ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ตัวแทนจากคณะก้าวหน้า ทีมธนาธรได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม หรือบอร์ดประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน 6 คนรวด สปส.เตรียมเสนอชื่อต่อรมว.แรงาน เพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการประกันสังคมต่อไป
วันที่ 25 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ศูนย์อำนวยการจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม หรือบอร์ดประกันสังคม รายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ หลังนับคะแนนไปแล้ว 100%
ผลการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ในฝ่ายผู้ประกันตน ทีมประกันสังคมก้าวหน้ากวาดที่นั่งไปทั้งหมด 6 ที่นั่ง ส่วนอีกที่นั่งเป็นของนายปรารถนา โพธิ์ดี ประธานเครือข่ายพนักงานราชการไทย
ผลการเลือกตั้ง ผู้สมัครเลือกตั้งที่ได้รับคะแนนสูงสุด 7 อันดับ จากมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 156,870 คน ประกอบด้วย
- นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี 71,917 คะแนน
- นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน 69,403 คะแนน
- นายชลิต รัษฐปานะ 69,264 คะแนน
- นายศิววงศ์ สุขทวี 69,256 คะแนน
- น.ส.นลัทพร ไกรฤกษ์ 68,133 คะแนน
- นางลักษมี สุวรรณภักดี 67,113 คะแนน
- นายปรารถนา โพธิ์ดี 15,080 คะแนน
ผลการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ฝ่ายนายจ้าง นับคะแนนครบแล้ว 100% ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 7 อันดับ ได้แก่
- ดร.มนตรี ฐิรโฆไท จาก บจก.กะรัต เอ็นเตอร์ไพร์ส (ประเทศไทย) 409 คะแนน
- นางวิภาพรรณ มาประเสริฐ จาก บจก.รักษาความปลอดภัย ดูอิ้งเวล แอนด์ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส เซส 403 คะแนน
- นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง จาก บจก.อีคอท ดีเวลลอปเม้นท์ เซ็นเตอร์ 368 คะแนน
- นายสมพงศ์ นครศรี จาก บจก.สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล 319 คะแนน
- นายสุวิทย์ ศรีเพียร จาก บจก.ไทยจิระพัฒน์ 315 คะแนน
- นายทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ จาก บจก.นำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศไทย อินเตอร์ซิตี้ 258 คะแนน
- น.ส.เพชรรัตน์ เอกแสงกุล จาก บมจ.อีซึ๋น แอนด์ โค 252 คะแนน
สำนักงานประกันสังคมแจ้งว่า จะตรวจสอบผลการเลือกตั้งและเตรียมรับรองผลการเลือกตั้ง ก่อนแถลงข่าวผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 ธันวาคม 2566
ทั้งนี้ การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประกันสังคมไทย เปลี่ยนจากจากอดีตที่เป็นการเลือกตั้งจากผู้แทนเป็นการภายใน โดยครั้งนี้เป็นการคัดเลือกตัวแทนของผู้ประกันตนและนายจ้างจำนวนกว่า 24 ล้านคนในระบบประกันสังคม เพื่อทำหน้าที่เสนอความเห็นและนโยบายในการดูแลจัดการบริหารกองทุนประกันสังคม โดยหวังว่าจะทำให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด
โดยมีผู้มาใช้สิทธิต่ำกว่าที่คาดการณ์ โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ แถลงว่าตัวเลขผู้มาใช้สิทธิน่าผิดหวัง คาดการณ์ว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิไม่ต่ำกว่า 50% ที่สำคัญนี่ถือว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งกระทรวงมา จะต้องนำข้อมูลมาทบทวนเพื่อปรับปรุงในการดำเนินการครั้งต่อไป
ซึ่งฝ่ายนายจ้างมีผู้มาใช้สิทธิเพียง 1,465 คน จาก 3,129 คน คิดเป็นราว 46.82% เท่านั้น ขณะที่ฝ่ายผู้ประกันตน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 156,870 คน จากทั้งหมด 854,414 คน คิดเป็น 18.36%
นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ผู้สมัครหมายเลข 27 ตัวแทนของทีมประกันสังคมก้าวหน้า แถลงข่าวหลังจากผลการนับคะแนนเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมผ่านไปแล้ว 60% ว่า “ชัยชนะครั้งนี้เป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยอีกครั้ง ชัยชนะของผู้ที่ไม่ยอมจำนน ชัยชนะของผู้ปรารถนาการเปลี่ยนแปลง”
อนึ่ง ทีมที่ชนะเลือกตั้งฝ่ายตัวแทนผู้ประกันตน เป็นทีมที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของคณะก้าวหน้า โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้เปิดตัวผู้สมัครบอร์ดประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตน 7 คน ดังนี้
- นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นายศิววงศ์ สุขทวี ที่ปรึกษาเครือข่าวองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
- นายชลิต รัษฐปานะ สมาชิกสหภาพคนทำงาน
- นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต
- น.ส.นลัทพร ไกรฤกษ์ นักสื่อสาร-นักรณรงค์เรื่องสิทธิความเท่าเทียมสำหรับผู้พิการ
- นางลักษมี สุวรรณภักดี ประธานสหภาพแรงงาน มอลลิเก้ เฮลท์ แคร์ ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ
- น.ส.ธนพร วิจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน (ขาดคุณสมบัติเพราะถูกเลิกจ้าง)
ทางด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการ สปส. เปิดเผยว่า โดยภาพรวมการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขอขอบคุณผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งทุกคน และสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าว สร้างการรับรู้ ให้ผู้ประกันตนได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้อย่างถูกต้อง
ขณะนี้ สปส.ได้ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน เป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ฝ่ายละ 7 คน อย่างไม่เป็นทางการแล้ว
สำหรับขั้นตอนต่อไป คณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งแต่ละจังหวัดและกรุงเทพมหานคร (กดต.) จะรายงานผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการมายังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ กกต.จะได้ประชุมเพื่อประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดย สปส.จะได้เสนอชื่อผู้ได้รับเลือกตั้งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการประกันสังคมฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนต่อไป