ม.หอการค้าชี้ 10 ปี ชาวนาไทยยังจน นโยบายแทรกแซงไม่ได้ช่วยอะไร

อัทธ์ พิศาลวานิช
อัทธ์ พิศาลวานิช

ม.หอการค้าไทย เผยช่วง 10 ปี หรือ 1 ทศวรรษ ชาวนาไทยยังจนสุดในอาเซียน ควรเร่งเพิ่มศักยภาพ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ สร้างให้มีรายได้ในกระเป๋ามากขึ้น ชี้นโยบายแทรกแซงไม่ได้ช่วยให้ชาวนามีเงินเพิ่ม

วันที่ 26 กรกฎาคม 2566 นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงบทวิเคราะห์ 10 ปี ชาวนาไทย : จนเพิ่ม หนี้ท่วม ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตข้าวไทยต่อไร่ลดต่ำลง โดยไทยต่ำกว่าเวียดนาม 3 เท่า ไทยเฉลี่ย 450 กก.ต่อไร่ เวียดนามมากกว่า 1,000 กก. หรือมากกว่า 1 ตันต่อไร่ ขณะที่รายได้และเงินคงเหลือของไทยน้อยกว่าคู่แข่ง ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ในปี 2565 มีต้นทุนการผลิต 5,898.5 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้น 2,058.8 บาท/ไร่ จากปี 2555 ประเทศไทยมีต้นทุนรองจากอินเดีย ส่งผลให้ชาวนาไทยยังคงมีรายได้น้อยและภาระหนี้สินที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่าชาวนาไทยมีอาชีพทำนา แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวนามืออาชีพ มีรายได้ชาวนาไทยก็ปลดหนี้ซึ่งหากมีภาระหนี้เพิ่ม การขายที่นาจึงเป็นทางออก ทำให้ชาวนาขาดทุนสะสมจากการทำนามากขึ้น และไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง ต้องเช่าที่นาเพื่อทำการเกษตรต่อ นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถปลดหนี้ให้กับชาวนาได้ แหล่งน้ำไม่พร้อม และปัญหาโลกร้อน เงินวิจัยน้อย ไทยใส่เงิน 200 ล้านบาทในการวิจัยซึ่งยังไม่เพียงพอ

ดังนั้น ทางออกในการดูแลชาวนาหรืออุตสาหกรรมข้าวไทย นโยบายแทรกแซง ทั้งโครงการจำนำข้าว โครงการประกันรายได้ ยังไม่ใช่ทางออกในการช่วยเหลือ เพราะเห็นจากหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เงินในกระเป๋าของชาวนาไทยไม่เหลือ แต่ตรงกันข้ามทำให้ชาวนามีรายได้ลดลงต่อเนื่อง และติดลบ จึงต้องการให้รัฐบาลใหม่ต้องเข้ามาแก้ปัญหาชาวนาให้ตรงจุด และติดตามประเทศคู่แข่งว่ามีการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวและทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มได้อย่างไร

“เราไม่สามารถมองข้ามคู่แข่งในต่างประเทศได้ ศักยภาพการผลิตของไทยกับคู่แข่งเราต้องศึกษา ไม่ใช่อาศัยการเข้าไปแทรกแซงสินค้าเกษตร โดยการนำเงินไปอุดหนุน อาจจะไม่ได้ส่งเสริม เราควรไปช่วยยกระดับให้กับเกษตรกรในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุน จะเป็นการส่งเสริมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับชาวนาได้”

นอกจากนี้ ปัญหาแหล่งน้ำยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเข้าไปแก้ไขนอกจากช่วยในอุตสาหกรรมข้าว ชาวนา ยังสามารถช่วยสินค้าเกษตรอื่น ๆ ได้ แม้มองว่าแหล่งน้ำจะมีส่วนสำคัญจากนี้เป็นต้นไป ดังนั้น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับชุมชน หมู่บ้าน อำเภอ ในการขุดบ่อกักเก็บน้ำจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและต้องคิดต่อไป

เปรียบเทียบชาวนาไทยกับคู่แข่ง

ขณะที่รายได้ลดลง 777.7 บาท/ไร่ โดยในปี 2565 ชาวนามีรายได้ 3,900.3 บาท/ไร่ น้อยกว่าในปี 2555 ที่มีรายได้ 4,678.0 บาท/ไร่ ทั้งนี้ ในปี 2555 ชาวนามีเงินคงเหลือ 838.3 บาท/ไร่ แต่ปี 2565 ชาวนามีเงินขาดทุน 1,998.2 บาท/ไร่ ซึ่งจากบทวิเคราะห์พบว่า ชาวนาไทยจนที่สุดในอาเซียน โดยพิสูจน์แล้วว่านโยบายในการแทรกแซงราคาของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถทำให้รายได้ของชาวนาเพิ่มขึ้นได้

การผลิตข้าวของโลก ในปี 2565 ประเทศผู้ผลิตข้าวมากที่สุดของโลก คือ ประเทศจีน โดยผลิตข้าวสารได้ 145 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 28.5% ของการผลิตข้าวสารโลก อินเดีย ผลิตข้าวสารได้มากเป็นอันดับสองของโลก โดยผลิตข้าวสารได้ 136 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 26.5% เวียดนาม ผลิตข้าวสารเป็นอันดับห้าของโลก ผลิตข้าวสารได้ 27 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 5.3% และไทย ผลิตข้าวสารเป็นอันดับหกของโลก โดยผลิตข้าวสารได้ 20 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 3.9% ของการผลิตข้าวสารโลก

โดยประเทศผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดของโลกในปี 2565 คือ อินเดีย ไทย และเวียดนาม ประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญของอินเดีย คือ บังกลาเทศ ซาอุดีอาระเบีย และอิหร่าน ส่วนประเทศคู่ค้าข้าวที่สำคัญของไทยในปี 2565 คือ อิรัก สหรัฐ แอฟริกาใต้ และจีน ขณะที่เวียดนาม มีคู่ค้าที่สำคัญ คือ ฟิลิปปินส์ กานา และจีน

แก้หนี้ของชาวนา

นายอัทธ์กล่าวอีกว่า ชาวนาไทยส่วนใหญ่ปลดหนี้โดยขายที่นา และการแก้ปัญหาให้ชาวนาจึงเป็นสิ่งจำเป็น จะต้องเข้าไปดูปัญหาที่แท้จริงที่เกิดขึ้น เพราะยังมองว่า นโยบายที่ผ่านมาไม่ได้มีการแก้หนี้อย่างจริงจัง และช่วยลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้มีรายได้เหลือไปชำระหนี้ การมีวินัยการก่อหนี้ของชาวนาก็ควรจะมีการปรับเปลี่ยนเพราะหลายประเทศไม่ได้นิยม การก่อหนี้ แต่พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยในสังคมปัจจุบันทำให้วิถีชาวนาเปลี่ยนไป

ทั้งนี้ เห็นจากชาวนาเวียดนามต้นทุนไม่สูง เพราะยังใช้แรงงานสัตว์ ช่วยลดต้นทุนซึ่งก็เป็นอีกหนึ่ง เพื่อให้เงินในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงเห็นว่าควรที่จะเข้าไปช่วยเหลือในการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายควรเข้ามาช่วยเหลือเพราะมองว่าจะทำให้หนี้ของชาวนาลดลงได้

“ชาวนาขาดทุนสะสมจากการทำนาต้องขายที่นา และเช่าที่นาตัวเองเพื่อทำการเกษตรต่อ นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถปลดหนี้ให้กับชาวนาได้ แหล่งน้ำไม่พร้อม และปัญหาโลกร้อน เงินวิจัยน้อย ไทยใส่เงิน 200 ล้านบาทในการวิจัย แต่เวียดนามใส่เงิน 3 พันล้านบาท นโยบายการแทรกแซงตลาด ทำลายศักยภาพการแข่งข้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาข้าวอย่างแท้จริง ข้าวไทยไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคสมัยใหม่ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหันไปรักสุขภาพมากขึ้น และข้าวหอม และนุ่ม โดยเอกลักษณ์ข้าวไทยลดน้อยถอยลง มีการปลอมปน และเร่งการผลิตบนที่ดินที่ขาดคุณภาพ”

สรุป 10 ปี ข้าวไทย 10 ปี จุดอับ : บทเรียนที่สิ้นหวัง

1.ผลผลิตข้าวต่อไร่ของไทยต่ำ ไทยต่ำกว่าเวียดนาม 3 เท่า (ไทยเฉลี่ย 450 กก.ต่อไร่ เวียดนามมากกว่า 1,000 กก. หรือมากกว่า 1 ตันต่อไร่)

2.ชาวนาไทยมีอาชีพทำนา แต่ส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวนามืออาชีพ ขณะที่เวียดนามคือชาวนาอาชีพ จากชาวนาไทยส่วนใหญ่คิดแค่ 2 เรื่องคือ ราคากับผลผลิต ไม่ค่อยคิดเรื่องการปรับลดต้นทุน แต่ชาวนาเวียดนามคิดในเรื่อง “3 ลด 3 เพิ่ม”

3.ปลดหนี้โดยขายที่นา ชาวนาขาดทุนสะสมจากการทำนาต้องขายที่นา และเช่าที่นาตัวเองเพื่อทำการเกษตรต่อ นโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถปลดหนี้ให้กับชาวนาได้

4.แหล่งน้ำไม่พร้อม และปัญหาโลกร้อน เวียดนามทำนาได้ 3 ครั้งต่อปี ไทยทำได้ 1-2 ครั้ง

5.เงินวิจัยน้อย ไทยใส่เงิน 200 ล้านบาทในการวิจัย แต่เวียดนามใส่เงิน 3 พันล้านบาท ส่วนอินเดีย จีน และญี่ปุ่นใส่เงินวิจัยข้าวมากกว่า 1 พันล้านเหรียญต่อปี

6.นโยบายการแทรกแซงตลาด ทำลายศักยภาพการแข่งข้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาข้าวอย่างแท้จริง

7.ยิ่งทำนา หนี้ยิ่งเพิ่ม ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผลผลิตต่อไร่ลดลง ราคาขายลดลง

8.ข้าวไทยไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคสมัยใหม่ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหันไปรักสุขภาพมากขึ้นและข้าวหอม และนุ่ม

9.เอกลักษณ์ข้าวไทยลดน้อยถอยลง (ความหอม ความนุ่ม) มีการปลอมปน และเร่งการผลิตบนที่ดินที่ขาดคุณภาพ

10.การควบคุมการกระจายพันธุ์ข้าว การกระจายพันธุ์ข้าวเพื่อควบคุมคุณภาพข้าวเวียดนามทำได้ดีกว่าไทย