แรงกระเพื่อม “สลากดิจิทัล”

สลากดิจิทัล
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติธุรกิจ
ผู้เขียน : อำนาจ ประชาชาติ

 

ปรากฏการณ์ “สลากดิจิทัลฟีเวอร์” ขายดิบขายดี ขายไม่กี่วันเกลี้ยงหมดถ้ามองในมุมการทำธุรกิจ กรณีนี้ก็ไม่ต่างจากอีกหลาย ๆ ธุรกิจที่ถูกคลื่นเทคโนโลยีดิจิทัลซัดเข้ามา “ดิสรัปต์” ที่ใครอยากอยู่รอด ก็ต้องรีบปรับตัว ยกเครื่องด้านดิจิทัล ลงทุนนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใส่ในกระบวนการทำงาน

ส่วนใครที่ไม่ปรับตัวก็พ่ายแพ้ และถึงที่สุดแล้วก็อาจล้มหายตายจากไป

เหมือนกับกรณีกล้องฟิล์มที่ถูกกล้องดิจิทัล “ดิสรัปต์”

เช่นเดียวกับธุรกิจแบงก์ ที่ถูกฟินเทคเข้ามา “ดิสรัปต์”

และไม่ต่างกับอีกหลาย ๆ ธุรกิจที่กำลังดิ้นรนต่อสู้ เพราะไม่อยากถูก “ดิสรัปต์”

อย่างไรก็ดี “สลากกินแบ่งรัฐบาล” ดูจะอีนุงตุงนังมากกว่าการทำธุรกิจทั่ว ๆ ไป

นั่นเพราะอิงกับผลประโยชน์มหาศาล

นั่นเพราะอิงกับนโยบายรัฐ ที่เป็นการตัดสินใจในทาง “การเมือง”

นั่นเพราะมีคนหลายกลุ่มก้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นยี่ปั๊ว ผู้ขายรายย่อย คนพิการ ฯลฯ

ที่ผ่านมา รัฐบาลที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเริ่มตั้งแต่หลัง คสช.ยึดอำนาจเข้ามา

ตั้งโจทย์ “ขึงขัง” ว่าจะเข้ามาแก้ “หวยเกินราคา” นับตั้งแต่ก้าวแรก แต่ผ่านมากว่า 8 ปี มีการพิมพ์สลากเพิ่มจาก 37 ล้านฉบับ เป็น 100 ล้านฉบับ มีการปรับเวลาซื้อ-จอง รื้อโควตา แต่สุดท้ายก็ยังแก้ “หวยเกินราคา” ไม่ได้

กระทั่งตอนนี้มาลงเอยที่ “สลากดิจิทัล” ขายผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ซึ่งที่ผ่านมาก็ดูจะได้ผลดีเสียด้วย เพียงแต่ช่วงแรกชิมลางขายแค่ 5 ล้านฉบับเท่านั้น ถือว่าสัดส่วนน้อยมาก ๆ เมื่อเทียบกับยอดพิมพ์และจำหน่ายสูงสุด หรือตกแค่ประมาณ 5% เท่านั้น

อย่างไรก็ดี เมื่อเสียงตอบรับดี ทางรัฐบาลและสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลก็เดินหน้าเพิ่มเป็น 7.1 ล้านฉบับ และมีแผนจะทยอยปรับขึ้นไปอีก ซึ่งเมื่อเทียบกับยอดพิมพ์และจำหน่ายสูงสุดที่ระดับ 100 ล้านฉบับแล้ว “สลากดิจิทัล” ก็ยังคงมีสัดส่วนน้อยมาก ๆ

ทว่าตอนนี้ เสียงคัดค้านจากกลุ่มก้อนต่าง ๆ ก็เริ่มดังออกมาแล้ว โดยมีผู้ค้ารายย่อยเป็นด่านหน้า

อยากแนะนำว่า ถ้าสุดท้ายแล้ว ถ้าอีนุงตุงนังมาก ๆ จนไม่สามารถเพิ่มจำนวนสลากดิจิทัลได้อีก สำนักงานสลากฯน่าจะลองลดยอดพิมพ์ลงกลับไปที่เดิม เพราะไหน ๆ พิมพ์เพิ่มมาแล้ว ก็ไม่ช่วยแก้เรื่องขายเกินราคา จะได้ไม่ถูกมองว่ามอมเมาด้วย