“ศุภชัย” ยันไม่ขัดแย้ง “สนช.” ปมผู้ตรวจการเลือกตั้ง ชี้แจงให้ “บิ๊กตู่” รับทราบแล้ว

‘ศุภชัย’ ยันไม่ขัดแย้ง ’สนช.’ ปมผู้ตรวจการเลือกตั้ง ชี้แจงให้ ‘บิ๊กตู่’ รับทราบแล้ว เชื่อไร้ใบสั่งยืนยันทำหน้าที่ตาม กม.กำหนด

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่อิมแพค เมืองทองธานี นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 เพื่อแก้ไขการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งว่า ไม่ได้ขัดแย้งอะไร เพียงแต่ กกต.ชี้แจงเท่านั้น ทำตามตารางที่วางไว้ในการทำงาน ส่วนที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุหากมีการโละผู้ตรวจการเลือกตั้ง อาจทำให้การเลือก ส.ว.มีปัญหาล่าช้านั้น กกต.ทำไปตามกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ตอนนี้ยังไม่ได้แต่งตั้ง เพียงแต่คัดเลือกเสร็จก็ส่งไปให้แต่ละจังหวัดประกาศ

“ถ้ามีการคัดค้านว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งที่คัดเลือกไปไม่มีความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่เป็นกลาง ไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ ขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม กกต.ก็ไม่ตั้ง การจะตั้งหรือไม่ตั้ง ตอนนี้เป็นช่วงรอยต่อระหว่างรอมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง กกต.ชุดใหม่ ถ้าโปรดเกล้าฯลงมาแล้ว จะเป็นหน้าที่ของ กกต.ชุดใหม่ เพียงแต่ดำเนินการตามกระบวนการไว้แล้ว และท่านก็จะมาดู” นายศุภชัยกล่าว

เมื่อถามว่า ตามกฎหมายสามารถโละได้ทั้งหมดหรือได้บางส่วน เพราะ สนช.ยืนยันว่าเขามีสิทธิแก้กฎหมาย นายศุภชัยกล่าวว่า ใช่ สนช.ทำหน้าที่ออกกฎหมาย ส่วน กกต.เป็นผู้ปฏับัติ กฎหมายว่าอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น ไม่สามารถก้าวล่วงออกกฎหมายได้ ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่ ไม่สามารถไปวิพากษ์วิจารณ์ได้ เราทำตามหน้าที่ วันนี้ในงานที่เมืองทองธานี ได้เรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.อย่างที่ให้สัมภาษณ์สื่อ โดยนายกฯก็ไม่ได้ว่าอะไร และเชื่อว่าไม่มีใบสั่ง มาที่ สนช.

นายศุภชัยกล่าวว่า ถ้าผู้ตรวจการเลือกตั้งไม่ดี ก็ปลดได้ตลอด เพราะในกฎหมายกำหนดว่าไม่ว่าเวลาใดๆ ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า หรือมีเหตุสงสัยว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่ไม่มีความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่เป็นกลาง และ กกต.ใหม่ก็สามารถปลดได้ตลอดเวลา ส่วนที่ฝ่ายการเมืองตั้งข้อสังเกตว่าหาก สนช.แก้ไขกฎหมายจริงจะกระทบโรดแม็ปเลือกตั้งนั้น ต้องไปถามคนที่ออกกฎหมาย กกต.เป็นเพียงผู้ปฏิบัติ กฎหมายออกมาอย่างไรเราก็ปฏิบัติตามนั้น เราดู พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้ซึ่ง ส.ว.แล้ว จะครบกำหนด 90 วัน ภายในวันที่ 13 กันยายน ขณะที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.จะมีเวลาอีก 90 วันบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขณะที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ว.จะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมผู้ตรวจการเลือกตั้ง เพราะผู้ตรวจการเลือกตั้ง จะเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง ส.ว.ด้วย

 

ที่มา : มติชนออนไลน์