ฝ่ายค้าน จ่อยื่น ป.ป.ช. ไต่สวน “ประยุทธ์” บริหารโควิดผิดพลาด

6 พรรคฝ่ายค้าน เตรียมยื่นให้ ป.ป.ช. เอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ – ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง

วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค นำโดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล นายวิรัตน์ วรศสิริน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย

นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย เตรียมยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564

ขอให้ไต่สวนและมีความเห็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 26, 47, 53, 55, 62, 164, 234 และมาตรา 235 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558,

พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542, พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520, พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 28 (1), (2) และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

นายประเสริฐ กล่าวว่า เหตุผลที่ 6 พรรคฝ่ายค้านยื่นให้ ป.ป.ช.ไต่สวน พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 53 รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โยงมาถึงฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยได้ปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำให้เชื้อโรคโควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดใหญ่ ประชาชนต้องล้มป่วยและเสียชีวิตไปจำนวนมากต่อไป

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ฝ่ายค้านเคยเปิดประเด็นที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการหน้ากากอนามัย ที่มีราคาสูงกว่าในท้องตลาดเมื่อช่วงโควิด-19 ระบาดรอบแรก โดยไม่มีการควบคุมราคาปล่อยให้ราคาเกิน เป็นต้น