ซีพีแรม ปล่อยปูม้า ส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานท้องทะเลไทย

ปูม้าเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ ผู้คนนิยมบริโภคกันมาก จึงนำไปสู่การทำประมงที่เพิ่มขึ้น แต่ปริมาณปูม้าที่โตเต็มวัยลดน้อยลง บวกกับมีการจับปูม้าที่มีไข่แก่นอกกระดองในปริมาณมากด้วย จึงทำให้มีการนำทรัพยากรปูม้าขนาดเล็กขึ้นมาใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ประชากรปูม้าไม่สามารถเจริญเติบโตทดแทนได้ทัน

ขณะที่บริษัท ซีพีแรม จำกัด มุ่งเน้นขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร (food security) อย่างต่อเนื่อง โดยมี “โครงการปูม้ายั่งยืน คู่ทะเลไทย” เป็นหนึ่งภารกิจสำคัญที่ดำเนินการมากว่า 12 ปี ล่าสุดร่วมมือและผนึกกำลังกับหน่วยงานราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ชาวประมงพื้นบ้าน และชาวบ้าน ร่วมปล่อยลูกพันธุ์ปูม้าระยะ young crab ขนาด 0.5-1 เซนติเมตร ที่มีอัตรารอดประมาณ 80-95% คืนสู่ท้องทะเลอันดามันในพื้นที่จังหวัดระนอง 200,000 ตัว

“วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด กล่าวว่า เราตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน และสัมฤทธิผลตามปณิธานองค์กรที่ว่า “ร่วมส่งมอบความเป็นอยู่ที่ดีให้ทุกคน” (providing well-being for all) ครอบคลุมทั้งในมิติสุขภาวะ มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นก้าวสู่องค์กรที่มีการพัฒนา และเติบโตควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่ารอบด้านอย่างยั่งยืน

โดยดำเนินการสอดคล้องตามกรอบการพัฒนา และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ปี พ.ศ. 2564-2573 ภายใต้กรอบ 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านเศรษฐกิจ, มิติด้านสังคม และมิติด้านสิ่งแวดล้อม

Advertisment

“โครงการปูม้ายั่งยืน คู่ทะเลไทย จะเป็นกรณีศึกษาให้กับโครงการอื่น ๆ ในเรื่องการจัดการห่วงโซ่อุปทาน (supply chain management) ตามแนวทาง FOOD 3S ของซีพีแรม ได้แก่ ความปลอดภัยทางอาหาร (food safety) ความมั่นคงทางอาหาร (food security) และความยั่งยืนทางอาหาร (food sustainability) ตั้งแต่กระบวนการสั่งซื้อ การนำเข้าวัตถุดิบสู่กระบวนการผลิต จนกระทั่งส่งสินค้าถึงมือลูกค้าให้มีความต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพสูงสุดเสมอมา จากการเดินทางมายาวนาน 36 ปี”

กล่าวกันว่า FOOD 3S สะท้อนถึงแนวทางการทำงานที่แยกหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาดูแลปณิธานดังกล่าวอย่างจริงจัง ตลอดทั้งกระบวนการจัดการห่วงโซ่อุปทาน (supply chain management) ที่จะต้องสอดคล้องกับปณิธานดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม และนับเป็นเรื่องที่สอดแทรกอยู่ในทุกกระบวนการคิด และการทำงานขององค์กร จนทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบตลอดการจัดส่งจวบจนถึงมือผู้บริโภคมีความชัดเจนของความปลอดภัยทางอาหารในทิศทางเดียวกัน

โดยบุคลากรในองค์กรทุกคนมีส่วนร่วม และนำไปปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกันอย่างต่อเนื่องครอบคลุมหลายด้าน เพื่อเดินหน้าสร้างคุณค่าให้กับสังคมรอบด้าน โดยยึดหลักการดำเนินธุรกิจตามหลัก 3 ประโยชน์ คือประโยชน์ต่อประเทศ ประชาชน และองค์กร อันเป็นความภูมิใจของซีพีสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

Advertisment

“วิเศษ” กล่าวต่อว่า การปล่อยลูกพันธุ์ปูม้าระยะ young crab คืนสู่ท้องทะเลอันดามันในพื้นที่จังหวัดระนองครั้งนี้ จำนวน 200,000 ตัว หากนับสะสมกับครั้งก่อน ๆ ที่ปล่อยในทั้งพื้นที่ทะเลอ่าวไทยและอันดามันก็จะได้กว่าล้านตัวแล้ว ผู้เกี่ยวข้องในการทำกิจกรรมจะมีตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ

อันได้แก่ ชาวประมง แพสิริมา ระนอง (ผู้ส่งมอบวัตถุดิบเนื้อปู) บริษัท ซีพีแรม จำกัด (ผู้ผลิตอาหาร) และผู้บริโภค รวมถึงสำนักงานประมงจังหวัดระนอง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลระนอง และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 3 เป็นผู้สนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ

ทั้งนั้นเพื่อให้การจัดการอนุรักษ์ คุ้มครอง และการพัฒนาการประมงปูม้าในทะเลไทยบรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังไม่มีผลเสียต่อระบบนิเวศวิทยา ทรัพยากร และคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มมูลค่าปูม้าให้กับท้องทะเล อันสอดคล้องกับมาตรฐานทางสุขอนามัยเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ปูม้าที่มีคุณภาพสำหรับการบริโภค ประกันคุณภาพรักษามาตรฐานที่ต้องการ รวมถึงเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร และความยั่งยืนทางอาหาร

การดำเนินการโครงการดังกล่าวมีความคาดหวังในระยะยาว เพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้คงความสมบูรณ์ และสมดุลตามระบบนิเวศในท้องทะเลไทย นอกจากนั้น ซีพีแรมยังคำนึงถึงการมอบสิ่งที่เป็นคุณค่าบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งภายใน และภายนอกองค์กร ตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนด้วย

ขณะเดียวกัน ซีพีแรมยังคงเดินหน้าส่งเสริมความรู้ด้านอาหารปลอดภัย คุณค่าทางโภชนาการ และสุนทรียภาพในการบริโภค รวมถึงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม การพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

“วิเศษ” กล่าวต่อว่า ซีพีแรมเป็นผู้ผลิตอาหารที่คำนึงถึงความยั่งยืนของอาหาร ดังนั้น การใช้วัตถุดิบธรรมชาติจากเกษตรกรหรือผู้ส่งมอบวัตถุดิบ ต้องอยู่บนพื้นฐานความยั่งยืน ตลอดห่วงโซ่การผลิต เพราะแต่ละปีเรามีการใช้เนื้อปูม้าประมาณ 125 ตัน ใช้ผลิตข้าวผัดปูเป็นส่วนใหญ่ โดยซื้อปูจากชาวประมงหรือผู้ส่งมอบวัตถุดิบเนื้อปูแกะจากทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน

“ซึ่งปูม้าเป็นปูที่ไม่สามารถเลี้ยงในฟาร์มได้ เพราะจะเติบโต และอยู่รอดในทะเลธรรมชาติเท่านั้น ดังนั้น เราต้องคืนกลับไปให้ธรรมชาติมากที่สุด เพื่อเป็นแหล่งอาหารไปชั่วลูกชั่วหลาน”

นับว่า โครงการ “ปูม้า ยั่งยืน คู่ทะเลไทย” เสริมสร้างความตระหนักในสังคมด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนของปูม้าในท้องทะเลไทย