“ฟิลิปปินส์” ยกเครื่องระบบภาษี ขจัดหนามลงทุน-เพิ่มรายได้รัฐ

“ระบบภาษี” ของแต่ละประเทศเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนจากต่างประเทศ ท่ามกลางการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ของแต่ละประเทศในอาเซียน อาทิ มาเลเซียและไทย ที่พยายามปฏิรูปภาษีในทุกมิติ ขณะที่สภาผู้แทนราษฎร “ฟิลิปปินส์” ก็เพิ่งผ่านร่างกฎหมาย “โครงการปฏิรูประบบภาษีเร่งด่วน” ที่เรียกว่า “Tax Reform for Acceleration and Inclusion Act” เมื่อวันที่ 31 พ.ค.และกำลังเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาเร็ว ๆ นี้

รายงานของไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PWC) ระบุว่า โครงการปฏิรูปภาษีเร่งรัด ถือเป็นการยกเครื่องครั้งใหญ่ของฟิลิปปินส์ เนื่องจากที่ผ่านมา อันดับความง่ายในการทำธุรกิจของฟิลิปปินส์เมื่อเทียบกับสมาชิกอาเซียน ถือว่ามีพัฒนาการที่แย่ลง โดยถูกลดอันดับจาก 95 เป็น 103 ในปี 2016 จากทั้งหมด 189 ประเทศ ขณะที่แชมป์ยังคงเป็นสิงคโปร์ ต่อด้วยมาเลเซียและประเทศไทย

เป้าหมายการปฏิรูปภาษีครั้งนี้ รัฐบาลเชื่อมั่นว่าจะช่วยให้เกิดระบบภาษีที่ง่ายในการทำความเข้าใจ รวมถึงมีอัตราที่ต่ำลงกว่าเดิม เพื่อเป็นแรงดึงดูดให้เกิดการลงทุนมากขึ้น

รัฐบาลได้เสนอการปฏิรูปภาษี 4 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT), ภาษีสรรพสามิต ที่รวมถึงภาษีน้ำมันและรถยนต์ และภาษีอสังหาริมทรัพย์

กรณีภาษีมูลค่าเพิ่มของฟิลิปปินส์ปัจจุบัน อยู่ที่ 12% ถือเป็นอัตราสูงที่สุดในอาเซียน ส่วนใหญ่อยู่ที่ 10% อย่างไรก็ตาม สินค้าในบางประเภทได้รับการยกเว้นภาษี เช่น สินค้าเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และปุ๋ย เป็นต้น โดยการปฏิรูปครั้งใหม่จะบรรจุสินค้าประเภทที่ยกเว้นภาษีมากขึ้น

ส่วน “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ถือว่าเป็นไฮไลต์สำคัญสำหรับโครงการนี้เพราะฟิลิปปินส์มีการจัดเก็บภาษีเงิน ได้บุคคลธรรมดาในอัตราสูงสุดในอาเซียน คือที่ 32% ขณะที่ประเทศทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 23.68%

โดยอัตราภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาเดิมนั้น ประชาชนที่มีรายได้ระดับ 10,001-30,000 เปโซ จะต้องเสียภาษีระดับ 10%, 30,001-70,000 เปโซ เสีย 15% รายได้ 70,001-140,000 เปโซ เสียภาษี 20% และปรับขึ้นเป็นขั้นบันได โดยเพดานสูงสุดสำหรับผู้มีรายได้มากกว่า 5 ล้านเปโซขึ้นไปเสียภาษี 32%

ส่วนอัตราใหม่กำหนดไว้ว่า รายได้ที่น้อยกว่า 250,000 เปโซ ภาษีเหลือ 0% ส่วนรายได้ 250,001-400,000 เปโซ เสียภาษี 20% ขณะที่เพดานสูงสุดสำหรับผู้มีรายได้เกิน 5 ล้านเปโซ จะเสียภาษีอัตรา 35% และตามแผนในวันที่ 1 ม.ค. ปี 2020

ฟิลิปปินส์จะปรับลดอัตราการเสียภาษีของกลุ่มรายได้ 250,001-400,000 เปโซ ลงมาอยู่ที่ 15%

กรณี “ภาษีสินทรัพย์” ซึ่งมีการประเมินมูลค่าตามราคาตลาด (Fair Market Value) โดยมีรอบการประเมินทุก ๆ 3 ปี ปัจจุบันอัตราภาษีทรัพย์สินแบ่งเป็น 2 อัตราคือ ในพื้นที่นอกเมืองเก็บไม่เกิน 1% และในเขตเมืองและเทศบาลอัตราไม่เกิน 2%

ขณะที่อัตราภาษีใหม่ จะคิดตามราคาประเมินสินทรัพย์โดยไม่ต้องมีการแบ่งโซน ตัวอย่างเช่น มูลค่าสินทรัพย์ไม่เกิน 200,000 เปโซ จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็น 0% มูลค่าระหว่าง 200,000-500,000 จะจัดเก็บที่ 5% มูลค่า 2,000,000-5,000,000 เปโซ อัตรา 11% เป็นต้น

ส่วนการจัดเก็บ “ภาษีน้ำมันปิโตรเลียม” ในช่วง 3 ปี (ปี 2018-2020) ได้กำหนดอัตราไว้ล่วงหน้า อาทิ น้ำมันเบนซิน จะปรับขึ้นจาก 4.35 เปโซต่อลิตรในปัจจุบัน เป็น 7 เปโซต่อลิตรในปี 2018 และขึ้นเป็น 9 เปโซต่อลิตรในปี 2019 และ 10 เปโซในปี 2020 เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนใช้น้ำมันน้อยลง

นอกจากนี้จะมีการจัด เก็บ “ภาษีความหวาน” โดยเสนอให้เก็บภาษีตามปริมาณในอัตรา 10 เปโซต่อเครื่องดื่ม 1 ลิตร ยกเว้นเครื่องดื่มบางชนิด เช่น น้ำผักหรือน้ำผลไม้ 100% ที่มีรสหวานโดยธรรมชาติ ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2018 เป็นต้นไป และกำหนดให้ปรับขึ้นอัตราภาษีหลังจากนั้นทุก ๆ ปี ปีละ 4%

ทั้งนี้ เมื่อปี 2012 ฟิลิปปินส์ได้นำร่องยกเครื่อง “ภาษีสรรพสามิต” กลุ่มสินค้าที่ทำลายสุขภาพ เช่น สุราและยาสูบ หรือที่เรียกว่า “ภาษีบาป” โดยรัฐบาลกำหนดภาษีสำหรับ “บุหรี่” ให้ยุบขั้นภาษีเหลือเพียง “อัตราภาษีเดียว” และเรียกเก็บภาษีตามปริมาณ คือ 30 เปโซต่อซอง ส่วนเบียร์ก็ยุบขั้นอัตราภาษีเหลือเพียงขั้นเดียว และเก็บภาษีตามปริมาณเท่านั้น ขณะที่สุรากลั่นทุกชนิด เก็บภาษีเป็นระบบผสมตามปริมาณและมูลค่าแบบอัตราเดียว เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดช่องว่างไม่ให้เกิดการหนีภาษี

จากความพยายามปฏิรูปภาษีที่ผ่านมาของฟิลิปปินส์ “เวิลด์แบงก์” ระบุว่า จากปี 2012-2015 ฟิลิปปินส์สามารถเก็บเงินภาษีบาปได้เพิ่มขึ้นถึง 155% ซึ่งได้นำไปใช้ในโครงการพัฒนาสวัสดิการสังคมต่าง ๆ เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังยกย่องให้การปฏิรูปภาษีบาปในฟิลิปปินส์เป็น “Role Model” ให้แก่ประเทศอื่น เพราะช่วยลดอัตราการดื่มเหล้าสูบบุหรี่ลงได้ โดยเฉพาะอัตราการสูบบุหรี่ที่ลดลงจาก 29% ในปี 2012 เหลือ 25% ในปี 2015


ในฐานะที่ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ที่ยังต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค ขณะที่รัฐบาลต้องการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษ PEZA ที่มีอยู่ 277 แห่ง โครงการปฏิรูปภาษีจึงมีความสำคัญมากทั้งในแง่ของการใช้เงินภาษีมาช่วยพัฒนา ประเทศ และการสร้างความน่าสนใจในด้านผลประโยชน์ทางภาษีต่อนักลงทุน ซึ่ง นายคาร์ลอส โดมินเกซ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังย้ำว่า “ความสำเร็จจากภาษีบาป แสดงให้เห็นว่าทิศทางการเปลี่ยนแปลงนั้นถูกต้อง เชื่อว่าการปฏิรูปในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการเติบโตทาง เศรษฐกิจ และลดอัตราความยากจนลงได้”