“อุตตม”เล็งงัดม.32 สกัดจีนตั้งรง.เหล็กไร้มาตรฐาน

เหล็กจีนถล่ม - ปัจจุบันมีผู้ผลิตเหล็กจากจีนหลายรายพยายามนำเครื่องจักรมือสองเข้ามาตั้งโรงงานในไทย ส่งผลกระทบต่อโรงงานผู้ผลิตภายในประเทศ
“อุตตม” เล็งใช้ ม.32 พ.ร.บ.โรงงาน สกัดนักลงทุนจีนลักลอบนำเข้าเครื่องจักรมือสอง ตั้งโรงงานเหล็กในไทย ด้าน 7 สมาคมเผยเหล็กเบายังลอยนวล “สมอ.” ตั้งแผนจับ

 

นายเภา บุญเยี่ยม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เปิดเผยในนาม 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ประกอบด้วย 1.สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย 2.สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นไทย 3.สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น 4.สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า 5.สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน

6.สมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และ 7.สมาคมโลหะไทยว่า ทางสมาคมมีความกังวลถึงกรณีที่โรงงานอุตสาหกรรมเหล็กจากประเทศจีน พยายามเข้ามาจดทะเบียนตั้งโรงงานใหม่ในประเทศไทย โดยนำเข้าเตาหลอมอินดักชั่นราคาถูกจากโรงงานเหล็กที่เลิกกิจการมาผลิตขายในประเทศไทย ซึ่งเตาดังกล่าวจะผลิตได้ทั้งเหล็กเส้น เหล็กลวด เป็นต้น ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่เตาหลอมดังกล่าวจะก่อให้เกิดมลพิษ เนื่องจากไม่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และถ้าทำตลาดแข่งขันกับผู้ผลิตเหล็กภายในประเทศ ดังนั้น ทั้ง 7 สมาคมจึงได้มาขอพบ นายอุตตม สาวนายน พยายามร้องขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาชะลอหรือไม่อนุญาตให้โรงงานที่เข้าข่ายดังกล่าวตั้งโรงงานขึ้นมาใหม่ได้

นอกจากนี้ได้หารือถึงอนาคตของอุตสาหกรรมเหล็กไทยเพื่อให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน มีต้นทุนที่ถูก โดยเฉพาะการมีเหล็กต้นน้ำในระยะยาว ส่วนในระยะสั้นรัฐควรใช้นโยบาย “Made in Thailand” เหมือนกับหลายประเทศที่ใช้กับโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ที่ถูกกำหนดใน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ให้ใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศเท่านั้น

“กฎหมายยังมีช่องโหว่ หากการผลิตสินค้าต่าง ๆ ในประเทศมีปริมาณไม่เพียงพอ หรือไม่ตรงตามที่โครงการกำหนด ให้สามารถนำเข้าได้ ดังนั้น รัฐต้องช่วยว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความต้องการซื้อในประเทศให้ได้หากโรงงานผลิตเหล็กต้นน้ำได้ 1 ล้านตัน แต่ศักยภาพจริงสามารถผลิตได้ถึง5 ล้านตัน ต้องใช้เงินลงทุน 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 156,000 ล้านบาท แต่ตอนนี้จะหาแหล่งเงินทุนจากไหนมาช่วย คือแผนระยะยาวที่อุตสาหกรรมเหล็กไทยจำเป็นต้องมีในอนาคต”

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามมาตรา 32 ภายใต้ พ.ร.บ.โรงงาน (พ.ศ. 2535) ที่กำหนดจำนวนและขนาดของโรงงานแต่ละประเภทหรือชนิดที่จะให้ตั้งหรือขยาย หรือที่จะไม่ให้ตั้งหรือขยายในท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง สามารถใช้อำนาจประกาศเพื่อเหตุผลที่สมควรได้ หากเอกชนสามารถทำได้ภายในกรอบที่รัฐกำหนด เพื่อระงับการออกใบอนุญาต รง.4 สำหรับโรงงานเหล็กใหม่ ในขณะที่ผู้ประกอบการเหล็กต้องพัฒนาตัวเองให้ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะการใช้การวิจัยและพัฒนา

“ตอนนี้ยังไม่ได้ใช้คำสั่งว่า ห้ามให้ตั้ง หรือให้ตั้งได้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการเหล็กทำได้ตามกรอบที่กำหนดไว้ให้หรือไม่ หากทำได้และพบว่าเกิดผลกระทบจริง เราจะพิจารณา”

แหล่งข่าวจากวงการเหล็กกล่าวว่า ขณะนี้พบปัญหาการลักลอบจำหน่ายเหล็กเบากับร้านค้าในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่ไม่มีสัญลักษณ์พิมพ์ลอยนูนตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และพบว่ามีนักลงทุนจีนบางรายเข้ามาใช้วิธีสวมสิทธิ์โรงงานเหล็กในประเทศไทยที่ใช้เตาอินดักชั่นกว่า 10 ราย เพื่อผลิตเหล็กจากเตาที่ไม่มีการพัฒนา รวมถึงสั่งนำเข้าเตาโดยการแจ้งกรมศุลกากรเป็นอุปกรณ์อื่นหรือชิ้นส่วนเพื่อมาประกอบภายหลัง

“เตาจะมีขนาดกำลังการผลิตประมาณ 40-50 ตัน หรืออาจสูงกว่า แน่นอนว่าจะผลิตเหล็กที่ด้อยคุณภาพออกมา แล้วมาดัมพ์ราคาขาย ภายในประเทศ และส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม กว่าเจ้าหน้าที่จะตราวจพบก็ต่อเมื่อลงไปตรวจพื้นที่ ซึ่งตามปกติ 2 ปีต่อครั้งต่อโรงงาน ซึ่งระหว่างนั้นทำให้สินค้าที่ไม่ได้คุณภาพออกมาวางขายในท้องตลาดจำนวนมากแล้ว”

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มีแผนตรวจโรงงานเหล็กทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยจำนวนที่มีหลายพันโรงงานทำให้มีความล่าช้า ขณะเดียวกันกรณีที่พบการผลิตเหล็กเบาคุณภาพต่ำ สมอ.ได้ติดตามจับไปถึงตัวโรงงานผู้ผลิต แต่ยอมรับว่ามีความลำบาก เพราะโรงงานผลิตเหล็กมักลักลอบผลิตในช่วงกลางคืน ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปจับกุมได้ ต้องขออำนาจตำรวจในพื้นที่จึงทำงานลำบาก และเมื่อผลิตเสร็จจะกระจายไปเก็บในโกดังแต่ละจังหวัด กว่าจะรู้พิกัดพื้นที่สินค้าก็ถูกกระจายขายไปหมดแล้ว ซึ่ง สมอ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ในแต่ละเดือนจึงมีการทบทวนเพื่อวางแผนการลงตรวจพื้นที่ทั้งโรงงานผลิต โกดังร้านค้ามากขึ้น

 

ผู้นำเข้าค้าน กม.ใหม่ “ดุลพินิจ” ล้นฟ้า-ส่อขัด รธน.

ผ่านมาเกือบ 1 เดือน 5 สมาคมเหล็ก ประกอบด้วยสมาคมเหล็กลวด สมาคมผู้ผลิตเหล็กลวดแรงดึงสูง สมาคมการค้าผู้ผลิตหลังคาเหล็กไทย สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตไทย และสมาคมโลหะไทย รวมตัวกันยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน (กมธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อคัดค้านและเสนอผลกระทบจากร่าง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ (ฉบับ…) พ.ศ. …(พ.ร.บ.เอดี)

ล่าสุดในวันที่ 4 เม.ย.นี้ ทาง กมธ.เชิญตัวแทนทั้ง 5 สมาคมเข้าชี้แจงข้อมูล โดยสาระสำคัญในจดหมายเปิดผนึก คือ 1) กฎหมายให้อำนาจ “พนักงานเจ้าหน้าที่” ใช้ “ดุลพินิจ” ในหลายประเด็นอย่างไม่มีเหตุสมควร อาจนำไปสู่การขาดมาตรฐานในการพิจารณา ความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจ และที่สำคัญอาจจะเป็นช่องทางในการทุจริต

2) ร่าง พ.ร.บ.เอดีมุ่งผลเพียงบังคับใช้มาตรการเอดีให้มีประสิทธิภาพ จึงวางหลักการ AC โดยไม่พิจารณาถึงผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและการพาณิชย์ มุ่ง “ปกป้องอุตสาหกรรมภายใน” โดยเรียกเก็บอากรสูง เพื่อให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าจากอุตสาหกรรมภายในแทน ทั้งที่ไม่สามารถผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการ เอสเอ็มอีต้องใช้เหล็กนำเข้า ทำให้มีต้นทุนเพิ่ม ส่งผล

ให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ และผู้ประกอบการไม่สามารถส่งออกไปแข่งขันได้ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมภายในที่ได้รับการปกป้องเป็นกลุ่มทุนใหญ่ หรือกลุ่มทุนจากต่างชาติ ผลกำไรที่ได้ไหลออกไปต่างประเทศ ขณะที่เอสเอ็มอีผู้เสียภาษี และจ้างงานภายในประเทศได้รับผลกระทบ

3) กฎหมายอำนวยความสะดวกให้กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ปฏิบัติงานเป็นสำคัญ แต่ไม่ได้เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมเศรษฐกิจและการพาณิชย์ ซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่เหมาะสมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 77 กำหนด

4) ในขั้นตอนการขออนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ต่อ ครม. กระทรวงพาณิชย์รายงานข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ว่ากฎหมายฉบับนี้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการพิจารณา การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (คณะกรรมการ ทตอ.) ไม่ชัดเจน หากไม่แก้ไขจะทำให้ดำเนินงานไม่ได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจากบทบัญญัติเดิมได้กำหนดระยะเวลาการพ้นวาระ องค์ประกอบ คณะกรรมการ และการดำเนินงานแต่งตั้งไว้ชัดเจนแล้ว ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การปฏิบัติงานของกรม สามารถแก้ไขโดยปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงาน ไม่ใช่แก้กฎหมาย