สทนช.หว่าน 5 หมื่นล. ลุย 7 โครงการน้ำ

สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เดินเต็มสูบเร่ง 7 โครงการน้ำขนาดใหญ่ งบฯ5 หมื่นล้านบาท เสร็จใน 5 ปี

 

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบให้ สทนช.ร่วมทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศ ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1.จัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม) 3.จัดการน้ำและอุทกภัย 4.การจัดการคุณภาพน้ำ 5.การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และ 6.บริหารจัดการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเตรียมแผนงานโครงการขนาดใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาสําคัญของทุกภาค ซึ่งจะเริ่มขับเคลื่อนในปีนี้

อาทิ ภาคเหนือ เช่น การแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยมทั้งระบบ การพัฒนาบึงขนาดใหญ่ (บึงบอระเพ็ด/บึงสีไฟ) และการเติมน้ำเขื่อนภูมิพล ภาคกลาง เช่น การป้องกันน้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยาเต็มระบบทั้ง 9 แผนงาน ได้แก่ คลองบางบาล-บางไทร คลองชัยนาท-ป่าสัก เป็นต้น ภาคอีสาน เช่น การเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุน ผันน้ำป่าสัก-ลําตะคอง การผันน้ำห้วยหลวง รวมทั้งแผนงานเร่งด่วนและแผนการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ area base ซึ่งขณะนี้มีแผนงานที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้ว 216 โครงการ จำนวนเงิน 4,212 ล้านบาท โดยพิจารณาโครงการที่มีความพร้อมสามารถดำเนินการได้ทันที

ขณะเดียวกัน สทนช.มีแผนงานโครงการขนาดใหญ่ที่เริ่มต้นแล้ว ได้แก่ 1) โครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำแม่งัด-แม่กวง เนื่องจากเขื่อนแม่กวงมีความจุ 263 ล้าน ลบ.ม. แต่มีปริมาณน้ำไหลเข้าไม่มาก ไม่เพียงพอกับชุมชน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ขาดความต้องการปีละ 137 ล้าน ลบ.ม. จึงผันน้ำจากลําน้ำแม่แตง และเขื่อนแม่งัด มีความจุ 265 ล้าน ลบ.ม. โดยขุดอุโมงค์ขนาดความกว้าง 4.2 ม. ความยาว 48.6 กม. สามารถเพิ่มน้ำให้เขื่อนแม่กวง ปีละ 160 ล้าน ลบ.ม. และสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 49,069 ไร่ ใช้งบประมาณ 15,000 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างปี 2558-2564

2) โครงการบรรเทาอุทกภัยหาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นการขุดขยายคลองระบายน้ำ ร.1 เนื่องจากปริมาณฝนตกมีแนวโน้มมากขึ้น เพื่อให้ระบายน้ำได้มากขึ้นจากเดิม 465 ลบ.ม./วินาที เป็น 1,200 ลบ.ม./วินาที ใช้งบประมาณ 6,500 ล้านบาท ดําเนินการก่อสร้างปี 2558-2562

3) โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จ.ตรัง ช่วง อ.เมือง จ.ตรัง มีความแคบ ไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน จึงขุดคลองสายใหม่ ความยาว 7.55 กม. พร้อมประตูระบายน้ำ 2 แห่ง ของแม่น้ำตรังเป็น 750 ล้าน ลบ.ม./วินาที และผลักดันการรุกตัวของน้ำเค็มในแม่น้ำตรังในช่วงฤดูแล้ง ใช้งบประมาณ 1,482.50 ล้านบาท ดําเนินการก่อสร้างปี 2559-2562

4) โครงการคลองผันน้ำเลี่ยงเมืองนครศรีธรรมราช เนื่องจากคลองท่าดี มีขีดความสามารถระบายน้ำได้ 268 ลบ.ม./วินาที หากเกิดฝนตกหนัก อาจจะมีน้ำหลากประมาณ 600 ลบ.ม./วินาที จึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำอีก 750 ลบ.ม./วินาที เป็น 1,018 ลบ.ม./วินาที โดยการขุดคลองสายใหม่ ความยาว 18.64 กม. และปรับปรุงระบบคลองสายเดิม ความยาว 17.80 กม. พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำจํานวน 7 แห่ง ใช้งบประมาณ 9,580 ล้านบาท คาดว่าเริ่มก่อสร้างปี 2561-2565

5) โครงการอ่างเก็บน้ำวังหีบ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และชะลอน้ำหลากในฤดูฝน มีความจุ 20.10 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์ 13,014 ไร่ ใช้งบประมาณ 2,349 ล้านบาท ดําเนินการก่อสร้างปี 2561-2565 6) โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ จ.พะเยา เพื่อบรรเทาน้ำท่วม/น้ำแล้งในลุ่มน้ำยม ความจุ96 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทาน 28,000 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์ 35,000 ไร่ ใช้งบประมาณ 3,981 ล้านบาท ดําเนินการก่อสร้างปี 2559-2563

7) โครงการประตูน้ำศรีสองรัก จ.เลย เนื่องจากแม่น้ำเลยมีเขื่อนเก็บน้ำ จึงต้องมีการสร้างประตูน้ำ เพื่อทดน้ำในแม่น้ำเลยพร้อมระบบท่อส่งน้ำ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ชะลอน้ำหลากในช่วงฤดูฝน และเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 72,500 ไร่ ใช้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท คาดว่าสามารถดําเนินการก่อสร้างได้ในปี 2561-2566 โดยทั้ง 7 โครงการต้องแล้วเสร็จใน 5 ปีงบประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

 

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

อ่านประชาชาติธุรกิจ ฉบับ e-Newspaper
หรือ e-Book ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”