Startups Poland ยกทัพร่วมมือกับ “ไทย” หวังต่อยอดโนฮาวธุรกิจที่มีศักยภาพ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ ร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จัดโครงการแลกเปลี่ยนความรู้นวัตกรรมทางด้านอาหารและเกษตร โดยได้พาคณะนักธุรกิจสตาร์ทอัพจากโปแลนด์ จำนวน 4 ราย เข้าร่วมงาน Startup Thailand 2019 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-27 ก.ค. 2562

และในวันนี้ (26 ก.ค.62) “Julia Krysztofiak-Szop” ประธานองค์กร startup Poland ซึ่งเป็นหน่วยงาน Think Tank และเป็นกระบอกเสียงที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโปแลนด์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” กล่าวถึงจุดประสงค์ที่สำคัญของการมาเยือนประเทศไทยครั้งนี้ ซึ่งกล่าวว่า การลงนามความร่วมมือระหว่าง องค์กร Startup Poland และ NIA ประเทศไทย ถือได้ว่าโปแลนด์เป็นพันธมิตรแรกของ NIA ในภูมิภาคยุโรปกลาง ขณะเดียวกัน NIA ก็เป็นพันธมิตรแรกของ Startup Poland ในเอเชียเช่นเดียวกัน

ประธาน Szop กล่าวด้วยว่า “ecosystem” หรือ ระบบนิเวศสำหรับสตาร์ทอัพเป็นสิ่งจำเป็น และโปแลนด์ก็ให้ความสำคัญอย่างมาก ทั้งยังมองว่า ไทยและโปแลนด์ค่อนข้างมีความใกล้เคียงกันในหลายด้าน เช่น ขนาดจำนวนประชากร การให้ความสำคัญด้านสตาร์ทอัพของภาครัฐ รวมไปถึงการสร้างเทคโนโลยีด้านโซลูชั่นต่างๆ เพื่อพัฒนาประเทศ

นอกจากนี้ ไทยและโปแลนด์ ต่างก็จัดอยู่ในลำดับที่ใกล้เคียงกันในการจัดอันดับ “ดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก” (Global Competitiveness Index: GCI) ในปี 2018 โดยโปแลนด์อยู่อันดับที่ 37 และไทยอยู่อันดับ 38 ดังนั้น ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันพัฒนาและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เชี่ยวชาญ และช่วยกันยกระดับความสามารถของทั้งสองประเทศมากยิ่งขึ้น

Advertisment

“สตาร์ทอัพในโปแลนด์มีพัฒนาการและเติบโตค่อนข้างมากอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เรามีสตาร์ทอัพประมาณ 1,000 ราย และในปัจจุบันจำนวนสตาร์ทอัพของเราอยู่ที่ 3,000 ราย ขณะที่การสำรวจหรือการวิจัยต่างๆ องค์กรสตาร์ทอัพโปแลนด์ทำงานร่วมกับบริษัทร่วมทุนอื่นๆ ราว 130 แห่ง”

ทั้งนี้ ประธานองค์กรฯ กล่าวย้ำด้วยว่า เป็นโอกาสที่ดีมากๆ สำหรับประเทศไทย เพราะสตาร์ทอัพของไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาและต่อยอดได้ โดยโปแลนด์เปรียบเสมือนเป็น “Gateway” เข้าสู่ตลาดยุโรปได้ ทั้งนี้ ยังได้กล่าวยกตัวอย่างถึงสตาร์ทอัพของโปแลนด์ที่น่าสนใจ และมีความเชี่ยวชาญ ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีฟินเทค เช่น บริษัทสตาร์ทอัพ Blik บริการการชำระเงินบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันทำงานร่วมกับธนาคารหลายแห่งในโปแลนด์ อาทิ ธนาคาร Alior Bank, Bank Millennium, Bank Azchodni WBK, mBank, ING Bank และ PKO Bank Polski เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีด้านบล็อกเชน, ธุรกิจประกัน รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีกับระบบการศึกษา ซึ่งโปแลนด์ให้ความสำคัญกับสาขาอาชีพที่สำคัญและขาดแคลนในหลายประเทศทั่วโลก อย่าง “วิศวกร” ซึ่งเราพยายามนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการเรียนการสอนในวิธีต่างๆ

Advertisment

“Julia Krysztofiak-Szop” ยังกล่าวด้วยว่า โปแลนด์ ได้รับการขนานนามว่าเป็นประเทศที่มีความเท่าเทียมระหว่างเพศในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมากที่สุดในยุโรป โดยสัดส่วนผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพเป็น “ผู้หญิง” มากพอๆ กับผู้ชาย ขณะที่การคิดค้นซอฟต์แวร์ต่างๆ ในโปแลนด์ค่อนข้างโดดเด่น โดยเรามีนักพัฒนาซอฟต์แวร์อยู่ราวๆ 254,000 รายในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ประธานองค์กรสตาร์ทอัพโปแลนด์ ยังมองว่า เทคโนโลยีสตาร์ทอัพที่น่าสนใจของไทย ได้แก่ “เทคโนโลยีการบริการผู้บริโภค” (consumer service technology) เช่นในธุรกิจค้าปลีก และการเกษตร เป็นต้น โดยทางโปแลนด์ สนใจที่จะเรียนรู้โนฮาวจากฝั่งไทยในหลายธุรกิจเช่นเดียวกัน ซึ่งการ MOU ครั้งนี้ ก็เพื่อมุ่งพัฒนา และการเพิ่มศักยภาพเพื่อความพร้อมก่อนออกสู่ตลาดต่างประเทศ ตลอดจนหารือแนวทางความร่วมมือในการทำโครงการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและสตาร์ทอัพระหว่างกัน การอำนวยความสะดวกในการเปิดตลาดต่างประเทศแก่สตาร์ทอัพ

ทั้งนี้ แผนการหลังจากนี้ ประธานองค์กรฯ คาดว่า จะเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้จากการเยือนไทยครั้งนี้ ร่วมมือคัดกรองสตาร์ทอัพของโปปลนด์ที่มีศักยภาพตรงกับความต้องการของตลาดไทย เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ระหว่างกัน โดยก่อนหน้านี้ โปแลนด์ ได้ขยายความร่วมมือในลักษณะนี้ในหลายประเทศ เช่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ขณะที่ สัดส่วนการทำธุรกิจของโปแลนด์ในเอเชียมีอยู่น้อยมาก เพียงราวๆ 3% เท่านั้น