ปลดล็อก “แรงงานย้ายถิ่น” เพิ่มศักยภาพ ศก.อาเซียน

ธนาคารโลก หรือ “เวิลด์แบงก์” เปิดรายงาน “การเคลื่อนย้ายไปสู่โอกาส : การก้าวข้ามอุปสรรคการเคลื่อนย้ายแรงงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” โดยระบุว่า ประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นประเทศที่พักพิงของแรงงานย้ายถิ่นจากประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน มากถึง 6.5 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา

“ฟิลิป โอคีฟ” ผู้จัดการกลุ่มงานด้านการคุ้มครองทางสังคมและแรงงาน ของเวิลด์แบงก์ ระบุว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี ถือเป็นการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจทั้งประเทศผู้ส่งและประเทศผู้รับ โดยแรงงานจะได้แสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า และได้ส่งเงินกลับไปยังประเทศบ้านเกิด ทั้งมีโอกาสได้รับทักษะการทำงานติดตัวกลับมาประเทศ ขณะที่ประเทศผู้รับส่วนใหญ่เผชิญภาวะสังคมผู้สูงวัย และมีจำนวนแรงงานลดลง ก็ได้แรงงานต่างถิ่นมาทดแทน

“อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี ยังต้องมีการกำกับดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์ต่อทั้ง 2 ฝ่าย และช่วยเหลือแรงงานให้ย้ายถิ่นได้อย่างราบรื่น และมั่นคง” โอคีฟกล่าว

แรงงานกว่าครึ่งอยู่ในไทย

ดร.เมาโร เทสทาเวิร์ด นักเศรษฐศาสตร์ด้านการคุ้มครองทางสังคมและอาชีพ จากธนาคารโลก เล่าว่าช่วงปี 1995-2015 อาเซียนเป็นอนุภูมิภาคที่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานภายในกลุ่มมากที่สุดในโลก และเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่อนุภูมิภาคอื่นลดลง การเคลื่อนย้ายแรงงานภายในอนุภูมิภาคเป็นปัจจัยหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียน โดยประเทศที่มีการส่งออกประชากรแรงงานมากที่สุด คือ เมียนมา 33% อินโดนีเซีย 18% มาเลเซีย 17% สปป.ลาว 14% และกัมพูชา 12%

ขณะที่ประเทศปลายทางที่ใหญ่ที่สุด คือ “ไทย” มีแรงงานอพยพกว่า 55% จากทั่วอาเซียน ตามด้วยมาเลเซีย 22% สิงคโปร์ 19%

โดยประเทศไทย มีจีดีพีต่อหัว (GDP per capita) สูงเป็น 3.1 เท่าของเมียนมา 2.9 เท่าของ สปป.ลาว และ 4.7 เท่าของกัมพูชา รายงานจากเวิลด์แบงก์ระบุว่า เนื่องจากช่องว่างทางรายได้ที่สูงในกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นแรงผลักดันสำคัญต่อการอพยพของแรงงานข้ามชาติ

หนุนแก้ กม. เอื้อย้ายแรงงาน

รายงานของเวิลด์แบงก์ระบุว่า ปัญหาหนึ่งของการเคลื่อนย้ายแรงงานไร้ทักษะในอาเซียน คือ “ค่าใช้จ่าย” ในการย้ายถิ่น ที่ต้องเสียเงินและเวลาสำหรับค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายเพื่อที่จะได้เข้ามาทำงานทั้งอย่างถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย สำหรับประเทศที่เปิดเสรีเคลื่อนย้ายแรงงานมากกว่าอย่าง สิงคโปร์ และมาเลเซีย ค่าใช้จ่ายการย้ายถิ่นมาทำงานในสิงคโปร์ อยู่ที่ประมาณ 5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน และมาเลเซีย 3 เท่า

เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีการพัฒนาระบบการอพยพของแรงงาน เพื่อให้ได้แรงงานตรงกับความต้องการของตลาด

แต่อย่างในเมียนมาและเวียดนาม ซึ่งยังไม่มีการพัฒนาระบบรองรับการอพยพแรงงานเท่าที่ควร แรงงานต้องมีค่าใช้จ่ายมากถึง 11 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การไหลเวียนของแรงงานในอนุภูมิภาคเกิดขึ้นได้ไม่เต็มที่

รายงานจากเวิลด์แบงก์แนะว่า การปฏิรูปยุทธศาสตร์ชาติย้ายถิ่นแรงงาน จะช่วยเหลือเศรษฐกิจทั้งประเทศผู้รับและผู้ส่ง โดยเฉพาะการกำหนดนโยบายรับแรงงานที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ การลดขั้นตอนด้านเอกสาร ลดระยะเวลาการยื่นเอกสาร จะช่วยให้ค่าใช้จ่ายการย้ายถิ่นลดลงได้ และช่วยให้จำนวนแรงงานย้ายถิ่นผิดกฎหมายลดลงไปด้วย

นอกจากนี้ การตกลงความร่วมมือ 2 ฝ่ายระหว่างประเทศผู้ส่ง-ผู้รับเป็นเรื่องที่สำคัญ รวมถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติด้านการอพยพแรงงานให้มีเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น กรณีแรงงานสามารถเพิ่มทักษะให้กับตัวเองได้ จะมีสิทธิ์ย้ายงาน ย้ายนายจ้าง หรืออยู่ต่อได้

ดร.เมาโรเสริมด้วยว่า การใช้เทคโนโลยีก็มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปนโยบายย้ายถิ่น ในเรื่องการอำนวยความสะดวกการยื่นเอกสาร หรือการเชื่อมโยงหลังบ้านของหน่วยงานรัฐ ยกตัวอย่าง “เกาหลีใต้” ปลายทางสำคัญของแรงงานย้ายถิ่นจากอาเซียน มีการเชื่อมโยงหลังบ้านหน่วยงานรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การติดตามตัวแรงงาน และการคุ้มครองแรงงานสะดวกขึ้น

ไทยต้องเร่งปฏิรูประบบย้ายถิ่น

พร้อมกันนี้ ธนาคารโลกระบุว่า การพัฒนายุทธศาสตร์ชาติเรื่องการย้ายถิ่นแรงงานของประเทศไทย ควรระบุวัตถุประสงค์เรื่องนโยบายการรับแรงงานย้ายถิ่น เพื่อบรรลุเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 และควรมีการผสานนโยบายแรงงานย้ายถิ่นเข้ากับยุทธศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรมนุษย์

นอกจากนี้ นโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างถิ่น ต้องสอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ และต้องทำให้ขั้นตอนการอพยพแรงงานถูกกฎหมายสะดวกมากขึ้น รวมถึงพัฒนาระบบการกำกับดูแลบริษัทนายหน้าจัดหาแรงงาน เพื่อลดจำนวนแรงงานผิดกฎหมาย และลดค่าใช้จ่ายของแรงงาน

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเดินหน้าปฏิรูปกฎหมายเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เพราะตระหนักดีว่าแรงงานต่างชาติมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างยิ่ง โดยปี 2560 มีแรงงานต่างชาติถูกกฎหมาย 1,5 ล้านคน และไม่ถูกกฎหมาย 1.4 ล้านคน

ซึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ดำเนินการผ่อนปรนให้แรงงานผิดกฎหมายสามารถอยู่ในประเทศไทยต่อได้ แต่ต้องดำเนินการให้เข้าระบบทั้งหมด เพื่อให้แรงงานเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองอย่างถูกกฎหมาย