“อีสาน-เหนือ-กลาง” รับมือวิกฤตแล้ง ผลผลิตวูบ-กระทบโรงงานแปรรูปส่งออก

สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้มีความรุนแรงมากกว่าทุกปี ดังนั้น เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563 คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณ 3,079,472,482 บาท ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เสนอ เพื่อใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 ในพื้นที่ 57 จังหวัด จำนวน 2,041 โครงการ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละจังหวัดได้เตรียมแผนรับมือ และประเมินผลกระทบไว้ล่วงหน้าในระดับหนึ่ง

7 จว. “มะขาม” ลดส่งออกวูบ

โดยนายโกวิท กุลเศรษฐโสภณ ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท เค.ซี.ฟู้ดแอนด์เบฟเวอเรจ จำกัด ผู้ส่งออกมะขามหวานรายใหญ่ จ.เพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า บริษัทได้คาดการณ์ผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตมะขามหวานในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ลำปาง เลย เพชรบูรณ์ไว้แล้ว โดยเกษตรกรต่างได้รับผลกระทบต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่มะขามติดดอกเจอกับพายุฝนดอกร่วงและการขาดแคลนน้ำ ทำให้ผลผลิตที่จะออกในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2562 ลดน้อยลงมากกว่า 30% จากปริมาณผลผลิตที่คาดจะออกสู่ตลาด 80,000 ตัน ทำให้ไม่เพียงพอต่อการส่งออกไป 40 ประเทศทั่วโลก ขณะที่ความต้องการของตลาดยังสูง ส่งผลให้ราคามะขามปรับตัวสูงขึ้น เช่น มะขามหวานพันธุ์สีทอง สีชมพู และขันตี ที่บริษัทรับซื้อจากกิโลกรัมละ 50-55 บาท เมื่อปีที่ผ่านมา ขยับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 60-80 บาท

เชียงใหม่เสี่ยงวิกฤต 2 แสนไร่

ดร.พัฒนา นุศรีอัน เกษตรและสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้เตรียมแผนรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2563 โดยพบว่า พื้นที่เกษตรที่มีโอกาสเกิดความแห้งแล้งมี 21 อำเภอ 162 ตำบล เกษตรกร 39,717 ราย รวมพื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 221,844.36 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 53,882 ไร่ พืชไร่ 15,024.50 ไร่ พืชผัก 30,433.63 ไร่ ไม้ผล 122,504.23 ไร่ ขณะที่ด้านปศุสัตว์ คาดว่าได้รับผลกระทบ 10 อำเภอ 38 ตำบล รวมเกษตรกรทั้งสิ้น 20,599 ราย คาดว่ามีปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 923,466 ตัว/แปลงหญ้า 613 ไร่ แบ่งเป็น โค-กระบือ 76,008 ตัว แพะ-แกะ 595 ตัว สุกร 86,466 ตัว สัตว์ปีก 760,312 ตัว

Advertisment

ดังนั้น โครงการชลประทานเชียงใหม่เตรียมจัดสรรน้ำจากเขื่อนแม่งัด ในช่วงฤดูแล้ง 2562/2563 ปริมาณน้ำที่ใช้ 105 ล้าน ลบ.ม. สำหรับใช้ในเขตโครงการส่งน้ำแม่แฝก-แม่งัด 35 ล้าน ลบ.ม. (ประปาและระบบนิเวศ 13 ล้าน ลบ.ม. ภาคการเกษตร 22 ล้าน ลบ.ม. รวมพื้นที่ 40,286 ไร่) นอกจากนี้ จัดสรรน้ำลงแม่น้ำปิง เชียงใหม่-ลำพูน 70 ล้าน ลบ.ม. รวมพื้นที่ 149,986 ไร่ รวมถึงการสำรองเตรียมแปลงตกกล้าฤดูฝนปี 2563 จำนวน 30 ล้าน ลบ.ม. ส่วนการจัดสรรน้ำเขื่อนแม่กวงฯ จะจัดสรรปริมาณน้ำที่ใช้ 19 ล้าน ลบ.ม. โดยจะส่งน้ำให้เฉพาะไม้ผลและการอุปโภคบริโภคเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับสนับสนุนการปลูกข้าวนาปรังและพืชไร่

นายวิชัย ศรีโพธิ์งาม หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้แจ้งให้สำนักงานเกษตรทุกอำเภอประเมินและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง เพื่อให้ประชาชนเตรียมการป้องกัน นอกจากนี้มีโครงการส่งเสริมการปลูกพืชให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน โดยจัดสรรให้เกษตรกร 540 ราย พื้นที่ 540 ไร่ โดยสนับสนุนวัสดุทางการเกษตรรายละ 1 ไร่ ไร่ละ 285 บาท ด้านปศุสัตว์ เร่งประชาสัมพันธ์ให้มีการสำรองเสบียงอาหารสัตว์ ด้านประมง ได้แจ้งเตือนเกษตรกรติดตั้งระบบการให้อากาศ หรือเครื่องเพิ่มออกซิเจนในกระชังปลาให้เพียงพอ ด้านสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ มีโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน 200 บ่อ กระจายใน 17 อำเภอ ในส่วนของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ มีโครงการสนับสนุนเงินกู้แก่สหกรณ์ละไม่เกิน 5 ล้านบาท สำหรับจัดหาแหล่งน้ำและส่งเสริมอาชีพให้สมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1/ปี รายละไม่เกิน50,000 บาท

บุรีรัมย์ผันน้ำแก้แล้ง 3 อำเภอ

นายเทอดพงษ์ ไทยอุดม ผู้อำนวยการชลประทาน จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า จังหวัดบุรีรัมย์มีอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 16 แห่ง มีปริมาณน้ำทั้งหมด 84 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 28% ของอ่างเก็บน้ำทั้งหมด ซึ่งมีน้ำใช้การได้ประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 24% สำหรับแผนเตรียมรับมือได้มีการแบ่งพื้นที่ที่มีปัญหาออกเป็น 3 แห่ง ได้แก่ 1) อ.เมืองบุรีรัมย์ ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำอยู่ 2 แห่ง คือ ห้วยจระเข้ และห้วยตลาด มีปริมาณรวมกันทั้งหมด 2.5 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะสามารถใช้ได้ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ดังนั้น ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 จะผันน้ำจากอ่างห้วยสวาย ที่มีปริมาณน้ำอยู่12 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น ใช้ใน อ.กระสัง 1-2 ล้าน ลบ.ม. ถึงต้นฤดูฝนที่เหลืออีก 10 ล้าน ลบ.ม. จะผันมาใช้ในเมืองบุรีรัมย์ สามารถใช้ได้ 6 ล้าน ลบ.ม. ที่เหลือจะสำรองไว้ในอ่าง แต่ถ้าหากการประปาผันน้ำไม่ทัน ได้มีการวางแผนจะผันน้ำจากเหมืองหิน ซึ่งมีปริมาณ2.9 ล้าน ลบ.ม.มาใช้

Advertisment

2) อ.ประโคนชัย มีปริมาณน้ำ 400,000 ลบ.ม. ได้ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำปะเทีย มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ประมาณ 1.4 ล้าน ลบ.ม. ระยะทางในการผันน้ำ 70 กิโลเมตร ตอนนี้ปริมาณน้ำเริ่มเข้ามาเติมในอ่างปริมาณ 200,000 ลบ.ม. และจะมีการผันน้ำไปจนถึงวันที่ 20 มกราคม 2563 คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝน 3) อ.นางรอง ได้มีการสูบน้ำตั้งแต่เดือนกันยายน-เดือนธันวาคม 2562 ทั้งหมด 5.7 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าสามารถใช้ได้จนถึงต้นฤดูฝน

เขื่อนอุบลรัตน์ลดระบายน้ำ

นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้วางแนวทางการบริหารจัดการน้ำ โดยมีเป้าหมายจะลดปริมาณการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ที่ระบายลงลำน้ำพองผ่านฝายหนองหวาย ไหลลงแม่น้ำชีผ่านเขื่อนมหาสารคาม เข้ามาเติมหน้าเขื่อนวังยาง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนส่งไปสนับสนุนการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ อ.เมืองมหาสารคาม ประมาณวันละ 50,000 ลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยวันละ 1-2 ซม. ในขณะที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ระบายน้ำลงลำปาว ไหลลงแม่น้ำชี เหนือเขื่อนร้อยเอ็ด พร้อมควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด ให้อยู่ระดับ +131 ม.รทก. (เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง) เพื่อให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนวังยางอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

ขณะนี้เจ้าหน้าที่จากสำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน ได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบสูบย้อนกลับได้ 6 เครื่อง อัตราการสูบประมาณวันละ 180,000 ลบ.ม.ดำเนินการสูบน้ำย้อนกลับ 35 วัน โดยจะเริ่มสูบประมาณกลางเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไป คาดว่าจะทำให้หน้าเขื่อนวังยาง สามารถเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นอีก 6 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคไปถึงต้นฤดูฝนปี 2563 และจากแนวทางดำเนินการดังกล่าวจะสามารถลดการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ได้ประมาณวันละ 50,000 ลบ.ม. รวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำหน้าเขื่อนวังยาง เพื่อรักษาระดับน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม และร้อยเอ็ดบางส่วนในช่วงฤดูแล้งนี้

ชัยนาทเผชิญแล้งกว่าแสนไร่

นายกิตติชาติ ชาติยานนท์ เกษตรจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศให้จังหวัดชัยนาทเป็นเขตพื้นที่ประสบภัยแล้งทั้งหมด 123,000 ไร่ แบ่งออกเป็น นาข้าว 80,000 ไร่ นอกนั้นเป็นอ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วลิสง เป็นต้น และเนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอและไม่มีฝนตก ในปีนี้จึงไม่มีเป้าหมายให้มีส่งเสริมการทำเกษตรในเขตชลประทาน แต่มีเป้าหมายให้ส่งเสริมการทำเกษตรกับพื้นที่นอกเขตชลประทาน ประมาณ 27,000 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่มีบ่อน้ำเป็นของตนเอง ตอนนี้ได้มีการเฝ้าระวังและประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางทั่วจังหวัด อีกทั้งมอบหมายให้ทางเกษตรอำเภอ และเกษตรตำบล ติดตามสถานการณ์ เยี่ยมเยือนให้คำแนะนำและเสริมสร้างอาชีพใหม่ให้กับเกษตรกร