีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและผู้บริโภคเชื่อมต่อกันทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นมากขึ้น

ครอบคลุมลักษณะและประเภทธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น เช่น แพลตฟอร์มการขายสินค้าหรือบริการ (เช่น Shopee และ Booking.com) แพลตฟอร์มเศรษฐกิจแบ่งปันด้านแรงงาน (เช่น Grab Food และ Robinhood) แพลตฟอร์มการให้บริการด้านการเงิน (เช่น truemoney wallet และ rabbit LINE Pay)

รวมถึงแพลตฟอร์มการให้บริการที่เกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิต (เช่น HUNGRY HUB และ QUEQ) จึงทำให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น

ดังนั้น เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนามาตรการหรือกฎเกณฑ์การให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

จึงมีความจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยการกำหนดขอบเขตของการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ

การเชื่อมโยงข้อมูลและการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้เป็นไปด้วยความเหมาะสม

พร้อมการกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้ธุรกิจดังกล่าว มีความโปร่งใสและเป็นธรรม อันจะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการให้บริการ มีการคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งรวมถึงผู้บริโภคและผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างเหมาะสม

Photo by: BSIP/Universal Images Group via Getty Images

สาระสำคัญ

ร่างกฎหมายฉบับนี้ กำหนดว่า

“บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” หมายถึง การให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในลักษณะที่เป็นสื่อกลางที่มีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและผู้บริโภคเชื่อมต่อกัน โดยการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ร่างพระราชกฤษฎีกานี้ ใช้บังคับกับการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform)

“ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัล” หมายถึง บุคคลธรรมดาที่กระทำการในเชิงพาณิชย์หรือวิชาชีพหรือนิติบุคคลที่เสนอสินค้า บริการ หรือทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างต่อผู้บริโภคผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการค้า ธุรกิจ งานฝีมือ หรือวิชาชีพ

ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือผู้บริโภคจะเป็นสมาชิกหรือมีบัญชีของแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นหรือไม่

นอกจากนี้ บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหนึ่งอาจมีผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลมากกว่าหนึ่งฝ่ายก็ได้

“ผู้บริโภค” หมายถึง ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ หรือบริโภคทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง และหมายความรวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการหรือผู้ที่บริโภคทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างจากผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม

ช้อปปี้ (Shopee)

หลักเกณฑ์การควบคุม

สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) ที่ต้องแจ้งให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ ตามข้อกำหนดในร่าง พ.ร.ฎ.ฯ มีรายละเอียดคือ

1.กำหนดให้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) เป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอล์ที่ต้องแจ้งให้ทราบนามพระราชกฤษฏีการนี้

2.กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกานี้และประกาศที่คณะกรรมการหรือสำนักงานกำหนด

3.กำหนดให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นบริการที่ต้องแจ้งให้ สพธอ. ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ โดยยื่นแบบการแจ้งให้ทราบต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ ยกเว้นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีหน่วยงานอื่นกำกับดูแลโดยเฉพาะอยู่แล้ว และบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอื่นใดที่คณะกรรมการกำหนด ไม่ต้องแจ้ง สพธอ. ทราบ

4.กำหนดให้พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับแก่การประกอบธุรกิจบริการแพตลฟอร์มดิจิทัล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภค ในราชอาณาจักรไทย ไม่ว่าผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจะอยู่ในราชอาณาจักรหรือนอกราชอาณาจักร

ส่วนในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอยู่นอกราชอาณาจักรหรือนอกอาณาจักรต้องแต่งตั้งตัวแทนของผู้ประกอบการเป็นตัวหนังสือ ซึ่งตัวแทนต้องอยู่ในราชอาณาจักรและเป็นตัวแทนต้องได้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนผู้ประกอบธุรกิจ โดยไม่มีข้อจำกัดความรับผิดใด ๆ ที่เกี่ยวกับการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ตามพระราชกฤษฎีกานี้

5.กำหนดให้เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแบบการแจ้งให้ทราบพร้อมทั้งเอกสารแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบแจ้งด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักฐานการแจ้งในวันที่รับแจ้งวันนััน และผู้แจ้งด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นหลักฐานการแจ้งในวันที่รับแจ้งดังกล่าว

หากตรวจพบว่า การแจ้งดังกล่าวไม่ครบถ้วน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องหรือครบถ้วน ภายในระยะเวลาที่กำหนด

ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่แก้ไขหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้นหยุดการให้บริการแพลตฟอร์มนั้นนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาจนกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้องและครบถ้วนตามคำสั่งพนักงงาน

ในกรณีแจ้งไม่แก้ไขภายในระยะเวลา 90 วันนับแต่วันที่หยุดการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถอนการรับแจ้งของข้อมูลนั้นออกจากทะเบียนการรับแจ้งและการแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้นั้นทราบโดยเร็ว

6.กำหนดให้กรณีที่หน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใด มีความจำเป็นต้องขอข้อมูลที่ สพธอ. ได้รับจากการแบบการแจ้งให้ทราบ หรือจากทะเบียนการรับแจ้ง เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามอำนาจตามกฏหมาย ให้ สพธอ. ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการธุรการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามกฏหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นรายกรณีไป

7. กำหนดให้กรณีที่ สพธอ. จำเป็นต้องใช้ข้อมูลซึ่งหน่วยงานของรัฐใดได้มีการขอหรือจัดเก็บจากผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลไว้แล้วไม่ว่ากฏหมายหรือตามข้อสัญญา

ให้ สพธอ. สามารถขอให้หน่วยงานดังกล่าวให้เปิดเผยหรือเชื่อมโยงข้อมูลนั้น แก่ สพธอ. ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นรายกรณีไป

8. กำหนดให้ สพธอ. มีอำนาจประกาศกำหนดสักษณะหรือประเภทบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องแจ้งให้ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทราบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และรายละเอียดที่จำเป็นอย่างชัดเจนและเหมาะสมก่อนหรือขณะการใช้บริการ เช่น เงื่อนไขในการใช้บริการ การระงับหรือหยุดการให้บริการ การคิดค่าธรรมเีนยม ค่าตอบแทน ค่าบริการ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้บริการ เป็นต้น

9. กำหนดให้กรณีที่ผู้ที่ประกอบธุรกิจรายใด ประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจบริการทางแพลตฟอร์มดิจิทัลให้แจ้ง สพธอ. ทราบล่วงหน้าด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ ต้องไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนวันเลิกการให้บริการ

และให้ สพธอ. มีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อคุ้มครองหรือเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น แก่ผู้ใช้บริการแพตฟอร์มดิจิทัลก่อนประกอบธุรกิจ หรือเพิกถอนการแจ้ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขตามที่สำนักงานประกาศ

10. กำหนดให้กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดพระราชกฤษฎีกานี้ และประกาศที่คณะกรรมการและ สพธอ. กำหนด ให้พนักงงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้นให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ปฏิบัติตามภายในระยะ 90 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งมิให้ผู้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถอนการรับแจ้งของผู้นั้นออกจากทะเบียนการรับแจ้ง และแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้นั้นทราบด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์โดยเร็ว

11. กำหนด สพธอ. มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีหรือมีกลไกในการกำกับดูแลดูแลตนเองที่เหมาะสม ซึ่งอาจครอบคลุมเรื่องการพิสูจน์ทราบตัวตนของผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

รวมทั้งกำหนดมาตรการเพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจอันดีและยอมรับร่วมกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล หรือหน่วยงานของรัฐ

12. กำหนดให้ สพธอ. จัดให้มีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนกลางด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เกิดจากการให้บริการฯ โดยผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก โดยให้รายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมการฯ ทุกปี

13. กำหนดให้ สพธอ. และสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าร่วมมือกัน กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีพฤติกรรมขัดขวางความโปร่งใสและเป็นธรรม รวมทั้งฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า

14. กำหนดให้ผู้ซึ่งประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลตามพระราชกฤษฎีกานี้ ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกานี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

มีผลบังคับใช้เมื่อใด

ตามความในร่างกฎหมายระบุว่า เมื่อพ้น 180 วันนับแต่วันที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามที่ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับนี้กำหนด ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ นี้มีผลใช้บังคับ (มีระยะเวลาในการเตรียมความพร้อม 180 + 30 = 210 วัน) และหากผู้ประกอบธุรกิจต้องการที่จะประกอบธุรกิจต่อไป ก็จำเป็นที่จะต้องแจ้งให้ สพธอ. ทราบภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว