13 หมุดหมายสู่สังคมก้าวหน้า

Photo by Jack TAYLOR / AFP
สามัญสำนึก
พิเชษฐ์ ณ นคร

ผ่านมา 60 ปีเต็ม หลังการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับแรก ปี 2504 เป็นหางเสือ เครื่องมือนำทางในการพัฒนาประเทศจากอดีตถึงปัจจุบัน โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นแกนหลัก

จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 1 ถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2560-2564 ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 9 พ.ย. 2564 ได้รับทราบสาระสำคัญของร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 ปี พ.ศ. 2566-2570 ที่ สศช.เสนอ ซึ่งถือเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับแรกที่ยกร่างกรอบแผนภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)

สาระสำคัญที่ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 ช่วงรอยต่อโลกปัจจุบันกับโลกยุคใหม่จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว ใครไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลังต้องเกาะติด อัพเดตข่าวคราวไม่ให้ตกกระแส

นอกจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 จะน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักนำทางในการพัฒนาประเทศแล้ว แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับโลก ในหลายมิติ ทำให้ต้องปรับทิศทางการพัฒนาโดยมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ สังคมไทย ให้สอดรับ
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก

โดยเฉพาะแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เป็น megatrend ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การดำเนินชีวิต อาทิ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ

Advertisment

เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร การดูแลรักษาสุขภาพและการรักษาพยาบาล การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ แม้กระทั่งงานในอนาคตก็จะพลิกโฉมไปจากโลกแบบเก่า

สังคมไทยจึงต้องวางรากฐานเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและนอกประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 จึงเน้นมิติการพัฒนา 6 ทุนหลัก 1.ทุนทางการเงิน การปรับโครงสร้างการผลิตและบริการสู่เศรษฐกิจดิจิทัล 2.ทุนทางกายภาพ กระจายศูนย์กลางพัฒนา ต่อยอดลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและเทคโนโลยี

3.ทุนทางธรรมชาติ 4.ทุนทางสังคม การสร้างโอกาส ความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ 5.การพัฒนาทุนมนุษย์ 6.พัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการภาครัฐ

ขณะเดียวกันก็โฟกัสพัฒนาประเทศในระยะ 5 ปีข้างหน้าสู่ 5 เป้าหมาย คือ ปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม พัฒนาคนรับโลกยุคใหม่ สร้างสังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน และเสริมสร้างความสามารถประเทศรับมือการเปลี่ยนแปลง และความเสี่ยงภายใต้บริบทโลกใหม่

Advertisment

โดยกำหนดหมุดหมายการพัฒนา 13 หมุดหมาย ที่ประเทศไทยปรารถนาจะเป็น มุ่งหวังจะมี ต้องการจะขจัด เพื่อพลิกโฉมประเทศ สู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” ได้แก่ 1.การเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง 2.การท่องเที่ยวเน้นคุณภาพและความยั่งยืน

3.เป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าโลก 4.เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง 5.เป็นประตูการค้าการลงทุนและโลจิสติกส์ของภูมิภาค 6.เป็นฐานการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

7.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้มแข็ง มีศักยภาพสูง 8.เป็นเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย ยั่งยืน 9.ความยากจนข้ามรุ่นลดลง 10.เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ

11.ลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 12.กำลังคนสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และ 13.ภาครัฐทันสมัย มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ประชาชน

วิสัยทัศน์สวยหรู มาพร้อมกับความท้าทาย ทำอย่างไรจะขับเคลื่อน 13 หมุดหมาย ให้สัมฤทธิผลในอีก 5 ปีข้างหน้า