ยกระดับปฏิบัติการแก้ฝุ่นพิษ PM 2.5

ภาพ : มติชน

บทบรรณาธิการ

 

หมอกควันพิษจากฝุ่นละออง PM 2.5 และ PM 10กลับมาสร้างปัญหาอีกครั้ง แม้บางวันสถานการณ์จะคลี่คลายจากอานิสงส์สภาพอากาศรวมทั้งฝนที่ชะล้าง แต่หลายพื้นที่ปริมาณฝุ่นควันพิษยังเข้าขั้นวิกฤต เป็นอันตรายต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ

โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคกลาง อาทิ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ตาก นครสวรรค์ สระแก้ว กาญจนบุรี สระบุรี และกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ที่ปีนี้หมอกควันพิษมาเยือนเร็วและรุนแรงกว่าปีก่อน โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานเกือบ 40 จุดทำให้คนกรุงเทพฯ รวมทั้งในพื้นที่ชานเมืองไม่ว่าจะเป็นนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม ต้องหาทางป้องกันตนเองด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องทนสูดดมฝุ่นพิษ่ในอากาศ

ขณะที่หน่วยงานรัฐยังเน้นแค่ส่งสัญญาณเตือน ส่วนมาตรการในการป้องกันแก้ไขปัญหายังไม่คืบหน้า แม้กรมควบคุมมลพิษ ในฐานะเจ้าภาพหลักได้จัดประชุมเร่งแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ให้เป็นรูปธรรม

Advertisment

โดยจะบูรณาการทำงานร่วมกับ กทม. กองบังคับการตำรวจจราจร กรมควบคุมโรค กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอนามัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทางหลวง กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมป้องกันและบรรเทาฯ กรมอุตุนิยมวิทยา ฯลฯ ยกระดับการปฏิบัติการให้เข้มข้นกว่าปีก่อน

ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยประชาชนในพื้นที่เสี่ยงทั้งเขตเมืองและในชนบท ขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้ฝุ่นควันพิษที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นต่อเนื่องทำลายบรรยากาศด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว จากปัจจุบันสถิติมลพิษใน กทม.ซึ่งสำรวจและรวบรวมโดย www.Airvisual.com มีปริมาณมลพิษทางอากาศติดอันดับท็อปเทนของโลก

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งเดินหน้า 3 มาตรการ ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษฯ” ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อ 1 ต.ค. 2562 ให้เห็นผลโดยเร็ว

ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ทั้งในระยะสั้น ระยะยาวกอบกู้สถานการณ์ที่กำลังมีปัญหา

Advertisment

ลดจำนวนวันที่ฝุ่นพิษ PM 2.5 และ PM 10 เกินค่ามาตรฐาน ลดจุดความร้อน หรือ hotspot แก้ปัญหาไฟไหม้ป่า การเผาขยะ เผาพื้นที่เกษตร ควันพิษจากยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ให้พื้นที่เสี่ยง 9 จังหวัดภาคเหนือ กทม.-ปริมณฑล รวมทั้งภาคใต้ตอนล่างพ้นวิกฤตฝุ่นพิษอย่างยั่งยืน