ความท้าทาย “เครื่องบินจีน” เมื่อต้องพึ่งชิ้นส่วนนำเข้า 40%

เป้าหมายของจีนที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องบินเชิงพาณิชย์ ในการก้าวขึ้นมาแข่งขันในระดับโลกกำลังเจอความท้าทายครั้งใหญ่ เนื่องจากจีนยังคงต้องพึ่งพาชิ้นส่วนประกอบเครื่องบินจากต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า ในงานมหกรรมการบินและอวกาศนานาชาติ หรือ “แอร์ไชว์ ไชน่า” ครั้งที่ 13 จัดขึ้นที่เมืองจูไห่ของจีน ระหว่างวันที่ 28 ก.ย.-3 ต.ค.ที่ผ่านมา กลับไม่มีการเปิดตัวเครื่องบินพาณิชย์รุ่น “ซี 919” (C919) ของจีนในงานครั้งนี้ ตามที่ผู้ร่วมงานคาดหวัง

ทั้งนี้ เครื่องบิน ซี 919 เป็นเครื่องบินพาณิชย์ลำตัวแคบที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัท “โคแม็ก” (COMAC) รัฐวิสาหกิจรายใหญ่ของจีน โดยมีเป้าหมายก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินระดับโลก แข่งขัน

แม้ว่าโคแม็กจะได้จำลองห้องโดยสารเท่าขนาดจริงของเครื่องบิน ซี 919 มาแสดงในงานแอร์ไชว์ ไชน่า ครั้งที่ 13 แต่การที่ไม่สามารถนำเครื่องบินที่เสร็จสมบูรณ์ออกมาโชว์ศักยภาพได้ ทั้งที่ใกล้ถึงกำหนดการส่ง

โดยเครื่องบิน ซี 919 ยังได้ใช้ระยะเวลาในพัฒนาอย่างยาวนาน เริ่มมาตั้งแต่ปี 2008 แม้ว่าโคแม็กจะยืนยันว่าเครื่องบินรุ่นนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาในขั้นสุดท้าย แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็บ่งชี้ว่า อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินของจีนอาจกำลังเผชิญปัญหา

Advertisment

บริษัทหลักทรัพย์เอวีไอซี ซีเคียวริตีส์ (AVIC Securities) ระบุว่า ผู้ผลิตเครื่องบิน ซี 919 ต้องใช้ชิ้นส่วนประกอบจากซัพพลายเออร์ถึง 39 ราย ซึ่งกว่า 40% ของชิ้นส่วนที่จำเป็นต่อการผลิตเครื่องบินรุ่นนี้ต้องนำเข้าจากบริษัทของสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารและระบบควบคุมการบิน

ขณะที่ชิ้นส่วนสำคัญที่สุดอย่างเครื่องยนต์ โคแม็กระบุว่า เครื่องบิน ซี 919 จะใช้เครื่องยนต์ที่พัฒนาขึ้นโดย “ซีเอฟเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล” เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเจเนอรัล อิเล็กทริก ของสหรัฐ และซาฟราน แอร์คราฟต์ เอ็นจินส์ ของฝรั่งเศส

แม้ว่าโคแม็กจะเปิดเผยเพิ่มเติมว่า กำลังพิจารณาปรับใช้เครื่องยนต์ “ซีเจ 1000” (CJ1000) ซึ่งใช้ในอากาศยานทางทหารในปัจจุบัน และพัฒนาขึ้นโดยบริษัทเออีซีซี (AECC) ของจีนเอง แต่ผู้เชี่ยวชาญของบริษัทหลักทรัพย์เจ้อซาง ซีเคียวริตีส์ (Zheshang Securities) คาดว่า การพัฒนาเครื่องยนต์รุ่นดังกล่าวให้ใช้งานได้ในเครื่องบินพาณิชย์ อาจต้องใช้เวลาถึงปี 2030

ดังนั้น อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินของจีนในขณะนี้ จึงขึ้นอยู่กับการส่งมอบชิ้นส่วนจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การผลิตเครื่องบิน ซี 919 ของจีนเสี่ยงที่จะล่าช้า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบระบบซัพพลายเชนทั่วโลก

Advertisment

นอกจากนี้ การพึ่งพาบริษัทต่างชาติโดยเฉพาะสหรัฐ ยังอาจส่งผลให้ผู้ผลิตเครื่องบินจีนต้องเผชิญความเสี่ยงจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เมื่อเดือน ก.พ. 2020 รัฐบาลสหรัฐนำโดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะนั้น ได้เตรียมออกคำสั่งห้ามการส่งออกเครื่องยนต์ไอพ่นไปยังจีน แต่ต่อมาได้มีการระงับการออกคำสั่งดังกล่าว

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินจีนแขวนอยู่บนเส้นด้าย ไม่ต่างไปจากผู้ผลิตสมาร์ทโฟนของจีนที่เคยถูกปิดกั้นจากการเข้าถึงชิปที่ผลิตขึ้นโดยเทคโนโลยีของสหรัฐ ซึ่งจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขวางการก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการบินระดับโลกของจีน