โลกร้อนขึ้น 1 องศา ชาวนาชาวสวนหนี้พุ่ง รายได้หดไปเท่าไร เปิดผลศึกษาที่นี่

โลกร้อนขึ้น 1 องศา ชาวนาชาวสวนหนี้พุ่ง

“อัทธ์” นักวิชาการอิสระ เผยปี 2567 โลกร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนลด กระทบการเพาะปลูกสินค้าเกษตร ชี้ข้าว-ยางพารากระทบหนักสุด หนี้ครัวเรือนเพิ่ม ส่งออกข้าวไทยคาดปีนี้เหลือ 7.2 ล้านตัน ส่วนทุเรียนรายได้ลด 21,932 บาทต่อไร่

วันที่ 29 มกราคม 2567 นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และฐานะที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด เปิดเผยถึงบทวิเคราะห์ : เอลนิโญ (El Nino) ทำชาวนาและเกษตรกร “หนี้ท่วม” ว่า ผมได้ประเมินไว้อีก 10 ปีข้างหน้าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส (ตั้งแต่ปี 2023-2032) และในปี 2567 การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกโลกร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียสมีผลทำให้ปริมาณน้ำฝน น้ำในการทำการเกษตรลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรของไทย หนักสุดข้าว-ยางพารา

อัทธ์ พิศาลวานิช
อัทธ์ พิศาลวานิช

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2566-2575 เป็นต้นไป อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 0.8 องศาเซลเซียส เป็น 1.2 องศาเซลเซียส และปี 2567 การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกเพิ่มมากกว่า 1 องศาเซลเซียส ส่งผลปริมาณน้ำของไทยในปี 2567 ลดลง 4,025 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปี 2566 (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประเมิน ณ วันที่ 9-15 มกราคม 2567) ทำให้น้ำใช้เพื่อการเกษตรลดลง ภาคเกษตรต้องการน้ำมากสุดคิดเป็น 80% ของการใช้น้ำทั้งหมดของประเทศ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคเกษตร “ที่สูงอยู่แล้ว ยิ่งสูงขึ้นอีก” ชาวนาและเกษตรกรอื่นจะอยู่ยากลำบากมากขึ้นจาก “ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและรายได้ลดลง”

“1 ทศวรรษ” น้ำฝนลดลงมากกว่า 20%

นอกจากนี้ ยังพบว่า ตั้งแต่ปี 2554-2566 ปริมาณน้ำฝนลดลงเฉลี่ยมากกว่า 20% ต่อปี โดยในช่วงปี 2554-2558 ลดลง 27%, ช่วงปี 2559-2562 ลดลง 21.7% และช่วงปี 2563-2566 ลดลง 2.7%, ปี 2566-2567 บริษัท IRC คาดว่าในปี 2567 ปริมาณน้ำฝนลดลง 5-15% (เมื่อเทียบกับปี 2566) โดยแบ่งไว้ 3 กรณี กรณีที่ 1 ปริมาณน้ำฝนต่ำสุดเหลือ 1,412 มิลลิเมตร ลดลง 5% กรณีที่ 2 เหลือ 1,337 มิลลิเมตรลดลง 10% และกรณีที่ 3 เหลือ 1,263 มิลลิเมตรลดลง 15%

ทั้งนี้ จากปริมาณน้ำฝนที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและผลผลิตสินค้าเกษตรทั้งของไทยและอาเซียน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ต้องใช้น้ำเป็นหลัก เช่น ข้าว ยางพารา เป็นต้น

เอลนิโญทำผลผลิตข้าวเปลือกไทยลดลงมากสุดในอาเซียน

ทั้งนี้ ปี 2567 บริษัท IRC ประเมินว่า ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (2538-2565) ในอาเซียนเกิดภาวะ El Nino หนัก 2 ครั้ง คือช่วงปี 2542-2544 และช่วงปี 2556-2559 แต่ละช่วงทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกอาเซียนลดลงอย่างมาก และปี 2567 ผลผลิตข้าวเปลือกไทย “ลดลงมากสุด 3.5 และ 5.1 ล้านตันในปี 2567 และ 2568” ตามลำดับ ตามด้วยผลผลิตข้าวเปลือกของอินโดนีเซีย เวียดนามและเมียนมา

นอกจากนี้ ยังประเมินผลผลิตข้าวเปลือกในอาเซียนในปี 2567 คาดว่าปริมาณข้าวจะลดลง 7 ล้านตัน และในปี 2568 จะลดลง 9.2 ล้านตัน โดยจะพบว่าประเทศไทยจะมีปริมาณข้าวเปลือกลดลงมากกว่า อินโดนีเซีย เวียดนาม และเมียนมาร์ โดยผลกระทบนั้นเกิดจากปัญหาโลกร้อน

“ประเทศไทยผลผลิตข้าวเปลือกถือว่าลดลงสามปีติดต่อกัน นับตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งต่อเนื่องมาจนจนถึงปัจจุบัน”

ข้าว ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน “3 กลุ่มเสี่ยงผลผลิตลดลงมากสุด”

นายอัทธ์กล่าวอีกว่า จากปัญหาเอลนิโญ ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ปริมาณน้ำฝนลดลง มีผลกระทบต่อการเพาะปลูกสินค้าเกษตร และในจำนวน 5 พืชเศรษฐกิจของไทยที่สำคัญ คือ ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน และมันสำปะหลัง

ในปี 2567 ประเมินว่าหาก “อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1% และปริมาณน้ำฝนลดลง 1%” ทำให้ผลผลิตข้าว ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน ลดลงมากสุด โดยปี 2567 คาดว่าผลผลิตข้าวเปลือกลดลง 1.3 ล้านตัน ปาล์มน้ำมัน ลดลง 6 แสนตัน ทุเรียน ลดลง 4.9 แสนตัน มันสำปะหลัง ลดลง 1.5 แสนตัน และยางพารา ลดลง 1.4 แสนตัน

นอกจากนี้ จากปัญหาเอลนิโญยังทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกลดลง 3 ปีติดต่อกัน โดนอัตราการขยายตัวการผลผลิตข้าวเปลือกไทยลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 จาก 10.9% เหลือ -9.2% ในปี 2567

ส่งออกข้าวไทยลด ราคาข้าวแพงสุด สต๊อกข้าวโลกลดลง 4 ปีติด

ปี 2567 เอลนิโญทำให้ปริมาณการผลิตข้าวเปลือกลดลง ส่งผลทำให้ไทยมีข้าวส่งออกลด 7.2 ล้านตัน จากปี 2566 ที่ไทยส่งออกข้าวได้ 8.5 ตัน ขณะที่ อินเดียคาดว่าจะส่งออกได้ 23 ล้านตัน ถือว่าเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งของโลกในปีนี้ ส่วนเวียดนามคาดว่าจะส่งออกได้ 6.7 ล้านตัน

โดยในปี 2567 คาดว่าไทยจะส่งออกข้าวเป็นอันดับสองของโลก ส่วนทิศทางราคาข้าวไทยในตลาดโลก “แพงสุดในโลก” โดยคาดว่าราคาข้าวขาวเฉลี่ยอยู่ที่ 612 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงขึ้น 14.2% เมื่อเทียบปีที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่ 536 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่วนเวียดนามคาดว่าราคาจะอยู่ที่ 553 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงขึ้น 5.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งราคาอยู่ที่ 522 เหรียญสหรัฐต่อตัน

ส่วนอินเดียคาดว่าราคาอยู่ที่ 528 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงขึ้น 22.8% เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา ซึ่งราคาอยู่ที่ 430 เหรียญสหรัฐต่อตัน

และสต๊อกข้าวโลกลดลง 4 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งสต๊อกข้าวโลกลดลง 2.5% และในปี 2566 ลดลง 5.2% และปี 2567 ลดลง 3.4% คาดว่าสต๊อกข้าวลดลง 1% ทำให้ราคาข้าวโลกเพิ่ม 4% และราคาข้าวโลกปี 2567 อยู่ที่ 610-670 เหรียญ/ตัน

ข้าว-ยางพารา รายได้ติดลบ

นอกจากนี้ เมื่อประเมินรายได้ของเกษตรกรจากผลกระทบเอลนิโญ พบว่ารายได้ต่อไร่ของชาวนาและชาวสวนยางพาราติดลบมากสุด คือ -971 บาท/ไร่ และ -3,315 บาท/ไร่ แต่รายได้ของชาวสวนทุเรียน ลดลงมากสุด 21,932 บาท/ไร่ และปาล์มน้ำมัน 3,505 บาท/ไร่

จากผลกระทบรายได้ที่เกิดขึ้นทำให้เกษตรกรเป็นหนี้เพิ่มขึ้น โดยครัวเรือนชาวนามีหนี้เพิ่มมากสุดอยู่ที่ 298,530 บาทต่อครัวเรือน ยางพารา 271,700 บาทต่อครัวเรือน และปาล์มน้ำมัน 263,055 บาทต่อครัวเรือน มันสำปะหลัง 255,750 บาทต่อคนเรือน และทุเรียน 134,520 บาทต่อครัวเรือน

โดยภาพรวมปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เกษตรกรมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นถึง 89,362 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% คิดเป็น 91.3% ของจีดีพี และทำให้หนี้ครัวเรือนเกษตรกรเพิ่มในปี 2567 ถ้าไม่มีเอลนิโญ หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 11.6 ล้านล้านบาท หากมีเอลนิโญ หนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ 11.7 ล้านล้านบาท

แนะรัฐบาล

ทั้งนี้ ปี 2567 เพื่อแก้ปัญหาใหญ่เกษตรกรไทย โดยเฉพาะปัญหาน้ำ ต้องการให้รัฐบาลเร่งบริหารจัดการ และหาแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกร “โดยด่วน” เช่น ระบบ Smart Water โดยใช้เทคโนโลยี่น้ำน้อย ทำให้ดินชุ่มชื่น และโครงการ “1 น้ำ 1 เกษตรกร” เป็นต้น