ข่าวนอกกดหุ้น-บาท

คอลัมน์ ภาวะหุ้นเงินบาท

ตลาดหุ้นไทยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (3-6 ก.ค. 2560) ไร้ปัจจัยใหม่หนุน ทำให้บรรยากาศลงทุนยังซึมตัว โดยต้นสัปดาห์ (3 ก.ค.) ดัชนีแกว่งตัวในแดนบวก แต่ปริมาณการซื้อขาย (วอลุ่ม) ยังค่อนข้างเบาบางอยู่ระดับกว่า 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ดัชนีปิดอยู่ที่ 1,579.41 จุด เพิ่มขึ้น 4.67 จุด +0.30% มูลค่าการซื้อขาย 29,995.55 ล้านบาท

กลางสัปดาห์ (5 ก.ค.) ดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบแคบ แต่ยังอยู่ในแดนบวก ขณะที่ผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบาย

การเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ “คง” อัตรา

ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ถือว่าเป็นไปตามที่คาดการณ์ จึงไม่ได้ส่งผล

กระทบต่อตลาดการลงทุน โดยดัชนีปิดที่ 1,575.02 จุด เพิ่มขึ้น 0.91 จุด +0.06% มูลค่าการซื้อขาย 34,001.62 ล้านบาท

ท้ายสัปดาห์ (6 ก.ค.) มีแรงเทขายหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี เมื่อมาดูสัญญาณทางเทคนิคพบว่า ดัชนีได้หลุดกรอบแนวรับที่ 1,570 จุด ทำให้นักลงทุนเทขายเพื่อลดความเสี่ยง

ไม่เพียงเท่านี้ยังมีปัจจัยต่างประเทศในประเด็นปัญหาคาบสมุทรเกาหลี หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ระบุว่ากำลังพิจารณาหามาตรการลงโทษเกาหลีเหนือ ในกรณีทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีป ล้วนเป็นข่าวลบที่ส่งผลให้ดัชนีปิดที่ 1,569.64 จุด ลดลง 5.38 จุด -0.34% มูลค่าการซื้อขาย 47,609.45 ล้านบาท

ทั้งนี้ 4 วันทำการ (3-6 ก.ค.) นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 3,229.74 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ 1,559.95 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 2,203.59 ล้านบาท นักลงทุนในประเทศซื้อสุทธิ 2,586.10 ล้านบาท

สำหรับสัปดาห์นี้ (11-14 ก.ค.) บล.ทิสโก้ ประเมินว่า ดัชนีน่าจะยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยนักลงทุนต้องติดตามว่าวุฒิสภาสหรัฐจะพิจารณากฎหมายสุขภาพของสหรัฐออกมาอย่างไร ซึ่งหากไม่ผ่านการพิจารณาดังกล่าวอาจจะเพิ่มความกังวลว่า นโยบายอื่น ๆ ของ “ทรัมป์” อาจจะไม่ราบรื่น โดยคาดว่าดัชนีน่าจะแกว่งตัวในกรอบแนวรับ 1,550-1,555 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,580 จุด

ภาวะค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมา (3-7 ก.ค.) อยู่ในทิศทางแข็งค่าเล็กน้อย โดยต้นสัปดาห์ (3 ก.ค.) ค่าเงินบาทเปิดตลาด 33.94/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยจากการปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30 มิ.ย.) ที่ระดับ 33.96/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ เกิดขึ้นจากตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 95.1 ถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 12 เดือน ทำให้ค่าเงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 33.98/34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

กลางสัปดาห์ (5 ก.ค.) ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.99/34.01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ พลิกกลับมาอ่อนค่าเล็กน้อย

เมื่อเทียบกับการปิดตลาดในวันก่อนหน้าที่อยู่ 33.97/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นตามแรงซื้อในตลาดโลก หลังจากอ่อนค่าไปมากในช่วงก่อนหน้า ในขณะที่ กนง.

มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไว้ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวค่าเงินบาท โดย ณ สิ้นวัน เงินบาทปิดตลาดที่ 34.02/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ท้ายสัปดาห์ (7 ก.ค.) ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 34.08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากการปิดตลาดเมื่อวานนี้ (6 ก.ค.) ที่ระดับ 34.05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าลงตามสกุลเงินในเอเชียที่ปรับตัวอ่อนค่าลงเนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยระหว่างวัน

นักลงทุนจับตามองตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเดือน มิ.ย.หากออกมาดีอย่างที่ตลาดคาดการณ์ไว้น่าจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น

สัปดาห์นี้ (11-14 ก.ค.) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยคาดการณ์กรอบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทไว้ที่ 34.00-34.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ออกมาในสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขการนำเข้า-ส่งออกของจีน และ


ผลการประชุมของธนาคารกลางเกาหลีใต้ ซึ่งตลาดมองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายน้อย