ลุ้นน้ำท่วมไม่กระทบข้าวนาปี โรงสีดันราคาซื้อเก็บเข้าสต๊อก

น้ำท่วมนา

“โรงสีสต๊อกหด” เตรียมซื้อข้าวนาปี ลุ้นน้ำท่วมไม่กระทบผลผลิตเสียหาย จี้รัฐเร่ง “ประกันรายได้-รับฝากยุ้งฉาง” จับตาทุ่งรับน้ำภาคกลาง “ระบายน้ำช้า” ลากแผนปลูกนาปรังรอบแรกปี 2566 ล่าช้า ด้าน “ผู้ส่งออก” เตรียมจัดทัพสำรวจสถานการณ์

นายวิชัย ศรีนวกุล นายกสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการติดตามสถานการณ์การเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี 2565/2566 ขณะนี้ยังพบว่ามีพื้นที่ปลูกข้าวน้ำท่วมเพิ่มขึ้น เช่น กาฬสินธุ์ และยังมีพื้นที่ที่น้ำท่วมไปก่อนหน้านี้ยังไม่ลดลง เช่น อุบลราชธานี บริเวณริมแม่น้ำมูล ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม หากไม่มีพายุฝนตกลงมาเพิ่ม จะทำให้การระบายน้ำที่สะสมต้องใช้เวลาประมาณ 15 วันจึงจะคลี่คลาย แต่หากมีพายุฝนเพิ่มขึ้นอาจเป็นอีกปัจจัยที่สร้างความเสียหายต่อผลผลิตได้

“ตอนนี้ชาวนาบางพื้นที่ที่เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวมะลิพันธุ์ กข.15 ก่อน แต่สัดส่วนข้าวชนิดนี้ไม่มาก หลังจากนี้ชาวนาจะเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวขาวหอมมะลิพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งในภาพรวมถือว่าเกี่ยวล่าช้าจากปกติประมาณ 1 สัปดาห์ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวทั้งหมดได้ในช่วงวันที่ 5-6 พ.ย. ซึ่งจากการสังเกตในเบื้องต้นจะเห็นว่าลักษณะลำต้นข้าวดีกว่าปีก่อน ข้าวพื้นที่นาดอนชอบน้ำ แต่เราจะทราบชัดเจนว่าคุณภาพเมล็ดข้าวดีหรือไม่หลังผ่านวันที่ 20 ต.ค.ไปแล้ว

ที่น่าห่วงเพราะยังมีอีกปัจจัยที่จะกระทบต่อผลผลิตนาปี คือ ต้นทุนปุ๋ยราคาสูงขึ้นจากเดิมกระสอบละ 600 ถึง 700 บาท ปัจจุบันกระสอบละ 1,300 บาท ส่งผลทำให้ชาวนาใส่ปุ๋ยน้อยลง ก่อนหน้านี้โรงสีภาคกลางที่ซื้อนาปรังก่อนก็เคยประสบปัญหาว่าข้าวนาปรังผลผลิตลดลง และคุณภาพต่ำ เพราะชาวนาไม่ใส่ปุ๋ย เราจึงต้องรอประเมินอีกครั้ง”

ราคาข้าวหอมมะลิต้นฤดูยังสูง

สำหรับราคารับซื้อข้าวเปลือกในช่วงต้นฤดู ล่าสุด ข้าวเปลือกหอมมะลิรับซื้อตันละ 15,000 บาท (ข้าวแห้ง) สูงเทียบเท่ากับปีก่อน เพราะปีนี้สถานการณ์ราคาค่อนข้างดี เนื่องจากมีปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไป 38 บาทต่อเหรียญสหรัฐเข้ามาช่วย

ดังนั้น คาดว่าแม้ว่าจะเป็นช่วงที่ผลผลิตออกมามากสถานการณ์ราคาข้าวก็น่าจะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่าตันละ 13,000 บาท แตกต่างจากปีก่อนที่เปิดมาต้นฤดูราคาตันละ 15,000 บาท แต่เมื่อผลผลิตออก ราคาข้าวค่อย ๆ ลดลงไปเรื่อย ๆ จนเหลือ 11,000 บาท ทำให้รัฐบาลต้องชดเชย 4,000 บาทต่อตัน สำหรับราคาข้าวเปลือก 15,000 บาท หากคิดเป็นข้าวสารส่งออก เฉลี่ยตันละ 700-800 เหรียญสหรัฐ

ขณะที่สถานการณ์ราคาข้าวเหนียวปรับสูงขึ้นอยู่ที่ตันละ 11,000-12,000 บาท สาเหตุที่ปรับขึ้นเพราะสต๊อกข้าวเหนียวอยู่ในช่วงใกล้หมด ทำให้ราคาปรับสูงขึ้น ขณะที่ผลผลิตนาปรังลดลง หากสถานการณ์คลี่คลาย ราคาจะฟื้นกลับสู่ภาวะปกติ

จี้ประกันรายได้-รับฝากยุ้งฉาง

“สิ่งสำคัญขอให้รัฐบาลเร่งนำเรื่องการประกันรายได้ รอบ 4 รอบใหม่ที่ผ่าน นบข.แล้ว เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว พร้อมทั้งประกาศมาตรการคู่ขนาน อย่างการรับฝากเก็บข้าวขึ้นยุ้งฉางเกษตรกร และการชดเชยดอกเบี้ยให้กับโรงสีที่เข้าไปรับซื้อ โดย นบข.กำหนดว่าจะให้ค่าฝากเก็บชาวนา 20 ไร่ต่อคน ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท หากประกาศออกมาชัดเจน ทันเวลา ก็จะทำให้ชาวนาเกิดความมั่นใจ และไม่รีบเกี่ยวข้าวออกมาขายในตลาด ซ้ำเติมทำให้ราคาต่ำลงไป

ในส่วนของโรงสีปีนี้ สต๊อกข้าวจากปีก่อนไม่ค่อยเหลือ ความต้องการซื้อข้าวจึงมีสูง เป็นผลมาจากปีก่อนทุกคนคาดว่าผลผลิตข้าวในช่วงนาปีจะมีปริมาณถึง 9 ล้านตัน แต่ผลผลิตจริงมีเพียง 7 ล้านตัน ตอนนี้จึงทยอยใช้ข้าวเกือบหมด ทำให้สต๊อกลดลงอย่างมาก และสามารถที่จะมีพื้นที่รองรับข้าวนาปีได้ แต่ติดปัญหาคือวงเงินสินเชื่อที่ธนาคารให้ไม่เต็ม 100% มาตั้งแต่ปีก่อน หลายรายโดนลดวงเงิน ก็อาจมีผลต่อการซื้อข้าวบ้าง”

ภาคกลางเริ่มปลูกนาปรังช้า

นายมานัส กิจประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้สถานการณ์น้ำท่วมภาคกลาง เปรียบเทียบแล้วถือว่ามากกว่าปี 2564 แต่น้อยกว่าปี 2554 แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว เพราะเกิดขึ้นหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังไปแล้ว แต่หลังจากนี้ หากสถานการณ์ระบายน้ำไม่ลดลง ภายในสิ้นเดือนหรือไปถึงต้นเดือน พ.ย. โดยเฉพาะในหลายทุ่งรับน้ำ ก็อาจส่งผลให้การเริ่มปลูกข้าวนาปรังรอบ 1 ปี 2566 ล่าช้ากว่าปกติ ทำให้การเก็บเกี่ยวรอบต่อไปล่าช้าได้

สำหรับพื้นที่นาปรังภาคกลางส่วนใหญ่จะปลูกข้าวเจ้า ซึ่งจะนำมาผลิตเป็นข้าวขาวเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในขณะนี้ยังประเมินว่าปริมาณผลผลิตไม่ได้ลดลงจนส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตข้าวถุง ดังนั้น ราคาข้าวสารในประเทศจึงไม่น่าแพงขึ้นจากปีก่อน

มั่นใจส่งออกฉลุย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ระหว่างวันที่ 3-5 พ.ย. 2565 นี้ นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย จะนำคณะลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสำรวจสถานการณ์การผลิตข้าวนาปี 2565/2566 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะประชุมร่วมกับนายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย และนายวิชัย ศรีนวกุล นายกสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งเกษตรจังหวัดและพาณิชย์จังหวัด เพื่อทราบสถานการณ์การเก็บเกี่ยวและวางแนวทางในการทำการตลาดข้าวในปี 2566

นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะน้ำท่วมในที่ราบสูง ทำให้ผลผลิตข้าวนาปีออกมาดี ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ราคารับซื้อข้าวหอมมะลิรอบใหม่ยังไม่ออก แต่ราคาที่รับซื้อข้าวเหนียวสูง ประมาณตันละ 10,000 บาท สำหรับความชื้น 30%

“ภาพรวมการส่งออกข้าวไทยปีนี้ ผมมองว่าไปได้ถึง 8 ล้านตัน โดยในไตรมาส 4 ยังเหลือออร์เดอร์สำหรับส่งมอบตลาดต่าง ๆ หลายตลาด โดยเฉพาะตลาดอิรักมีคำสั่งซื้อยาวถึง พ.ย. ซึ่งในส่วนธนสรรไรซ์คาดว่าจะขยายตัวได้ 100% ส่วนแนวโน้มปี 2566 ต้องรอดหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายภายในสิ้นเดือนนี้ น้ำลด และจะเริ่มปลูกข้าวใหม่ จากนั้นอีก 3 เดือน ประมาณ ม.ค.-ก.พ. 2566 จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตใหม่ ถือว่าล่าช้าไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากนัก”

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ปลูกข้าวหลายจังหวัดภาคอีสาน เช่น จ.ศรีสะเกษมีการท่วมประมาณ 3-4 ตำบล และ จ.อุบลราชธานีท่วมหนักบริเวณที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ แต่ภาพรวมผลผลิตข้าวนาปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนาดอนไม่ได้ปรับลดลง ข้าวหอมมะลิจึงไม่ได้เสียหาย ยกเว้นแต่ว่าหลังจากนี้จะมีพายุตกลงมาเพิ่ม

ด้านราคารับซื้อข้าวเปลือกถือว่า “ไม่แย่” เท่ากับปีก่อน เพราะปีก่อนทุกคนต่างกังวลเกี่ยวกับสต๊อกข้าวในมือผู้ประกอบการที่เหลือปริมาณมาก แต่ปีนี้ปริมาณสต๊อกข้าวในมือผู้ประกอบการโดยเฉพาะโรงสี อยู่ในภาวะลดลง “โรงสีท้องว่าง” จึงมีกำลังและมีพื้นที่ที่จะรับซื้อข้าว

“ภาพรวมการส่งออกข้าวไตรมาส 4 ปีนี้ มีเรื่องค่าบาทอ่อนถึง 38 บาทมาช่วย น่าจะทำให้การส่งออกของไทยไปได้ดี โดยในช่วง 8 เดือนแรกส่งออกแล้ว 4.7 ล้านตัน ส่วนในเดือน ก.ย. คาดว่าส่งออกได้อีก 7 แสนตัน ทั้งปี 2565 น่าส่งออกได้ประมาณ 7.5-7.8 ล้านตัน หรือมีโอกาสผลักดันให้ไปถึง 8 ล้านตันได้ ขึ้นอยู่กับราคา ปัจจัยสำคัญว่าค่าบาทอ่อน 38 บาทไปนานเพียงใดด้วย”


รายงานข่าว ระบุว่า นายประยูร อินสกุล รักษาการปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานการประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 4/2565 สรุปความเสียหายพื้นที่นาข้าวจากพายุโนรู ในพื้นที่ 59 จังหวัด โดยหากแยกเฉพาะพื้นที่เกษตรถูกน้ำท่วม 4.5 ล้านไร่ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นพื้นที่นาข้าวถูกน้ำท่วม 2.99 ล้านไร่ และเสียหายไปแล้ว 556,677 ไร่ คิดเป็น 4.54% เทียบกับพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ 11.2 ล้านไร่