บทเรียน “แซนด์บอกซ์” คดี “แหม่มสวิส” สะท้อน SOP ล้มเหลว

ไว้อาลัยนักท่องเที่ยวสาวชาวสวิส

นับเป็นอีกหนึ่ง “บทเรียน” ของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยกรณีการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวสาวชาวสวิตเซอร์แลนด์ ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ปัญหาเดิม ๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ไม่ได้วางระบบป้องกันและแก้ไขลงไปถึงรากเหง้าของปัญหาอย่างแท้จริง

ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิต ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำได้ดีที่สุด คือ ออกมาแสดงความเสียใจผ่านตัวหนังสือที่ส่งไปยังสถานทูตของประเทศนั้น ๆ รวมถึงแถลงการณ์ผ่านสื่อ และรับปากว่าจะเร่งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยเพิ่มเติม

ปัญหาซ้ำซาก-ไม่แก้ไข

แหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่ง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาเรื่องความปลอดภัยของเมืองท่องเที่ยวหลักของไทยยังคงเป็นปัญหาระดับชาติที่ยังไม่ถูกแก้ไขอย่างแท้จริง กรณีคดีแหม่มสวิสครั้งนี้ก็เช่นกัน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็ยังคงใช้วิธีการแก้ไขปัญหารูปแบบเดิม ๆ สะท้อนชัดเจนจากเวทีแถลงข่าวปิดคดีที่ภูเก็ตเมื่อเช้าวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา

โดย “พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข” ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้กล่าวแสดงความเสียใจกับการสูญเสียครั้งนี้ พร้อมย้ำว่า แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถจับคนร้ายได้ในเวลาอันรวดเร็วแต่ก็ไม่อาจจะทดแทนกับความสูญเสียของครอบครัวผู้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตามก็จะมุ่งมั่นดูแลความปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นใจ และหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวประเทศไทยอีกในอนาคต

เช่นเดียวกับ “ณรงค์ วุ่นซิ้ว” ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ที่บอกว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้หลายหน่วยงานจะหารือถึงแนวทางการดูแลรักษาความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นจากเดิม พร้อมทั้งเตรียมสำรวจแหล่งท่องเที่ยวที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรือเหตุร้ายต่อนักท่องเที่ยว เพื่อยกระดับความปลอดภัยและเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยว

Advertisment

ภูเก็ตแคร์

ขณะที่ “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และ ททท.รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมยอมรับว่าคดีดังกล่าวเป็นเรื่องที่สะเทือนใจและมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ส่วนจะกระทบกับโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์หรือไม่นั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานในต่างประเทศติดตามข้อมูลและประเมินผลอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม หากดูจากตัวเลขการจองห้องพักยังพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหลายทั้งปวงที่แถลงบนเวทีครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ทุกครั้งที่เกิดเหตุสะเทือนขวัญและกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวนั้น สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กล่าวแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และระบุว่าจะยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้เพิ่มขึ้นเท่านั้น สุดท้ายก็ยังเกิดขึ้นซ้ำซากเหมือนเดิม

Advertisment

ทุบเชื่อมั่น “ท่องเที่ยว”

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอีกรายหนึ่งที่บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวทางการแก้ปัญหาในทุกครั้งที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนบริหารแบบ “วัวหายล้อมคอก” ทั้งสิ้น เพราะหากย้อนดูอดีตที่ผ่านมา คดีสะเทือนขวัญนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทำลายความเชื่อมั่นในเรื่องของด้านการท่องเที่ยวมาหลายครั้งหลายครา

ตัวอย่างคือ คดีฆ่าข่มขืนนักท่องเที่ยวสาวชาวอังกฤษ 2 คน บนเกาะเต่า (สุราษฎร์ธานี) เมื่อปี 2557 ครั้งนั้นสื่อต่างประเทศต่างตั้งฉายา “เกาะเต่า” เกาะสวรรค์ของบ้านเราเป็น “เกาะแห่งความตาย” เป็นที่จดจำของนักท่องเที่ยวต่างชาติไปหลายปีทีเดียว หรือคดีข่มขืนทุบหัวนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันบนเกาะสีชัง ชลบุรี เมื่อปี 2561 ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่นักท่องเที่ยวมาเสียชีวิตในเมืองไทยจากบริการที่ไม่ได้มาตรฐานอีกจำนวนมาก

“หากฟังจากเวทีแถลงปิดคดีครั้งนี้สะท้อนชัดเจนว่า การเปิดรับนักท่องเที่ยวของภูเก็ตครั้งนี้หลายภาคส่วนยังไม่มีการเตรียมความพร้อมเลย เช่น กรณีของการสำรวจแหล่งท่องเที่ยวที่จังหวัดเองก็ยังไม่รู้ว่าแหล่งท่องเที่ยวไหนบ้างที่พร้อมเปิด หรือที่ไหนบ้างที่ยังไม่พร้อมเปิดบริการ รวมถึงมาตรฐานและความปลอดภัยในการให้บริการของโรงแรม”

ซัดระบบ SOP ล้มเหลว

แหล่งข่าวรายเดิมยังชี้ประเด็นด้วยว่า กรณีคดีของนักท่องเที่ยวสาวชาวสวิตเซอร์แลนด์ครั้งนี้ หน่วยงานด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวและจังหวัดภูเก็ตจะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ เนื่องจากการเดินทางท่องเที่ยวขณะนี้ไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ แต่ประเทศเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาแบบมีเงื่อนไข และอยู่ภายใต้สถานการณ์การควบคุมโรคระบาดในโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดคู่มือปฏิบัติงาน หรือ standard operating procedure : SOP เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด

รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัย แผนเผชิญเหตุในทุก ๆ ขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการก่อนที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา ระหว่างที่นักท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย กระทั่งถึงกระบวนการส่งนักท่องเที่ยวเดินทางออกจากประเทศไทย

เรียกว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคนที่เข้ามาต้องอยู่ในความดูแลของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด รู้ว่าในแต่ละช่วงเวลานักท่องเที่ยวอยู่ที่ไหน ที่สำคัญต้องดูแลตลอดเวลาที่นักท่องเที่ยวอยู่ในประเทศ ไม่ใช่ดูแลเฉพาะตอนอยู่ในโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” 14 วันเท่านั้น

พร้อมระบุว่า เหตุการณ์คดีสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นครั้งนี้สะท้อนถึงความ “ไม่พร้อม” ในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และ “ความล้มเหลว” ของระบบ SOP ของ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” อย่างชัดเจน

ผลของ “ไม่พร้อม-บอกพร้อม”

และย้อนความว่า ก่อนหน้าที่จะคิกออฟ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีหลายภาคส่วนท้วงติงคณะทำงานไปแล้วว่า กรอบปฏิบัติงาน หรือ SOP ที่ออกมานั้นไม่ชัดเจนในหลาย ๆ ประเด็น โดยเฉพาะเรื่องของระบบการตรวจสอบการฉีดวัคซีนของนักท่องเที่ยว (vaccine certificate) เครื่องมือลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ระบบติดตามตัวนักท่องเที่ยวแบบเรียลไทม์ ฯลฯ รวมถึงแผนเผชิญเหตุหากเกิดการแพร่ระบาดของโรค และกรณีเกิดเหตุอื่นใดกับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประเทศไทยเชิญชวนเข้ามา

“ในห่วงเวลานี้ต้องถือว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะไม่ปกติ เราอยู่ในสถานการณ์โรคระบาด หรือในภาวะวิกฤตนักท่องเที่ยวที่เข้ามาภายใต้โครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์นั้นประเทศไทยต้องดูแลตลอดเวลาที่นักท่องเที่ยวยังพำนักอยู่ในประเทศไทย ไม่ใช่ดูแลเพียงแค่ 14 วัน พอเกิดเหตุแล้วปัดความรับผิดชอบอ้างว่าเขาออกจากแซนด์บอกซ์แล้ว และพักในโรงแรมที่ไม่ใช่ SHA+”

พร้อมให้ข้อมูลด้วยว่า ไม่ต้องรุนแรงขนาดนักท่องเที่ยวเสียชีวิต แค่นักท่องเที่ยวที่ออกจากแซนด์บอกซ์แล้วเดินทางไปที่อื่นและติดโควิดก็ต้องรับผิดชอบและดูแลนักท่องเที่ยวเช่นกัน

ดังนั้น หัวใจสำคัญของระบบ SOP คือ ต้องมีข้อมูล มีไทม์ไลน์นักท่องเที่ยวที่ชัดเจนตลอดเวลาที่อยู่ในเมืองไทย และมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่คอยติดต่อประสานงาน

กรณีนี้จึงไม่เพียงแค่ความล้มเหลวของ SOP เท่านั้น แต่ยังเป็นความล้มเหลวของ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ด้วย