รวมเรื่องดราม่า-ข้อพิพาทระหว่าง ช้อปปี้-ลูกค้า ในรอบ 7 ปี

นับตั้งแต่ช้อปปี้ (Shopee) ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอีคอมเมิร์ซ เข้าทำตลาดในประเทศไทยเมื่อปี 2558 นอกจากลูกค้าชาวไทยจะได้รับความสะดวกและเพลิดเพลินไปกับการช้อปปิ้งสินค้าออนไลน์แล้ว

ในระยะเวลากว่า 7 ปี ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายนี้ได้สร้างสีสันและตกเป็นข่าวดังอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างลูกค้าจนนำไปสู่การเกิดกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ผ่าน แฮชแท็กต่าง ๆ ติดอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์

บีบีซีไทยรวบรวม 5 เรื่องราวที่น่าสนใจและดราม่าที่เกิดขึ้นของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซรายนี้มาอธิบายดังนี้

ผูกบัญชีธนาคารแล้วโดนดูดเงิน

เรื่องราวล่าสุดระหว่างผู้ใช้งานและช้อปปี้ คือ กรณี ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Gift Sichol ได้ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเพื่อเตือนภัยเกี่ยวกับการผูกบัญชีซื้อสินค้าจากแอปพลิเคชันของช้อปปี้ หลังเธอพบว่ามีการโอนเงินออกจากบัญชีเองเป็นเงินเกือบ 5 หมื่นบาทโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าระหว่างวันที่ 1-2 ธ.ค.

ในวันนี้ (6 ธ.ค.) กลุ่มตัวแทนผู้เสียหายกว่า 10 คน จากกรณีใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นช็อปปิ้งออนไลน์ Shopee ที่ผูกบัญชีธนาคารเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ แต่เกิดปัญหาถูกตัดจ่ายอัตโนมัติเป็นจำนวนหลายหมื่นบาท โดยไม่ทราบสาเหตุ เข้าพบทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม เพื่อปรึกษาแนวทางในการดำเนินคดีเบื้องต้นจะเอาให้ปิดแอพดังกล่าวตามกฎหมาย พรบ.คอมพิวเตอร์ หากไม่คืนเงินภายใน 3 วันโดยไม่มีเงื่อนไข

Advertisment

ขณะที่ช้อปปี้ได้ประกาศผ่านแอปพลิเคชั่นเปลี่ยนแปลงช่องทางการชำระเงิน โดยแจ้งถอด​ “การชำระผ่านบัญชีธนาคาร” ออกถาวร​ มีผลตั้งแต่​ 6​ ธ.ค. ส่วนช่องทางอื่น ๆ ได้บริการตามปกติ

ปมโฆษณาขายดอกกัญชา

ก่อนที่มีประเด็นที่ลูกค้าถูกดูดเงินออกจากบัญชีที่ผูกกับบัญชีการซื้อสินค้าของช้อปปี้ เมื่อต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ทำหนังสือลงวันที่ 2 ธ.ค. 2565 เรื่องให้ระงับการโฆษณาขายสินค้าสมุนไพรควบคุม (กัญชา) ส่งถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่า มีการประกาศโฆษณาขายกัญชาในส่วนที่เป็นช่อดอกผ่านช่องทางออนไลน์บนแพลตฟอร์มของ Shopee

ตามกฎหมาย เมื่อได้รับการแจ้งเตือนแล้ว หากยังไม่ระงับการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Getty Images
ตามกฎหมาย เมื่อได้รับการแจ้งเตือนแล้ว หากยังไม่ระงับการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในเอกสารดังกล่าวได้ระบุว่า การจำหน่ายช่อดอกกัญชาผ่านออนไลน์ การโฆษณาทุกช่องทางจึงเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์รายใหญ่ หรือรายเล็กต้องปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง เพราะการจำหน่ายต้องขออนุญาต ซึ่งทางกรมฯ ไม่อนุญาตให้มีการจำหน่ายผ่านออนไลน์ ไม่ให้มีการโฆษณา

Advertisment

ดราม่าค่าส่งแพง-เลือกขนส่งเองไม่ได้

เมื่อต้นปีที่แล้ว ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซรายนี้ก็กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่สุดร้อนแรงในสังคมออนไลน์ด้วย #Shopeeไม่ต้องสาระแน ขึ้นอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์
เหตุการณ์นี้มีสาเหตุมาจากการที่บริษัทได้แจ้งเปลี่ยนแปลงนโยบายการจัดส่งสินค้าใหม่ จากเดิมที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถเลือกผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าได้เอง มาเป็นทางบริษัทจะเป็นผู้กำหนดวิธีการจัดส่งสินค้าให้โดยอัตโนมัติ ทำให้ลูกค้าและผู้ชายสินค้าบนแพลตฟอร์มไม่ได้รับความสะดวก และยังทำให้มีค่าใช้จ่ายในการขนส่งเพิ่มมากขึ้น

ภาพประกอบ

Getty Images

ต่อมาในวันที่ 31 ม.ค. 2564 สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) จึงได้ติดตามตรวจสอบพฤติกรรมดังกล่าว โดยเผยว่าอาจเป็นการกำหนดเงื่อนไขในการจำกัดการประกอบธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม เข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.แข่งขันการค้า พ.ศ. 2560 แบ่งออกเป็น 2 ข้อหา คือ

1.การใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ จะมีโทษทางอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. กรณีที่ปฏิบัติทางการค้าไม่เป็นธรรม อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น จะมีโทษทางปกครอง ปรับไม่เกิน 10% ของรายได้ที่กระทำความผิด

#แบนshopee ติดเทรนด์ หลังปฏิเสธขายสินค้าคณะก้าวหน้า

ในเดือน ต.ค. 2563 ช้อปปี้ถูกตั้งคำถามจากสังคมในประเด็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ขายจากเหตุผลจุดยืนทางการเมืองหรือไม่ เมื่อ น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ได้ทวีตข้อความถามไปยังยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซรายนี้ว่า เพราะอะไรเสื้อคณะก้าวหน้าจึงขายไม่ได้ แต่เสื้อกลุ่มไทยภักดีจึงขายได้บนแพลตฟอร์ม
ครั้งนั้น บัญชีทวิตเตอร์ของคณะก้าวหน้า – Progressive Movement ได้ทวีตข้อความในเชิงการตั้งคำถามไปยัง Shopee อีกครั้ง ว่า… “ตอนแรกที่คุณแบนเรา พอถามไป คุณบอกว่าเราทำผิด 1 ใน 12 ข้อนี้ เราก็ดูแล้วดูอีกเลยแย้งคุณไปว่าไม่มีข้อไหนที่เราทำผิดเลย ตอนหลังคุณเลยมาอธิบายตอนหลังว่าเราขายสินค้า “ที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง” – “Politically sensitive” ปัญหาคือคุณไม่เคยมีกฎข้อนี้”

อย่างไรก็ตาม ในครั้งนั้นบริษัทดังกล่าวไม่ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องดังกล่าว
บีบีซีไทยตรวจสอบข้อมูลบนเว็บไซต์ช้อปปี้ ในส่วนของ นโยบายสินค้าห้ามจำหน่าย และสิ่งของที่ถูกจำกัดบนแพลตฟอร์ม Shopee ที่อับเดทล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2564 พบรายการสินค้าต้องห้ามทั้งหมด 37 รายการ ในจำนวนนั้น มีหมวดที่น่าสนใจ เช่น ยาเสพติด หรือ ยาเสพติดที่ต้องห้ามตามกฎหมายและนโยบายของแพลตฟอร์ม (ฝิ่น เห็ดขี้ควาย สารสกัดจากกัญชาหรือกัญชงที่ไม่ได้ปลูกภายในประเทศหรือสารสกัดที่มีประมาณสาร THC เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก

นอกจากนี้ยัง มีสินค้าที่เกี่ยวข้องการเมืองและสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย โดยให้หมวดที่ 8 ระบุถึงสิ่งของที่มีเนื้อหาถึงการปลุกระดมหรือการคุกคามต่อชาติ รวมถึงสินค้าที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมหรืออาจจะกระทบต่อการปกครองของประเทศ เช่น สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเมือง อ้างอิงชื่อพรรคการเมือง/ใช้โลโก้พรรค

อีกหมวดที่น่าสนใจคือ หมวดที่ 9 สินค้าเกี่ยวข้องกับพระบรมวงศานุวงศ์/ราชวงศ์ ได้แก่ สินค้าที่มีรูปพระบรมวงศานุวงศ์หรือราชวงศ์, ตราสัญลักษณ์, เสื้อรอยอลลิสต์, รูปภาพที่แสดงข้อความดูหมิ่น เป็นต้น

Shopee รั้งเบอร์หนึ่งอีคอมเมิร์ซในไทย

ธุรกิจออนไลน์ยังคงมีอนาคตที่สดใสในปัจจุบัน เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในกลุ่มสินค้าตลอดปีจะมีมูลค่าตลาดราว 5.65 แสนล้านบาท และยังคงขยายตัว 13.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แม้ว่าจะเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดเมื่อเทียบกับในช่วง 3 ปีก่อนหน้า (ปี 2562-2564) ที่ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 40%

จากข้อมูลของเว็บไซต์ ipricethailand.com ได้จัดอันดับผู้เล่นในธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย ข้อมูล ณ ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 จัดให้ ช้อปปี้ อยู่ในลำดับที่ 1 โดยวัดจากยอดการเข้าชมเว็บไซต์ในแต่ละเดือน สูงถึง 60,723,300 ครั้ง รองลงมาคือ ลาซาด้า มียอดผู้ชมเว็บไซต์ต่อเดือนอยู่ที่ 39,313,300 ครั้ง

ส่วนลำดับที่ 3 คือ เซ็นทรัล ออนไลน์ มียอดผู้เข้าชมเว็บไซต์ต่อเดือน 2,686,700 ครั้ง ลำดับที่ 4 คือ แอดไวซ์ มียอดผู้เข้าชมเว็บไซต์ต่อเดือน 2,300,000 ครั้ง และอันดับที่ 5 คือ โฮมโปร มียอดผู้เข้าชมเดือนละ 2,086,700 ครั้ง

…..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว