ต้าน “เซนทาโก” สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่แนะโรงงานพิจารณาใหม่

หวั่นกระทบ - ชาวบ้าน จ.สระบุรีได้ร่วมตัวกันร้องเรียนผู้แทนจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินถึงผลที่คาดว่าจะได้รับหากมีการก่อสร้างโรงงานไก่เซนทาโก

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่สร้างโรงงานไก่เซนทาโก จ.สระบุรี แนะบริษัทกลับไปพิจารณาใหม่ เหตุชาวบ้านคัดค้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม

หลังจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณตำบลหนองยาว และตำบลปากข้าวสาร จังหวัดสระบุรี ประมาณ 1,000 คน ได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อคัดค้านและขอความเป็นธรรมไปยังศูนย์ดำรงธรรม จ.สระบุรี องค์การบริหารส่วนตำบลหนองยาว นายอำเภอเมือง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ช่วยตรวจสอบกรณีบริษัท สยามเซ็นทาโกฟาร์ม จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการปศุสัตว์ครบวงจรได้ยื่นขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานฆ่าและชำแหละเนื้อไก่ โรงงานผลิตอาหารแปรรูป และอื่น ๆ มูลค่าหลายพันล้านบาท บนพื้นที่รวมเกือบ 300 ไร่ บริเวณติดริมถนนพหลโยธิน ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 102-103 อยู่ห่างจากใจกลางเมืองสระบุรีเพียง 2.5 กม. กินพื้นที่ 2 ตำบล คือ หนองยาว และปากข้าวสาร โดยชาวบ้านมีความกังวลต่อผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งการใช้น้ำอุปโภค บริโภค ปัญหาน้ำเสียและกลิ่นเหม็นรุนแรงนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สตผ.) นำโดย นายสมศักดิ์ สุวรรณรุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมคณะได้ลงพื้นที่จังหวัดสระบุรี เพื่อเข้าประชุมร่วมกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมควบคุมมลพิษ หน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง อบต.ปากข้าวสาร อบต.หนองยาว รวมถึงเจ้าหน้าที่บริษัทและตัวแทน เพื่อตรวจสอบกรณีคัดค้านการก่อสร้างโรงงานฆ่าชำแหละเนื้อไก่ของบริษัท สยามเซ็นทาโกฟาร์ม จำกัด และรับฟังสภาพปัญหาและหาแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งช่วงบ่ายมีการลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณที่มีการร้องเรียนบริเวณลำคลองหนองยาว อำเภอเมืองสระบุรี เพื่อรวบรวมข้อมูลที่จะมีการก่อสร้างโรงงานชำแหละไก่ และนำไปพิจารณาถึงผลกระทบทุกด้าน

นางสาวกัลยา รุ่งวิจิตรชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระบุรี เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการลงพื้นที่จังหวัดสระบุรี เพื่อเข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นระหว่างตัวแทนของบริษัท และตัวแทนชาวบ้าน ต.ปากข้าวสาร และ ต.หนองยาว ซึ่งในที่ประชุมได้ให้ทั้ง 2 ฝ่ายรายงานข้อมูลโครงการถึงปัจจุบัน โดยทางผู้ตรวจการได้ให้เจ้าหน้าที่จดบันทึกผลการประชุม รวมถึงประเด็นคำถามที่ทางบริษัทไม่สามารถตอบได้ ซึ่งส่วนใหญ่ ส.ส.ได้มีการตั้งคำถาม เช่น 1.โรงงานจะใช้แหล่งน้ำจากที่ใด 2.การปล่อยน้ำทิ้งจะปล่อยตรงบริเวณใด ถ้าหากมีการบำบัดแล้ว ชาวบ้านจะเชื่อใจได้อย่างไรว่าน้ำมีความสะอาด 3.ทางเข้าโรงงานจะมีการวิ่งรถวันละกี่เที่ยว เพราะปากทางอยู่ห่างจากโรงเรียนบ้านปากข้าวสาร ประมาณ 200 กว่าเมตร มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมต้น ตอนเช้าและตอนเย็นจะมีรถผู้ปกครองมารับนักเรียนเป็นจำนวนมาก จะทำอย่างไร ซึ่งทางโรงงานตอบได้เพียงว่า พื้นที่ดังกล่าวสามารถก่อสร้างได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่สีเขียว และเป็นโรงงานอุตสาหกรรมต่อยอดเกษตรแปรรูป แต่ถึงอย่างไรต้องหาข้อมติ เพราะตอนนี้โรงงานยังไม่มีการซื้อที่ดิน ยังไม่มีการดำเนินการ ซึ่งบริษัทสามารถโยกย้ายไปสร้างที่อื่นได้ เพราะยังไม่เสียหาย ตัวแทนต้องนำข้อมูลกลับไปพิจารณา

ทั้งนี้ หลังจากลงพื้นที่บริเวณ ต.ปากข้าวสาร และ ต.หนองยาว ทางผู้ตรวจการมองเห็นว่าประชาชนมีความเดือดร้อนจริง ๆ และมั่นใจว่าไม่ได้เป็นการจ้างมาแน่นอน ซึ่งได้คุยกับตัวแทนของบริษัทว่า ให้นำข้อมูลในส่วนนี้กลับไปพิจารณา และถ้าหากยืนยันที่จะทำการก่อสร้างคงจะเป็นเรื่องยาก เพราะชาวบ้านมีการคัดค้านเป็นจำนวนมาก

Advertisment

“ข้อมูลทั้งหมดทางผู้ตรวจการจะมีการสรุปว่า โรงงานตอบได้หรือไม่ สภาพพื้นที่มีความเหมาะสมหรือไม่ คาดว่าไม่เกิน 10 วัน จะสามารถสรุปข้อมูล และแจ้งมาทางผู้ว่าราชการจังหวัด และกระจายไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเพื่อเป็นข้อมูลบันทึกแนบในการตัดสินใจที่จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้มีการก่อสร้างโรงงาน”

สำหรับประเด็นเรื่องที่ดินนั้น ทางบริษัทได้มีการซื้อขายเฉพาะทางเข้าโรงงานพื้นที่ประมาณ 3 งาน เพราะตอนแรกโรงงานจะใช้ถนนส่วนบุคคลของชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านไม่ยอม โรงงานจึงไปซื้อพื้นที่เพื่อทำทางเข้า ซึ่งหากทางโรงงานจะขาย ชาวบ้านพร้อมซื้อคืน ส่วนพื้นที่ 287 ไร่ ยังไม่มีการซื้อขาย เข้าใจว่ามีการวางมัดจำบางส่วน”

นายประธีป นิลมูล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.หนองยาว อ.เมือง จ.สระบุรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมได้มีการชี้แจงให้กับผู้ตรวจการได้รับทราบถึงการดำเนินการของบริษัทที่ผ่านมา แม้ว่าทางบริษัทจะชี้แจงว่ามีระบบการบำบัดน้ำเสียต่าง ๆ ที่จะไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชน แต่ทางชาวบ้านไม่มีความเชื่อมั่น และยังเดินหน้าคัดค้านต่อไป ซึ่งทางผู้ตรวจการได้พูดกับทางบริษัทว่า ต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้ดีกว่านี้ เพราะสิ่งแวดล้อมอย่างแหล่งน้ำเป็นหัวใจหลักของชาวบ้านที่ต้องใช้ในการอุปโภค บริโภค ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างมาก

“ส่วนพื้นที่ในการก่อสร้างนั้น ที่ดินจังหวัดแจ้งว่ามีการซื้อขายที่ดินและมีการโอนกรรมสิทธิ์ เพียง 3 งาน ปากทางเข้าโรงงาน แต่พื้นที่ 287 ไร่ที่จะทำการก่อสร้างโรงงานนั้นเป็นแค่การวางมัดจำ เราก็แจ้งไปว่าถ้าต้องการขาย ชาวบ้านพร้อมจะซื้อคืน แต่ทางบริษัทยังไม่ได้รับปากว่าจะขายคืนแต่อย่างใด ส่วนที่ดินก่อสร้างโรงงานมีเพียงการวางมัดจำ ซึ่งในใบสัญญามัดจำพื้นที่ไม่มีวันหมดอายุ ทางบริษัทจะทำการซื้อขายเมื่อไหร่ก็ได้ คาดว่าอีกนานปัญหานี้จะยืดยาวชาวบ้านต้องสู้กันต่อไป”

Advertisment

นายประธีป นิลมูล กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มีการเสนอแนะให้ทางบริษัทจัดทำประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็นของประชาชน อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และให้หน่วยงานราชการเป็นแม่งาน ถ้าผลมติอออกมาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก่อนการก่อสร้างโรงงานก็ให้ยึดเสียงข้างมาก ซึ่งทางบริษัทไม่ได้รับปากแต่อย่างใด ส่วนการเปิดรับฟังความเห็นของชาวบ้านเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ทางชาวบ้านบางส่วนได้มีการไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ และทำหนังสือยื่นที่ศูนย์ดำรงธรรมของอำเภอและจังหวัดว่าการประชุมในวันดังกล่าวนั้นเป็นการจัดประชุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการจัดขึ้นโดยบริษัท