
ชายสองคนที่ร่วมมือกับกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม (ไอเอส) สังหารเจมส์ โฟลีย์ นักข่าวชาวอเมริกัน เมื่อปี 2014 ถูกดำเนินคดีในสหรัฐฯ โดยหนึ่งในนั้นถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่แม่ของนายโฟลีย์นั่งเผชิญหน้ากับผู้ต้องหาอีกคน
ท่ามกลางอากาศยามเช้าที่หนาวเหน็บในรัฐเวอร์จิเนีย ดิแอน โฟลีย์ แม่ของเจมส์ โฟลีย์ เพ่งมองไปที่ใบหน้าของชายที่ลักพาตัวและร่วมมือสังหารลูกชายของเธอ
ตอนที่เธอเดินเข้าไปในห้องอันอึมครึมของศาลแห่งนี้ อเล็กซานดา โคทีย์ นั่งอยู่ก่อนแล้วท่ามกลางความชุลมุนและเสียงอึกทึกของเจ้าหน้าที่สำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ทนายความฝ่ายจำเลย กับผู้คุม และที่ศาลแห่งนี้เองที่มือสังหารถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต
ตอนที่นั่งลง “มันรู้สึกเหมือนกับว่ามีแค่ฉันกับเขา เรามองหน้ากันและกันและพูดว่า ‘สวัสดี’”
แม้นางโฟลีย์จะเป็นคนสุขุมรอบคอบ แต่อารมณ์หนักอึ้งที่เธอแบกเอาไว้จากประสบการณ์ชีวิตครั้งนี้ยังเล็ดลอดออกมาผ่านน้ำเสียงเหนื่อยอ่อนขณะย้อนความทรงจำที่เก็บงำเอาไว้
“มันไม่ง่ายเลย แต่มันจำเป็นต้องทำ” เธอกล่าว “จิมต้องอยากให้ฉันทำสิ่งนี้แน่”
“จิม” คือลูกชายของเธอ นักข่าวชาวอเมริกันผู้มีชื่อว่าเจมส์ โฟลีย์
การฆาตกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2014 โดยฝีมือของ “ไอซิส บีเทิลส์” เครือข่ายของกลุ่มไอเอส ทำให้โลกได้รับรู้ความป่าเถื่อนของกลุ่มก่อการร้ายที่ยึดครองดินแดนจำนวนมากในอิรักและซีเรีย ทำให้ผู้คนนับล้านต้องมีชีวิตอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ป่าเถื่อน ในช่วงปี 2014-2017 ไอเอสกลายเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ผู้คนเกรงกลัวมากที่สุดในโลก
ความตายของเจมส์ที่ถูกเผยแพร่ลงทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2014 กลายเป็นภาพจำอมตะที่สุดภาพหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ชายหนุ่มในชุดจั๊มสูทสีส้มนั่งคุกเข่าอยู่ท่ามกลางทะเลทราย ข้าง ๆ เขาคือผู้ชายอีกคนที่สวมหน้ากากสีดำปกปิดใบหน้า ใช้มีดที่ถืออยู่ในมือตัดศีรษะให้เห็นต่อหน้ากล้อง ซึ่งใช้ถ่ายทำวิดีโอที่ตั้งชื่อว่า “ข้อความถึงอเมริกา”
เจ็ดปีต่อมา อดีตพลเมืองอังกฤษสองคน เอลชาฟี เอล ชีค วัย 33 ปี และนายโคทีย์ วัย 38 ปี ถูกศาลสหรัฐฯ ตัดสินว่ามีความผิดฐานมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมเจมส์
นายเอล ชีค ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ที่ศาลในรัฐเวอร์จิเนียร์เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ขณะที่นายโคทีย์ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตตั้งแต่เดือน เม.ย. นางโฟลีย์ได้พบกับนายโคทีย์ในตอนนั้น
ช่วงเวลาสี่ชั่วโมงที่ได้พบนายโคทีย์นั้น สำหรับเธอนั่นคือการยึดถือในศรัทธา การให้อภัย และตั้งมั่นกับสิ่งที่กลายเป็นงานของเธอหลังผ่านประสบการณ์สูญเสียลูกชาย นั่นคือการช่วยเหลือผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกันทั่วโลก
นี่ไม่ใช่ชีวิตที่นางโฟลีย์ในวัย 72 ปี วาดภาพเอาไว้ให้ตัวเอง

ก่อนที่เจมส์จะหายตัวไปในซีเรียในปี 2012 เธอประกอบอาชีพเป็นนางพยาบาล แต่หลายสัปดาห์หลังจากลูกชายหายตัวไป เธอก็ลาออกจากงาน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาถูกลักพาตัวขณะไปทำข่าว
เมื่อเดือน มี.ค.2011 ที่เจมส์และเพื่อนร่วมงานของเขาถูกลักพาตัวในลิเบียโดยกลุ่มที่ทำงานภายใต้ระบอบปกครองของพันเอกมูอัมมาร์ กัดดาฟี ในครั้งนั้นเขาได้รับการปล่อยตัวหลังถูกคุมขังไว้ 44 วัน แต่ครั้งนี้จุดจบแตกต่างออกไป
เจมส์ออกเดินทางไปซีเรียเมื่อเดือน ต.ค. 2012 เพื่อรายงานสถานการณ์ความขัดแย้งที่ตึงเครียดขึ้น เขารู้ดีถึงอันตรายที่ตัวเองต้องเผชิญ และติดต่อกับครอบครัวเป็นประจำ
แต่จนถึงเดือน พ.ย. และเทศกาลขอบคุณพระเจ้าผ่านพ้นไปแล้ว นางโฟลีย์ก็ยังไม่ได้ข่าวลูกชาย จนกระทั่งสิ้นเดือน นางโฟลีย์ได้รับอีเมล จากคนที่ลักพาตัวเจมส์ไป
กลุ่มก่อการร้ายระบุว่าหากครอบครัวต้องการตัวเจมส์กลับไป พวกเขาจะต้องส่งเรื่องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ปล่อยตัวนักโทษมุสลิมคนสำคัญหรือไม่ก็ส่งเงิน 100 ล้านยูโรไปให้
ข้อเรียกร้องแบบเดียวกันเกิดขึ้นกับครอบครัวของตัวประกันชาวอเมริกันที่ถูกกลุ่มก่อการร้ายนี้จับตัวไปเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนเคย์ลา มูลเลอร์ และปีเตอร์ คาซซิจ รวมไปถึงสตีเฟน ซอทลอฟฟ์ นักข่าวอีกคนหนึ่ง
แม้เวลาผ่านไปหลายเดือนแต่ครอบครัวยังหวังว่าเจมส์จะ “กลับบ้านทันคริสต์มาส” นางโฟลีย์กล่าว
รัฐบาลสหรัฐฯ ขอไม่ให้ครอบครัวโฟลีย์ต่อรองกับกลุ่มก่อการร้าย และ ตามคำบอกเล่าของนางโฟลีย์ ครอบครัวถูกขู่ว่าจะถูกดำเนินคดีหาก พยายามระดมเงินค่าไถ่เอง อย่างไรก็ดีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง
เวลาผ่านไปอีกหลายเดือน ครอบครัวโฟลีย์ได้รับข้อความอีกหนึ่งฉบับที่ขู่ว่าพวกเขาจะฆ่าเจมส์ เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐฯ ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ “เขาจะถูกสังหารเพื่อชดเชยสิ่งที่ประเทศของคุณก้าวล่วงกับเรา” จดหมายระบุเช่นนั้น
นางโฟลีย์รู้ข่าวว่าลูกชายตัวเองถูกสังหารจากนักข่าวคนหนึ่ง
“ฉันคิดว่ามันเป็นแค่ตลกร้าย” เธอย้อนความทรงจำ
หลังการเสียชีวิตของเจมส์ กลุ่มก่อการร้ายก็ยังเดินหน้าทรมาน ทุบตี ปล่อยให้ทั้งนายคาซซิจและซอทลอฟฟ์อดอาหาร ก่อนจะลงมือสังหาร ขณะที่เคย์ลาเสียชีวิตเมื่อปี 2015 ไม่มีการบันทึกภาพการฆาตกรรมเธอ
ในปีเดียวกันนั้น สหรัฐฯ ใช้โดรนสังหารนายโมฮัมหมัด เอ็มวาซี ซึ่งถือเป็นแกนนำกลุ่ม แต่กว่าที่ทั้งนายเอล ชีค และโคทีย์ จะถูกนักรบชาวเคิร์ดที่สหรัฐฯ หนุนหลังจับตัวได้ในซีเรีย ก่อนส่งให้สหรัฐฯ เวลาก็ผ่านไปจนกระทั่งปี 2018
ครอบครัวของผู้ถูกลักพาตัว เรียกร้องให้ส่งตัวทั้งคู่ไปดำเนินคดีในสหรัฐฯ แทนการส่งไปที่เรือนจำกวนตานาโม
p“มันสำคัญสำหรับเรามากที่คนพวกนี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในสหรัฐฯ และพวกเขาต้องได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม”
แต่เส้นทางสู่ความยุติธรรมก็เต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรค “มันต้องใช้เวลาเกือบ 10 ปี กว่าจะมาถึงจุดนี้”
“ฉันคิดว่าประเทศของเราน่าจะร่วมมือกันพาลูกชายและลูกสาวของเรากลับบ้านแทนที่จะมาใช้เวลากับเรื่องการับผิดชอบหลังพวกเขาถูกสังหารไปแล้ว…[แต่] มันก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย” เธอกล่าว
กรณีของโคทีย์แตกต่างจากนายอัล ชีค เนื่องจากเข้าไม่ได้ถูกดำเนินคดีในศาล นายโคทีย์รับสารภาพ 8 ข้อหาซึ่งเกี่ยวข้องกับการลักพาตัว การทรมาน และฆ่าตัดศีรษะ ตัวประกันที่ถูกกลุ่มไอเอสจับไว้ที่ซีเรีย เขายอมพบกับครอบครัวของเหยื่อตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน
และนางโฟลีย์ก็ยอมรับข้อเสนอ

นางโฟลีย์เล่าว่าขณะนั่งจ้องมองเขาในห้องเล็ก ๆ นั้น เธอรู้สึก “เสมอกัน” กับชายที่มีส่วนร่วมสังหารลูกชายของเธอ
“เขายังดูน่ากลัวสำหรับฉัน แต่แน่นอน ฉันรู้ว่าตัวเองปลอดภัย และเขาไม่สามารถทำร้ายฉันได้อีกต่อไปแล้ว ฉันมีพลังบางอย่าง” เธอกล่าว
“เขาได้ทำสิ่งที่เลวร้ายที่สุดและพรากเอาคนที่ฉันรักไปแล้ว”
มันคือระหว่างช่วงเวลา 4 ชั่วโมงนั้นเองที่นางโฟลีย์รู้สึกเห็นใจผู้ก่อการร้ายคนนี้ที่ต้องใช้ชีวิตที่เหลือในคุก
“ฉันอยากให้โคทีย์เผชิญหน้ากับความโหดร้ายที่เขาก่อ” เธอกล่าว เธอบอกเรื่องของชายที่เขาสังหาร ซึ่งก็คือลูกชายคนโตจากทั้งหมดห้าคนของเธอ
“ให้เขาได้รับรู้ว่าเขาทำลายสิ่งดีงามไป และทำไมคนอย่างเจมส์ถึงไปซีเรีย นั่นเพราะเขาแคร์ และต้องการรายงานความจริงให้โลกรู้”
โคทีย์นิ่งฟัง ก่อนจะเอ่ยเรื่องราวของครอบครัวตัวเอง
“เขาบอกว่าเขาสวดภาวนาขอให้พระเจ้ายกโทษให้เขา เขาให้ดูรูปครอบครัว เขามีลูกเล็ก ๆ ที่เขาอาจไม่มีโอกาสได้เจออีกแล้วตลอดชีวิต นั่นทำให้ฉันรู้ว่าเขาสูญเสียมากแค่ไหนกับการเชื่อเรื่องโฆษณาชวนเชื่อและความเกลียดชัง และนั่นทำให้ฉันสงสารเขา”
แต่เขาไม่เคยบอกกับนางโฟลีย์ว่าร่างของตัวประกันที่เขาและผู้สมรู้ร่วมคิดสังหารถูกฝังอยู่ที่ไหน
นับจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีใครพบร่างตัวประกันทั้งหมด
“และเขาไม่เคยพูดขอโทษ เขาดูหดหู่และเคารพฉัน เขาพูดว่าสำนึกผิด” แต่เธอย้ำว่าเขาไม่เคยกล่าวขอโทษ
ก่อนจะเดินออกจากห้องนั้น เธอหันไปพูดกับเขาเป็นครั้งสุดท้าย
“ฉันพูดกับเขาว่าฉันหวังว่า ณ จุดหนึ่ง เราทั้งสองจะให้อภัยซึ่งกันและกัน”
เธอจำได้ว่าเขามองมาที่เธออย่างงง ๆ และพูดว่า “ผมไม่ต้องขอโทษอะไรคุณทั้งนั้น”
นางโฟลีย์อธิบายว่าคำร้องขอสุดท้ายนั้นมาจากความศัรทธาในนิกายคาทอลิก ซึ่งเป็นรากฐานของความเข้มแข็งและสิ่งที่ผลักดันให้เธอเดินหน้าต่อ
“ฉันรู้ว่าเขาไม่จำเป็นต้องยกโทษอะไรให้ฉัน แต่ในตอนนั้น …ฉันก็ไม่รู้”
“ฉันแค่รู้สึกว่า ในฐานะที่เป็นคน ไม่มีใครสมบูรณ์เต็มร้อย เราทำบางอย่างที่เราจะเสียใจภายหลัง”
“ถ้าฉันเกลียดพวกเขา พวกเขาก็จะชนะ ฉันจะยังเป็นตัวประกันของพวกเขาต่อไปเพราะฉันไม่กล้าพอที่จะแตกต่างไปจากสิ่งที่พวกเขาทำกับคนที่ฉันรัก เราต้องภาวนาให้มีความกล้าหาญในการจะทำสิ่งตรงข้าม”
“มันเป็นการเดินทางสู่การให้อภัยที่ยากลำบาก และมันไม่มีทางจบสิ้น แต่ฉันยังอยากที่จะทำสิ่งนี้”

สามสัปดาห์หลังเจมส์เสียชีวิต นางโฟลีย์ก่อตั้ง The James W Legacy Foundation มูลนิธิที่อุทิศให้กับการผลักดันให้รัฐบาลช่วยเหลือชาวอเมริกันที่ตกเป็นตัวประกัน
“พลเมืองของเราควรมีรัฐบาลคอยดูแลเวลาพวกเขาเดินทางไปต่างประเทศ” เธอกล่าว
ทว่าแม้จะทำทั้งหมดนี้ ทั้งนางโฟลีย์และครอบครัวต่างก็ไม่สามารถหลีกหนีจากความทุกข์ได้
“มันเป็นเรื่องยากมากสำหรับพี่น้องของจิม และสามีของฉัน เราคงต้องทนทุกข์กับสิ่งนี้ตลอดไป”
ครอบครัวของเหยื่อรายอื่นส่วนหนึ่งกล่าวว่าพวกเขาจะไม่เดินตามรอยของนางโฟลีย์
“ฉันไม่มีทางอภัยให้พวกนั้น และฉันยอมรับมัน” เบธานีย์ เฮนส์ ลูกสาวของเดวิด กล่าวกับบีบีซี ในเดือน เม.ย. ตอนที่นายอัล ชีค ถูกดำเนินคดี
เงื่อนไขหนึ่งของกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากสหราชอาณาจักรไปยังสหรัฐฯ ทั้งโคทีย์และอัล ชีค จะไม่ถูกตักสินโทษประหารชีวิต
“ฉันรู้สึกดีที่เป็นแบบนั้น” นางโฟลีย์กล่าว “พวกเขามีทั้งชีวิตที่เหลือให้ทบทวนสิ่งที่ได้ทำลงไป”
“พวกเขาสูญเสียอิสรภาพ สัญชาติ และครอบครัว ความเกลียดชังของพวกเขาคือฝ่ายที่พ่ายแพ้”
……..
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว