3M เผยสำรวจ โควิดสร้างแรงขับเคลื่อน ให้คนมุ่งสู่อาชีพสะเต็มมากขึ้น

จิม ฟอลเทเซ็ก รองประธานกรรมการอาวุโส ฝ่ายบริหารองค์กรประจำภูมิภาคเอเชียของ 3เอ็ม และกรรมการผู้จัดการ 3เอ็ม เกาหลี

3เอ็ม เผยผลสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ประจำปี 2564 โลกต้องการบุคลากรในวิชาชีพสะเต็มมากขึ้น แนะไทยต้องส่งเสริมทุนมนุษย์ด้านนี้ทันที แก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลน

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้เห็นว่า ความรู้ในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็มศึกษา (Science, Technology, Engineering and Math: STEM) มีความสำคัญมากกว่าที่เคย เพราะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ไปจนถึงการสร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ช่วยเอาชนะความท้าทาย และความหลากหลายที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกครั้งนี้

จากผลการสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ประจำปี 2564 (State of Science Index 2021) ซึ่งเป็นการศึกษาการรับรู้ด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลกของ 3เอ็ม (3M) ครั้งที่ 4 โดยปีนี้ทำการสำรวจผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปี จำนวน 1,000 คนทั่วโลก ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APAC) และทั่วโลกเกือบทั้งหมดเห็นว่า โลกต้องการบุคลากรในวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาสะเต็มมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเห็นด้วย 91% และผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลกเห็นด้วย 90%

“จิม ฟอลเทเซ็ก” รองประธานกรรมการอาวุโส ฝ่ายบริหารองค์กรประจำภูมิภาคเอเชียของ 3เอ็ม และกรรมการผู้จัดการ 3เอ็ม เกาหลี กล่าวว่า นอกเหนือจากที่องค์กรต้องทำการศึกษากรณีศึกษา (case study) ด้านธุรกิจ มุ่งเน้นเพิ่มอัตราส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของผู้บริโภค เพื่อนำมาสู่ประโยชน์ที่ภาคธุรกิจสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว การศึกษา case study สำหรับการพัฒนานักคิด ผู้นำ และนักสร้างสรรค์รุ่นต่อไป ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง

จากผลการสำรวจ State of Science Index 2021 พบว่า การเสริมศักยภาพด้านสะเต็มให้แก่บุคลากร มีความสำคัญเป็นประการแรก นอกจากนั้นต้องเสริมสร้างและพัฒนาทักษะของเยาวชนในสายงานที่เป็นที่ต้องการ เพื่อช่วยยกระดับผลิตภาพ นวัตกรรม และความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น

Advertisment

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ กำลังขาดแคลนผู้มีความสามารถด้านสะเต็ม และสิ่งนี้เป็นความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในสาขาสะเต็ม ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีทุนมนุษย์ (human capital) ด้านสะเต็มเพิ่มมากขึ้น เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจด้านนวัตกรรม และแก้ไขปัญหาความขาดแคลนคนในสาขานี้

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจของ 3เอ็มพบว่า ผู้คน 2 ใน 3 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีแรงบันดาลใจในการมุ่งประกอบอาชีพสาขาสะเต็มมากขึ้น อยู่ที่ 66% ขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ 60% นอกจากนั้นผู้คน 63% ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเชื่อว่า นักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นใหม่ ในการประกอบอาชีพที่มีพื้นฐานเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ในอนาคต ขณะที่ทั่วโลกมีความเชื่อเช่นเดียวกันนี้อยู่ที่ 62%

ดังนั้น ภาคธุรกิจต้องส่งเสริมให้เยาวชนศึกษาและประกอบอาชีพในสาขาวิชาเหล่านี้มากขึ้น โดยจะต้องดำเนินการในทันที

“จิม” กล่าวต่อว่า ความสำคัญเป็นประการที่ 2 คือ ภาคธุรกิจต้องใช้ประโยชน์จากมุมมองที่หลากหลายของเยาวชน และส่งเสริมให้เยาวชนศึกษาและประกอบอาชีพในสาขาวิชาสะเต็มมากขึ้น แม้ว่าผู้นำมีประสบการณ์มากมาย และมีสูตรความสำเร็จของตัวเองที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้ว แต่บางครั้งก็จำเป็นต้องมีมุมมองใหม่ ๆ ที่แตกต่าง ซึ่งเยาวชนมักมีแนวคิดใหม่ ๆ และท้าทายขีดจำกัดของสิ่งที่ทำได้หรือทำไม่ได้อยู่เสมอ

Advertisment

แนวคิดข้างต้นสามารถอธิบายได้ด้วยหลักประสาทวิทยาศาสตร์ โดยการวิจัยพบว่า คอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) ของสมอง ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการวางแผนและการตัดสินใจของมนุษย์ จะไม่เติบโตจนถึงอายุประมาณ 25 ปี จึงทำให้เยาวชนเป็นผู้กล้าที่จะเผชิญกับความท้าทายและความเสี่ยง ซึ่งช่วยให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้น รับทักษะได้เร็วขึ้น รวมถึงมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ ภาคธุรกิจจำนวนมากจึงได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ สำหรับเยาวชน เพื่อเร่งและบ่มเพาะความสามารถของพวกเขา รวมถึงใช้กรณีศึกษาเกี่ยวกับเยาวชนด้านต่าง ๆ

เมื่อกรณีศึกษาชี้ชัดว่า องค์กรควรสนับสนุนการพัฒนาเยาวชนด้านสะเต็มศึกษา แต่องค์กรควรทำอย่างไร? ในเรื่องนี้ “จิม” บอกว่า ผลการสำรวจ State of Science Index ของ 3เอ็ม ได้บอกเป็นนัยเกี่ยวกับการดำเนินการที่องค์กรให้ความสำคัญในอันดับต้น ๆ ประกอบด้วย 4 ข้อ ดังนี้

  1. การสร้างแหล่งข้อมูลสำหรับเยาวชน เพื่อให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อายุยังน้อย (ผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 46% และทั่วโลก 44%)
  2. การลงทุนสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กมีความรักต่อวิทยาศาสตร์ (ผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 42% และทั่วโลก 39%)
  3. การมอบเงินสนับสนุนหรือทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่ด้อยโอกาส (ผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 41% และทั่วโลก 43%)
  4. การจัดโครงการต่าง ๆ เช่น การฝึกงาน ค่ายฤดูร้อน และการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เพื่อช่วยให้นักเรียนได้ศึกษาด้านสะเต็ม (ผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 40% และทั่วโลก 43%)

“3เอ็มให้ความสำคัญต่อผลของการสำรวจข้างต้นเป็นอย่างมาก เราจึงได้กำหนดเป้าหมายใหม่ในการพัฒนาเยาวชนทั่วโลก ที่จะสร้างการเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษา และการพัฒนาทักษะและความรู้ด้านวิชาชีพเฉพาะทาง (skilled trades) ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะจำนวน 5 ล้านประสบการณ์ ให้แก่บุคคลด้อยโอกาสภายในสิ้นปี 2568”

นอกจากนี้ ได้จัดการแข่งขัน The 3M Inspire Challenge ในประเทศไทย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยโครงการดังกล่าวเป็นโครงการระดับภูมิภาคที่เชิญชวนให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีมาร่วมนำเสนอแนวคิดทางธุรกิจด้านเทคโนโลยี ความยั่งยืน และนวัตกรรม

“ในฐานะที่ 3เอ็มเป็นบริษัทนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลก เราต้องการมีบทบาทสำคัญในการลงทุนกับคนรุ่นใหม่ที่ถือเป็นอนาคตของเรา และมุ่งมั่นที่จะสร้างแรงบันดาลใจแก่องค์กรต่าง ๆ”